- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 31 July 2014 22:31
- Hits: 3011
สศก.คาด GDP เกษตรปีนี้ขยายตัว 2.1-3.1% จับตาภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วงใน H2/57
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 57 ว่า คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.1 - 3.1 โดยสาขาการผลิตที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.8 และสาขาป่าไม้ ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5 ส่วนสาขาการผลิตที่หดตัวลง คือ สาขาประมง อยู่ในช่วงร้อยละ (-0.5) – 0.5 และคาดว่าผลผลิตพืชที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ มีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยราคาพืชที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ที่สำคัญ เช่น ลำไย และมังคุด
ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตกุ้งจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงปลายปี 2557 เนื่องจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติเงินจำนวนกว่า 90 ล้านบาท ให้กรมประมงจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคตายด่วนทั้งระบบอย่างเร่งด่วน โดยการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์และผลิตลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพเพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพระบบคัดกรอง ป้องกัน และเฝ้าระวังโรค รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 1 เพื่อฟื้นฟูแหล่งผลิตกุ้งทะเล ด้านราคากุ้ง คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2556 เนื่องจากผลผลิตกุ้งที่ออกสู่ตลาดยังคงน้อยกว่าระดับปกติ สำหรับผลผลิตจากการทำประมงทะเลอื่นๆ มีแนวโน้มลดลง ส่วนผลผลิตประมงน้ำจืดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสภาพอากาศในแหล่งผลิตที่สำคัญเอื้ออำนวย นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 การผลิตทางการเกษตรในบางพื้นที่ของประเทศยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
ด้านนายอนันต์ ลิลา เลขาธิการ สศก. กล่าวถึงอัตราการเติบโตภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ว่า ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.8 โดย สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ และสาขาบริการทางการเกษตร มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาประมง และป่าไม้ หดตัวลง
สำหรับ ปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของภาคเกษตรมาจากการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตร ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงมาตรฐานการผลิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญหลายชนิดก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง สภาพอากาศที่ร้อนจัด และภาวะฝนทิ้งช่วง ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรทั้งในด้านการเพาะปลูกพืช การเลี้ยง ปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลยังคงประสบปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) รวมถึงสภาพอากาศที่มีความแปรปรวน ทำให้ผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดลดลง
อินโฟเควสท์