- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 22 July 2014 17:13
- Hits: 3602
ธ.ก.ส.ระดมพลฅนเกษตรอินทรีย์ ร่วมประกาศปฏิญญาขับเคลื่อนงานเพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรของประเทศ
ธ.ก.ส.และมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค จัดระดมพลผู้นำเกษตรอินทรีย์ โรงเรียนชาวนา ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เครือข่ายชาวนา สภาเกษตรแห่งชาติ ชมรม มูลนิธิและสมาคมด้านเกษตรอินทรีย์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัย ร่วมจัดทำปฏิญญาขับเคลื่อนโครงการเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร เพื่อสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงประเทศ สู่ความมั่นคงและยั่งยืน พร้อมสนับสนุนเงินทุนเพื่อขยายพื้นที่และการเพิ่มมูลค่าการผลิตผ่านสินเชื่อ Green Credit
ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ บางเขน นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. พร้อมด้วยมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน โรงเรียนชาวนา ศูนย์เรียนรู้ ภาคีเครือข่าย ชมรม มูลนิธิและสมาคมด้านเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยและหน่วยงานด้านตรวจสอบคุณภาพด้านเกษตรอินทรีย์ ร่วมเสวนากำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมร่วมประกาศปฏิญญาบางเขน เพื่อเปลี่ยนแปลงทิศทางการผลิตทางการเกษตรของประเทศสู่ความมั่นคง ยั่งยืน
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการรวมพลฅนเกษตรอินทรีย์จากทั่วประเทศมาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ผ่านเวทีเสวนาจนตกผลึกในแนวคิดและทิศทางการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม และเพื่อให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ประกอบด้วย ธ.ก.ส. มูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.) สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน เครือข่ายข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สภาเกษตรแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิสายใยแผ่นดิน + สหกรณ์ (Green Net) สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย (TOTA) สำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ศูนย์ข้อมูลตลาดเกษตรอินทรีย์ กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน จึงได้ร่วมกันจัดทำปฏิญญาบางเขนว่าด้วยการประสานพลังร่วมกันของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุน เกษตรกร เครือข่ายชุมชน ในการพัฒนาศักยภาพการผลิตด้านเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการบริหารจัดการการผลิต การรวบรวม การตลาด ให้มีความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน รวม 7 ประการ คือ
1.น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปฏิบัติในการขับเคลื่อนงานเกษตรอินทรีย์ให้มีความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน ด้วยวิธีการตามหลักทรงงาน
2.ส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อการขับเคลื่อนงานเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาความรู้และทักษะ การผลิต การรวบรวม การตลาด การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพ
3.ส่งเสริมสนับสนุนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพใช้เองในชุมชน และซื้อขายกันเองระหว่างชุมชน
4.ส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ การให้คำปรึกษาและการจัดการระบบควบคุมคุณภาพภายใน เพื่อรองรับการประเมินมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
5.ส่งเสริมสนับสนุน การเกื้อกูล แบ่งปัน เป็นธรรม ของการตลาดเกษตรอินทรีย์ทุกระดับ ร่วมสนับสนุนและแสวงหาช่องทางตลาดใหม่ๆ เช่น การขายตรงจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค ตลาดเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจ
6.ส่งเสริมสนับสนุนให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หารือความร่วมมือเครือข่ายภาคี ส่วนงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์
7.ให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อการเรียนรู้ การฝึกอบรม การพัฒนาทักษะ ทุน บุคลากร รวมถึงงานวิจัยและการพัฒนาศักยภาพของบุคคลในชุมชน ส่วนงานและองค์กร
การจัดทำปฏิญญาครั้งนี้ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายขับเคลื่อนชุมชนด้านเกษตรอินทรีย์อย่างน้อย 120 ชุมชนในปี 2558 พร้อมคัดเลือกชุมชนดีเด่นที่เป็นแบบอย่างทีดีจำนวน 60 ชุมชน เพื่อน้อมเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา การยกระดับการจัดการโรงเรียนชาวนาที่ ธ.ก.ส.ให้การสนับสนุนจำนวน 150 โรงเรียน ทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพใช้เองและเหลือขายระหว่างชุมชน ตัวอย่างเช่น โรงเรียนชาวนาในพื้นที่จังหวัดยโสธร ได้จัดตั้งโรงปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพ จำนวน 9 โรง เพื่อใช้เองภายในโรงเรียนและยังเหลือขายให้กับชุมชน 84 ชุมชน โดยมีสมาชิกที่ร่วมโครงการ 232 ราย พื้นที่เพาะปลูก 2,481 ไร่ และตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกเป็น 600 ราย พื้นที่ 600 ไร่ ใน 2 ปีข้างหน้า เป็นต้น
นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส.และมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค ได้ร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ โดยหัวใจสำคัญของการพัฒนาคือ มุ่งให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้โดยการลดต้นทุนการผลิต ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้และโครงการต่อเนื่องมากมาย เช่น โรงเรียนชาวนาเกษตรอินทรีย์ โครงการปลูกผักไร้สารพิษ โครงการฝายชะลอน้ำ โครงการธนาคารต้นไม้ เป็นต้น และในโอกาสที่ประเทศไทยโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายในการจะปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะให้หน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้ร่วมเสนอแนวทางการปฏิรูปและการขับเคลื่อนภาคเกษตร ที่เป็นหัวใจและรากฐานที่สำคัญของประเทศไทย ไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการผลิตและรายได้แก่เกษตรกร โดยธ.ก.ส.พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนทั้งด้านการเผยแพร่องค์ความรู้ ด้านเงินทุนแบบครบวงจร ผ่านโครงการสินเชื่อ Green Credit ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำและเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ให้แก่เกษตรกร ชุมชนและสถาบันที่ร่วมกันผลิตสินค้าด้านเกษตรอินทรีย์