- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 22 July 2014 18:03
- Hits: 2870
ดัชนี ราคาสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายนเพิ่ม คาด กรกฎาคม ลดลง เหตุผลไม้ภาคใต้ออกสู่ตลาด
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยตัวเลขดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายน เพิ่ม 2.16 เมื่อเทียบกับพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสุกร ในขณะที่ดัชนีผลผลิตลดลง 5.67 คาด กรกฎาคม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรจะลดลง เนื่องจากผลไม้ภาคใต้ออกสู่ตลาดมากขึ้น
นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายน 2557 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว (ปี 2556) พบว่า ภาพรวมลดลง ร้อยละ 6.08 โดยสินค้าเกษตรที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ยางพารา ไก่เนื้อ และไข่ไก่ โดยข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อเพราะสต๊อกยังคงมีมาก ส่วนยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว และไก่เนื้อ ราคาลดลงเนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงต้นปี2557 รวมทั้งไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ลองกอง เงาะ มังคุด ปาล์มน้ำมัน และสุกร โดย สับปะรดโรงงาน ราคาสูงขึ้นแม้ว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาแต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแปรรูป ลองกอง และเงาะ ราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มังคุด ราคาสูงขึ้นแม้ว่าผลผลิตจะมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาแต่ผลผลิตมีคุณภาพดีขึ้น ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และสุกร ราคาสูงขึ้นเนื่องจากสุกรบางส่วนเสียหายจากโรคท้องร่วงในสุกร (PED)
เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ปี 2557 พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น ร้อยละ 2.16 โดยสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสุกร โดยยางพารา ราคาสูงขึ้น เนื่องจากมีฝนตกในแหล่งผลิตที่สำคัญ ประกอบกับราคาตลาดล่วงหน้า TOCOM และราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้น เนื่องจากมีฝนตกในแหล่งผลิตสำคัญทางภาคใต้ เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และสุกร ราคาสูงขึ้น เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ส่วนสินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ทุเรียน สับปะรดโรงงาน เงาะ มังคุด และไข่ไก่ โดยมันสำปะหลัง ราคาลดลงแม้ว่าจะเป็นช่วงปลายฤดูกาลแต่มีฝนตกในแหล่งผลิตสำคัญ ทำให้คุณภาพลดลง ทุเรียน สับปะรดโรงงาน และเงาะ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น มังคุด ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับฝนตกทำให้ผลผลิตคุณภาพไม่ค่อยดี และไขไก่ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นในขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคยัง ทรงตัว อย่างไรก็ตาม เดือนกรกฎาคม 2557 คาดว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาเนื่องจากลำไย และผลไม้ภาคใต้ออกสู่ตลาดมากขึ้น
สำหรับ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายน 2557 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว (ปี 2556) พบว่า ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.17 โดยสินค้าสำคัญที่ผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา สับปะรดโรงงาน มังคุด ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ สำหรับสินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ทุเรียน ลองกอง และเงาะ แต่เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ปี 2557 พบว่าลดลง ร้อยละ 5.67 ซึ่งสินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน และสุกร และสินค้าสำคัญที่ผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา สับปะรดโรงงาน ลองกอง เงาะ มังคุด ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ทั้งนี้ คาดว่า กรกฎาคม 2557 ดัชนีผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2556 แต่จะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2557 สินค้าสำคัญที่ออกสู่ตลาดมากในเดือนกรกฎาคม 2557 ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ลำไย มังคุด และลองกอง
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร