- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 22 July 2014 18:14
- Hits: 3135
สศก.เผยผลผลิต-ราคาโครงการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาระยะ 2 ปี 56/57สูง
นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ สศก. ได้ติดตามและประเมินผลโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ ระยะที่ 2 ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2552 และสิ้นสุดเมื่อปี 2556 พบว่า ได้ดำเนินการในลักษณะบูรณาการโครงการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานได้มีกิจกรรมต่างๆ ตามแผนปฏิบัติงานประจำปี ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยก่อสร้างสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำ ก่อสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ปรับปรุงพื้นที่นา (Land Remodeling) ให้เหมาะสมในการปลูกข้าว ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับการปรับปรุงบำรุงดิน เป็นต้น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เช่น ส่งเสริมการใช้พันธุ์ข้าวคุณภาพดี การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การจัดตั้งกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดี รวมทั้งการจัดการธุรกิจการตลาดของสถาบันเกษตรกร เช่น พัฒนาการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ เพื่อรวบรวมผลผลิตแปรรูป และจำหน่ายผลผลิต รวมทั้งให้ความรู้ด้านการจัดการธุรกิจข้าวแก่เกษตรกร การพัฒนาตราสินค้า ประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นที่รู้จัก เป็นต้น
ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวเสริมว่า ผลผลิตข้าวหอมมะลิ ปีการผลิต 2556/57 เฉลี่ยอยู่ต่อไร่ 453 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยก่อนมีโครงการ และช่วงระหว่างมีโครงการ ปีการผลิต 2551/52 และ 2553/54 ประมาณ 127 และ 67 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่คุณภาพข้าวหอมมะลิของเกษตรกรทั้งด้านความหอม เปอร์เซ็นต์ต้นข้าว (ปริมาณเมล็ดข้าวที่หักน้อยลง) สิ่งเจือปนน้อยลง และการใช้พันธุ์ผ่านการรับรอง พบว่า เกษตรกร ร้อยละ 56 ผลิตข้าวได้คุณภาพคงเดิม และร้อยละ 33 ผลิตข้าวได้คุณภาพดีขึ้นมากกว่าเดิม ส่วนร้อยละ 11 ที่ผลิตข้าวได้คุณภาพลดลง
นอกจากนี้ พบว่า เกษตรกรในโครงการ ขายข้าวหอมมะลิได้ในราคาเฉลี่ย 16.61 บาท/กิโลกรัม หรือ 16,610 บาท/ตัน เนื่องจากบางรายขายข้าวสดทำให้มีความชื้นสูง และเกษตรกรในพื้นที่โครงการมีการออมเงิน คิดเป็นร้อยละ 60 เฉลี่ยปีละ 30,356.22 บาทต่อปี ส่วนร้อยละ 40 ยังไม่มีเงินออม เนื่องจากต้องกู้เงินมาลงทุน เงินที่ได้ต้องนำมาหมุนเวียนใช้จ่ายตลอดปี อย่างไรก็ตาม พบว่า บางรายมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย มีหนี้สิน บางรายนำมาใช้จ่ายเป็นกรณีเฉพาะ เช่น ซ่อมบ้าน เป็นต้น
สำหรับด้านการตลาดสหกรณ์ที่มีธุรกิจข้าวขนาดใหญ่ เช่น สหกรณ์การเกษตรสุวรรณภูมิ จำกัด สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด มีคู่ค้า/แหล่งจำหน่ายกว่า 50 ราย และเมื่อเปรียบเทียบคู่ค้าของสหกรณ์ทั้งหมดก่อนมีโครงการ พบว่า สหกรณ์ร้อยละ 66 ที่มีคู่ค้าเพิ่มขึ้น ส่วนร้อยละ 25 มีคู่ค้าคงเดิม และร้อยละ 13 ที่มีคู่ค้าลดลง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าข้าว/โรงสี ผู้แทนสหกรณ์ที่ร่วมโครงการ และเจ้าหน้าที่หน่วยงาน ส่วนใหญ่เห็นว่า ข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้มีการส่งออกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ยังต้องการให้ภาครัฐจัดอบรมความรู้อย่างต่อเนื่อง สร้าง ปรับปรุง และพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มขึ้น ส่งเสริม สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ดี พันธุ์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 พัฒนาดิน ปรับปรุงที่ดิน ปรับปรุงถนน ทางลำเลียง จากถนนดินเป็นถนนลูกรัง ส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต ควบคุมราคาปัจจัยต่างๆ ไม่ให้สูงเกินไป จัดตั้งสหกรณ์ในหมู่บ้านเป็นแหล่งจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยา หาวิธีการป้องกันการปลอมป่นข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งกุลากับข้าวที่มาจากพื้นที่อื่น เพื่อการส่งเสริมให้ข้าวหอมมะลิ 105 เป็นข้าวที่เหมาะสมในพื้นที่เฉพาะ (GI : สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) และมีชื่อเสียงแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
โครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ ระยะที่ 2 มี 7 หน่วยงานเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
อินโฟเควสท์