- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 29 August 2016 21:56
- Hits: 6142
เกษตรฯต่อยอดร้านปัจจัยการผลิตประชารัฐฯสู่ Q Shop 7,000 แห่ง
ไทยโพสต์ : กรมวิชาการเกษตรยกระดับร้านปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ ต่อยอดสู้ร้าน Q Shop เป้าหมาย 7,000 แห่งครอบคลุมทุกพื้นที่ ช่วยเกษตรเข้าถึงปุ๋ยสารเคมีเกษตร เมล็ดพันธุ์พืชคุณภาพได้มาตรฐาน ไม่ให้ถูกพ่อค้าเอาเปรียบ
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 เร่งส่งเสริมและพัฒนายกระดับร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐจำนวน 16,809 แห่ง ให้เป็นร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพหรือร้านคิวช็อป (Q Shop) โดยเบื้องต้นมีเป้าหมายรวมกว่า 7,000 ร้านค้า จากเดิมที่มี จำนวน 2,853 ร้านค้า เพื่อให้มีร้าน Q Shop ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทั้งปุ๋ย สารเคมีการเกษตร และเมล็ดพับธุ์พืชพร้อมเพิ่มความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่ซื้อปัจจัยการผลิตจากร้าน Q Shop ไปใช้แล้วได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าและลดปัญหาการถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าด้วย
ขณะนี้ กรมวิชาการเกษตรได้เร่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโครงการร้าน Q Shop ให้กับผู้ประกอบการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐทราบ โดยนำตัวอย่างใบอนุญาตขายปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตรและเมล็ดพันธุ์พืชควบคุมไปแสดงให้เห็นพร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาร้านค้าเข้าสู่ Q Shop ขณะเดียวกันยังกำชับให้สารวัตรเกษตรติดตามตรวจสอบ และเฝ้าระวังคุณภาพและมาตรฐานของปัจจัยการปัจจัยการผลิตในร้านประชารัฐอย่างเข้มข้น ทั้งยังตรวจประเมินร้านค้าตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการร้าน Q Shop เพื่อผลักดันเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น
"ปัจจุบันมีร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร จำนวน 37,734 ร้านค้าทั่วประเทศ แต่มีร้านกลุ่มหนึ่งที่ผลักดันเข้าร่วมโครงการร้าน Q Shop ไม่ได้ คือ ร้านค้ารายย่อยในหมู่บ้านต่างๆ ที่มีการจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเฉพาะช่วงฤดูเพาะปลูกร้านค้าของสหกรณ์การเกษตรบางแห่งที่ไม่ดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง และมีร้านขายของชำหลายร้านที่แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาขายปุ๋ย สารเคมีเกษตร และเมล็ดพันธุ์พืชด้วย ทำให้ไม่ผ่านการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แต่ทุกร้านค้าจะต้องมายื่นขอใบอนุญาตขายปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์พืชควบคุมกับกรมวิชาการเกษตรให้ถูกต้องตามกฎหมาย" นายสมชายกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรที่ใช้สมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น 'DOA Agri Factor' ของกรมวิชาการเกษตรมาใช้ตรวจสอบความถูกต้องของปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่จะซื้อไปใช้ได้ ทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์พืช โดยแอพพลิเคชั่นนี้ ช่วยให้เกษตรกรสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น "DOA Agri Factor" ของกรมวิชาการเกษตรมาใช้ตรวจสอบความถูกต้องของปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่จะซื้อไปใช้ได้ ทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์พืช โดยแอพพลิเคชั่นนี้ ช่วยให้เกษตรกรสามารถตรวจเช็คข้อมูลได้ด้วยตัวเองก่อนที่จะซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรไปใช้ เพียงกรอกเลขที่เบียนและปี พ.ศ. ที่ปรากฎบนบรรจุภัณฑ์ ก็จะทราบผลทันทีว่า ปัจจัยการผลิตที่จะซื้อไปใช้ขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่ เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยเหลือเกษตรกรไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากร้านค้าหลอกขายสินค้าปลอมหรือที่ไม่ได้มาตรฐาน.