- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 03 July 2016 10:58
- Hits: 2211
กรมส่งเสริมการเกษตร’ จับมือ ‘สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์’หนุนองค์ความรู้พัฒนาตลาดจัด'มหกรรมตลาดเกษตรกร' โชว์ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเกรดพรีเมี่ยมจาก 26 จังหวัดทั่วไทย
กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) จัดนิทรรศการวิวัฒนาการตลาดเกษตรกรและจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าเกษตรกรในชื่อ 'มหกรรมตลาดเกษตรกร' ภายใต้แนวคิด'ตลาดเกษตรกรนวัตกรรมตลาดเพื่อผู้บริโภค' ติดอาวุธทางปัญญาเสริมองค์ความรู้ด้าน 'การจัดการ'และ'การตลาด' ยกระดับมาตรฐานการผลิตและการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรไทยสู่สากลอย่างยั่งยืน และเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรในการเข้าถึงตลาดคัดเลือกสุดยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรเกรดพรีเมี่ยมจาก 'ตลาดเกษตรกร'ทั่วประเทศจำหน่ายจากมือเกษตรกรถึงผู้บริโภคโดยตรงระหว่างวันที่ 30 มิถุนายนถึง 2 กรกฎาคม 2559 ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ถนนแจ้งวัฒนะ
กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์(พีไอเอ็ม) จัดงาน 'มหกรรมตลาดเกษตรกร Farmer Market'คัดเลือกสุดยอดผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรเกรดพรีเมียมจาก'ตลาดเกษตรกร' 26 จังหวัดทั่วประเทศมาเปิดตัวพร้อมจัดจำหน่าย เปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ผลิตได้พบกับผู้จัดจำหน่ายและผู้บริโภคโดยตรง เพื่อเป็นช่องทางในการยกระดับการผลิตและการจัดจำหน่ายให้มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อขยายไปสู่ตลาด Modern Trade และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรของไทย
นายโอฬารพิทักษ์อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่ากรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะจัดแสดงนิทรรศการวิวัฒนาการตลาดเกษตรกรและจำหน่ายสินค้าเกษตรภายใต้ชื่อ“มหกรรมตลาดเกษตรกร”เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีช่องทางการตลาดหรือมีสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตร โดยได้ร่วมมือกับคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ในการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรนำสินค้าเกษตรเกรดพรีเมี่ยมของเกษตรกรจากโครงการตลาดเกษตรกร(Farmers Market)ใน 26 จังหวัดทั่วประเทศที่เกิดขึ้นจากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อปี 2557 มาจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคโดยตรงถือเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้ฝึกเป็นผู้ประกอบการด้านการตลาดซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
“การพัฒนาตลาดเกษตรเพื่อให้มีความสามารถด้านการตลาดนำการผลิตนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะหน่วยงานด้านการศึกษาอย่างสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ที่มอบหมายให้ทางคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรเข้ามาช่วยนำนวัตกรรมด้านการตลาดเข้ามาใช้ โดยการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ได้นำไปปฏิบัติและถ่ายทอดให้กับเกษตรกรจนประสบผลสำเร็จ ซึ่งจะเห็นได้จากการพัฒนาตลาดเกษตรให้เป็นตลาดจำหน่ายสินค้าระดับพรีเมี่ยมที่ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตอย่างปลอดภัยมีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งการจัดมหกรรมตลาดเกษตรในครั้งนี้เป็นการจัดงานครั้งแรกเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้นำสินค้าเข้ามาจัดจำหน่าย เป็นช่องทางการพัฒนาสินค้าของเกษตรกรไปสู่ตลาดที่สูงขึ้นหรือโมเดิร์นเทรด ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรสามารถยกระดับและพัฒนาตนเองให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว
ดร.มนตรีคงตระกูลเทียนคณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เปิดเผยว่าคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร ยกระดับมาตรฐานผลผลิตและผลิตภัณฑ์เกษตรของเกษตรกรให้มีคุณภาพมาตรฐานเกรดพรีเมี่ยม โดยการถ่ายทอดนวัตกรรมด้านการจัดการและองค์ความรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดูแลโครงการตลาดเกษตรกร หรือ Farmer Market ให้มีความรู้และความเข้าใจในด้านการตลาดผ่าน 3 หลักสูตรหลักคือหลักสูตรผู้จัดการตลาด, หลักสูตรผู้จัดการตลาดมืออาชีพและหลักสูตรการถ่ายทอดความรู้หลักการตลาดทั่วไปเพื่อที่จะได้ร่วมกับเกษตรกรซึ่งเป็นเจ้าของตลาดเกษตรในการปรับเปลี่ยนพัฒนาตนเองด้วยการยกระดับการผลิตและการจัดจำหน่ายให้มีคุณภาพมาตรฐาน และสามารถสร้างความเชื่อมั่นจนเป็นยอมรับของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ทางคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ยังนำความเชี่ยวชาญจากนวัตกรรมกระบวนการศึกษาที่พัฒนาและนำไปปฏิบัติจริงได้ของสถาบันฯใน 4 ส่วนได้แก่ การสอนโดยมืออาชีพ (Work-based Teaching) การเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติงานจริง (Work-based Learning)การศึกษางานวิจัยจากปัญหาวิจัยจริง (Work-based Researching) และความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างเครือข่าย (Networking University) เข้ามาประยุกต์ใช้เพิ่มเติมในส่วนของการฝึกอบรมในเรื่องของการสร้างเครือข่ายและการทำกิจการเพื่อสังคมสำหรับตลาดเกษตรกร เพื่อยกระดับสินค้าและตัวของตลาดเกษตรกรให้สูงขึ้นในลักษณะของการขายสินค้าเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรดการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ค รวมถึงการสร้างเครือข่ายในการจำหน่ายสินค้าระหว่างเกษตรกรกับเกษตรกรด้วยกันเอง
คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรพีไอเอ็มกล่าวต่อไปว่า “ผลจากการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่เพื่อนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ สู่เกษตรกรนั้นทำให้ตลาดเกษตรกรทั้ง 26 จังหวัดที่อยู่ภายใต้โครงการตลาดเกษตรกรจากการดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคว่าเป็นตลาดสินค้าเกษตรกรระดับเกรดพรีเมี่ยมของจังหวัด และได้รับการยอมรับจากห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ในพื้นที่ให้ยกตลาดเกษตรกรไปออกร้านจำหน่ายสินค้าภายในห้าง และสิ่งที่สำคัญคือได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรกร ที่นอกจากต้องผลิตสินค้าให้มีคุณภาพแล้วยังต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์รูปลักษณ์ของสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค”
ภายใต้การยกระดับการผลิตและการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรจากโครงการ “ตลาดเกษตรกร” จำนวน 26 จังหวัดภายใต้การดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตรโดยการสนับสนุนด้านวิชาการจากคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มีเกษตรกรเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าเป็นจำนวนทั้งสิ้น 962 ร้านมียอดจำหน่ายสะสมตั้งแต่เปิดตลาดเมื่อเดินกุมภาพันธ์ 2557 จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนเงินมากกว่า 143,000,000 บาท สามารถสร้างงานสร้างอาชีพทางการเกษตรที่มีความมั่นคงให้กับเครือข่ายเกษตรกรจำนวนมากในพื้นที่
สำหรับการจัดงาน “มหกรรมตลาดเกษตรกร” จัดขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้แนวคิด “ตลาดเกษตรกรนวัตกรรมตลาดเพื่อผู้บริโภค” โดยคัดเลือกสุดยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรระดับพรีเมี่ยม(Premium)จากโครงการ“ตลาดเกษตรกร” 26 จังหวัดทั่วประเทศมาจำหน่ายภายในงานอาทิข้าวอินทรีย์และผักปลอดภัยจากสารพิษ, มะละกอเรดเลดี้, มะพร้าวถอดเสื้อ, ไข่ไก่อารมณ์ดี, ปลาตะเพียนก้างนิ่ม, สัปปะรดห้วยมุ่น-บ้านคา, ผลไม้สดและผลไม้พื้นบ้านตามฤดูกาลฯลฯ พร้อมด้วยสินค้าแปรรูปจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคุณภาพมาตรฐานอีกมากมาย พร้อมเปิดจำหน่าย'ทุเรียนของดี 4 ภาค'พบกับทุเรียนหลงลับแล, หลินลับแล, ชะนี,หมอนทองและทุเรียนพื้นบ้านภาคใต้
นอกจากนี้ภายในงานยังได้เปิดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ตลาดเกษตรกรนวัตกรรมตลาดเพื่อผู้บริโภค” เพื่อให้ความรู้ด้านการตลาดนำการผลิตให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจภายในงาน และยังมีการจัดแสดงสินค้าในแนวนวัตกรรมทางการเกษตรของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และการสาธิตการผลิตสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ อีกด้วย
นางสาวกานต์สินีจิตพนมกาญจน์เกษตรกรจากอำเภอจอมบึงที่นำสลัดผักเพื่อสุขภาพแบรนด์ "ปากานต์" มาจำหน่ายเล่าให้ฟังว่าเดิมก็ทำเหมือนกับที่ขายในตลาดนัดแต่พอได้รับคำแนะนำทำให้รู้จักการคัดเลือกผักต่างๆที่จะนำมาใช้ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากขึ้น
"วัตถุดิบต่างๆก็ได้มาจากเกษตรกรเครือข่ายที่ปลูกส่งผักให้กับทางกลุ่มมากกว่า 20 คน น้ำสลัดก็ปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นเป็นน้ำสลัดที่ไม่ใส่ไข่ไม่ใส่นม แต่ใช้นำเต้าหู้และข้าวไรซ์เบอร์รี่แทนมังสวิรัติเจหรืออาหารสุขภาพก็สามารถรับประทานได้บรรจุภัณฑ์ก็เปลี่ยนใหม่ให้ดูสวยงามมีป้ายแนะนำสินค้าวันนี้ผักโตไม่ทันจึงเอามาขายได้เพียง 200 กล่องกล่องละ 30 บาทแต่ก็ขายหมดในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง"
สำหรับ'มหกรรมตลาดเกษตรกร' มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 09.00- 20.00 น. ณ Exhibition Hall ชั้น 1 อาคารหอประชุมสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ถนนแจ้งวัฒนะจังหวัดนนทบุรีโดยเปิดจำหน่ายสินค้าเกษตรเกรดพรีเมียมจากตลาดเกษตรกร 26 แห่งทั่วประเทศพร้อมเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ "ตลาดเกษตรนวัตกรรมตลาดเพื่อผู้บริโภค" เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรและผู้สนใจ มีการจัดแสดงสินค้าในแนวนวัตกรรมทางการเกษตรของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และการสาธิตการผลิตสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรต่างๆอีกด้วย