WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ก.เกษตรฯ แถลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งปีและแนวโน้ม มั่นใจภาคเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง แม้เผชิญภัยแล้ง

    ก. เกษตรฯ แจงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งปี ระบุขยายตัวร้อยละ 0.8 คาดแนวโน้มปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.1 - 3.1 โดยผลผลิตกุ้งจะทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงปลายปี เนื่องจาก คสช. อนุมัติเงินกว่า 90 ล้านบาท จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาการระบาดโรคตายด่วนทั้งระบบอย่างเร่งด่วน มั่นใจเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น เตือนช่วงครึ่งหลังของปี บางพื้นที่ยังเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

   นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ประมาณการอัตราการเติบโตภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.8 โดย สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ และสาขาบริการทางการเกษตร มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาประมง และป่าไม้ หดตัวลง สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของภาคเกษตรมาจากการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตร ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงมาตรฐานการผลิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญหลายชนิดก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง สภาพอากาศที่ร้อนจัด และภาวะฝนทิ้งช่วง ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรทั้งในด้านการเพาะปลูกพืช การเลี้ยง ปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลยังคงประสบปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) รวมถึงสภาพอากาศที่มีความแปรปรวน ทำให้ผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดลดลง

   สำหรับ แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.1 - 3.1 โดยสาขาการผลิตที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ1.5 – 2.5 สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.8 และสาขาป่าไม้ ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5 ส่วนสาขาการผลิตที่หดตัวลง คือ สาขาประมง อยู่ในช่วงร้อยละ (-0.5) – 0.5 และคาดว่าผลผลิตพืชที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ มีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยราคาพืชที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ที่สำคัญ เช่น ลำไย และมังคุด

   ด้านผลผลิตปศุสัตว์ส่วนใหญ่ เช่น ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ด้านราคาสินค้าปศุสัตว์โดยรวมในปี 2557 คาดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอาจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น รวมถึงความต้องการสินค้าปศุสัตว์ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตประมง โดยเฉพาะกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ฟื้นตัวจากปัญหาโรคตายด่วนได้ค่อนข้างช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เกษตรกรยังไม่มั่นใจและทำการผลิตไม่เต็มที่ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งของไทยทั้งระบบ แม้ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กรมประมงได้ติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงระดับหนึ่ง

    อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลผลิตกุ้งจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงปลายปี 2557 เนื่องจาก คสช. ได้อนุมัติเงินจำนวนกว่า 90 ล้านบาท ให้กรมประมงจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคตายด่วนทั้งระบบอย่างเร่งด่วน โดยการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์และผลิตลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพเพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพระบบคัดกรอง ป้องกัน และเฝ้าระวังโรค รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 1 เพื่อฟื้นฟูแหล่งผลิตกุ้งทะเล ด้านราคากุ้ง คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2556 เนื่องจากผลผลิตกุ้งที่ออกสู่ตลาดยังคงน้อยกว่าระดับปกติ สำหรับผลผลิตจากการทำประมงทะเลอื่นๆ มีแนวโน้มลดลง ส่วนผลผลิตประมงน้ำจืดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสภาพอากาศในแหล่งผลิตที่สำคัญเอื้ออำนวย นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 การผลิตทางการเกษตรในบางพื้นที่ของประเทศยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!