- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 15 October 2016 22:29
- Hits: 5884
ส.ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เผยวัตถุดิบขาดแคลนต้องนำเข้า วอนทุกฝ่ายเร่งผลักดันมาตรฐาน GAP เพื่อเพิ่มผลผลิต
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เรียกร้องภาครัฐและเอกชนร่วมมือแบบประชารัฐผลักดันมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) ให้ประเทศไทยมีการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมในทุกๆพืชเกษตรของไทย โดยเฉพาะในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ได้ 1-2 ล้านไร่ภายใน 5 ปี (2560-2564) เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้และยังเป็นการสร้างความยั่งยืนให้เกษตรกรเนื่องจากพืชที่มีมาตรฐาน GAP นอกจากจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นแล้วยังจะทำให้สินค้าได้มาตรฐานที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็สามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
"เรื่อง GAP ถ้าเกษตรกรทำต้นทุนจะลด ผลผลิตเพิ่มขึ้น รายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้น แล้วยังจะได้มาตรฐานทั้งอยู่ในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีใบรับรอง สมาคมฯกำลังไปคุยกับ มกอช.ว่าจะทำให้สำเร็จ 2 ล้านไร่ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันพื้นที่ข้าวโพด GAP มีอยู่ 15,000 ไร่ ซึ่งพบว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นจาก 3 ปีก่อนที่มีการสำรวจ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 660 กก./ไร่ แต่หากทำเป็นมาตรฐาน GAP ปริมาณผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มเป็น 1,200-1,300 กก./ไร่ โดยตอนนี้เรากำลังทำเรื่องว่าจะให้มีการรับรองได้ยังไง อาจจะให้ภาคเอกชนมาเซ็นหนังสือรับรองมาตรฐาน องค์กรรัฐที่เกี่ยวข้องมี ส.ป.ก. กรมวิชาการเกษตร อยากเรียกร้องให้รัฐช่วยบังคับฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ทำด้วย แต่ในเมื่อรัฐไม่พร้อมบังคับเอกชนก็จะเข้าเสริมมากขึ้น ซึ่งในการประชุมเรื่องนี้กับ มกอช.เมื่อเดือนก.ค.ทางตัวแทนสภาเกษตรกรก็อยู่ด้วย แต่ทำไมไม่ร่วมมือกับผมทำโครงการดีๆแบบนี้ แต่มาเรียกร้องอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้"
นายพรศิลป์ กล่าวต่อว่า ความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์เติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2% โดยปี 2559 ความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์อยู่ที่ 18.63 ล้านตัน แบ่งเป็นความต้องการอาหารสัตว์สำหรับไก่เนื้อ 39% หรือประมาณ 7.06 ล้านตัน, อาหารสุกร 32% หรือ 6.22 ล้านตัน, อาหารไก่ไข่ 18% หรือ 3.26 ล้านตัน ที่เหลือคืออาหารเป็ด 3% อาหารโค 3% อาหารปลา 3% และอาหารกุ้ง 2%
ขณะที่ความต้องการใช้อาหารสัตว์ใน 18.63 ล้านตันยังแบ่งเป็นความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 7.8 ล้านตัน แต่ผลผลิตข้าวโพดภายในประเทศมีไม่ถึง 5 ล้านตันทำให้ผู้ผลิตต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าข้าวสาลีมาใช้ทดแทน โดยคาดว่าปี 59 จะต้องนำเข้าข้าวสาลีประมาณ 3 ล้านตันแต่จะไม่เกินจากปี 58 ที่นำเข้าข้าวสาลี 3.47 ล้านตัน โดยเป็นการนำเข้าจากยูเคน รัสเซีย และประเทศแถบอเมริกาใต้
ส่วนการนำเข้าข้าวโพดนั้นสามารถทำได้แต่ก็นำเข้าได้ไม่เกิน 5.4 หมื่นตันต่อปี และยังต้องเสียภาษีนำเข้า 20% ต่อปี ส่วนปี 60 คาดว่าความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์จะเติบโต 4-7%
สำหรับ ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ตกต่ำมาจากสถานการณ์โลกไม่ได้เกิดจากการนำเข้า เพราะที่ผ่านมาทางสมาคมได้ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลเกษตรกรมาโดยตลอด ด้วยการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาก (ต.ค.-พ.ย.) ในราคาเฉลี่ย 8-9 บาท/กก. ณ ราคาหน้าโรงงานในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และในบางช่วงก็รับซื้อในราคาสูงกว่านั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำรงอาชีพอยู่ได้ ขณะที่ราคาหน้าโรงงานในเขตต่างจังหวัดก็จะอยู่ที่ประมาณ 6-7 บาทกว่า/กก.
"มีบางปี เช่น ปี 55 ที่เราเคยรับซื้อในราคาสูงถึง 10.51 บาท/กก. เนื่องจากปี 54 มีภัยน้ำท่วมใหญ่ พอมาปี 55 มีภัยแล้งอีก แต่พอมาปี 56 เรารับซื้อในราคา 9.32 บาท/กก. ปี 57 รับซื้อที่ราคา 9.10 บาท/กก. ปี 58 รับซื้อที่ราคา 9.45 บาท/กก. และม.ค.-ส.ค. 59 รับซื้อในราคา 9 บาท/กก. จะเห็นได้ว่าราคาที่เรารับซื้อจากเกษตรกรจะสูงกว่าฐานราคาของกระทรวงพาณิชย์ที่ 8 บาท/กก.และสูงกว่าราคาตลาดชิคาโกประมาณ 4-5 บาท/กก."
ขณะที่ราคามันเส้นเฉลี่ยหน้าโรงงานปัจจุบันอยู่ที่ 6.29 บาท/กก.ลดลงจาก 7.08 บาท/กก.ในปี 58, ราคารำข้าวเฉลี่ยหน้าโรงงานปัจจุบันอยู่ที่ 9.52 บาท/กก.ลดลงจาก 10.04 บาท/กก.ในปี 58 ส่วนราคาปลายข้าวเฉลี่ยหน้าโรงงานปัจจุบันอยู่ที่ 11.14 บาท/กก.สูงขึ้นจาก 10.13 บาท/กก.ในปี 58
แต่ประเด็นคือปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในขณะนี้ มีสาเหตุมาจากหลายประการ ประการแรกพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมดในประเทศมี 7.8 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาอยู่ในเขตป่า 3.7 ล้านไร่ และในอนาคตพื้นที่เหล่านี้คงทำต่อไม่ได้ เพราะต้องลดจำนวนข่าวโพดที่อยู่บนป่าลง เพราะตลาดโลกก็มองเราอยู่ เราไม่อยากให้เกิดขึ้นเหมือนกรณีปลาป่น เพราะฉะนั้นในระยะยาวข้าวโพดจะหายไปอีก
มันสำปะหลังเส้น เดือนส.ค.ปีนี้ประมาณ 4 แสนกว่าตัน เราส่งออกเกือบทั้งหมด รวม 8 เดือนเราส่งออก 4 ล้านกว่าตัน แต่เราจำเป็นต้องใช้ก็ต้องนำเข้า แต่ก็มีข้อจำกัดอีกว่าคุณภาพส่วนผสมวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีสูตรในการผลิตตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์จะใช้มากกว่านี้ก็ไม่ได้
"เวลาที่ราคามันเส้นตกคนเดือดร้อนควรเป็นเกษตรกร แต่คนที่มาเรียกร้องเรื่องราคากลับเป็นพ่อค้า ซึ่งพ่อค้ารับซื้อมันเส้นจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 1 บาท แต่มาขายให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์อยู่ที่กิโลกรัม 6 บาทกว่าๆ ได้กำไร 4-5 บาท/กก.แล้วยังจะเรียกร้องเรื่องราคา เพราะฉะนั้นถ้ารัฐจะหาสาเหตุเรื่องราคามันเส้นตกก็ควรไปตรวจสอบว่าตัวการที่ทำให้ราคาตกคือใคร"
วิธีที่ 2 ที่ทำได้ คือ นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านตามข้อตกลง AEC แต่ก็ไปกั้นไว้ เราโดนลาวกับกัมพูชาต่อว่ามาตลอด เพราะฉะนั้นในที่ประชุมระหว่างเอกชนกับกระทรวงพาณิชย์หารือกันแล้วว่าถ้ามีพันธะสัญญาว่าจะเปิดก็ต้องเปิดแต่ต้องหามาตรการว่าเอาเข้ามาแล้วทำอย่างไรไม่ให้กระทบราคาของเกษตรกรเรา ซึ่งตอนนี้ยังหาสูตรไม่ได้ 100%
"ผมเชื่อว่า ถ้าทำได้เราจะแก้ได้คือ 1.แก้ปัญหาการเมืองหายไป 2.เราได้ข้าวโพดจากเพื่อนบ้านเพื่อมาลดต้นทุนเราด้วย แต่ก็ต้องเป็นข้าวโพด GAP ด้วย ไม่ใช่เอาข้าวโพดขยะมาใช้ แล้วยังแก้ปัญหาเรื่องราคาที่ออกมาเรียกร้องกันแบบไม่มีเหตุผล"
อินโฟเควสท์