- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 08 May 2016 12:47
- Hits: 2493
เตือนหยุดเสี่ยงกินปลาปักเป้าพิษทนความร้อนได้สูง เมื่อพิษเข้าสู่ร่างกายตายภายใน 15 นาที
บ้านเมือง : กรมประมงเตือนกินปลาปักเป้าน้ำจืดเสี่ยงได้รับพิษร้ายอัมพาต และถึงตายได้ ไม่ควรนำมากิน เนื่องจากถึงแม้ว่าจะนำมาปลามาต้มแล้วแต่พิษของปลาที่ละลายในน้ำก็ยังสามารถทนความร้อนได้สูง
น.ส.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง ได้ให้รายละเอียดข้อมูลหลังจากที่มีผู้เสียชีวิตเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา จากการนำปลาปักเป้าไปรับประทานว่า จาการสำรวจพบว่าปลาปักเป้าในน่านน้ำไทยมีทั้งหมด 42 ชนิด แบ่งเป็นปลาปักเป้าน้ำจืด 9 ชนิด และอีก 33 ชนิด เป็นปลาปักเป้าน้ำเค็มและน้ำกร่อย สำหรับปลาปักเป้าน้ำจืดของไทยพบว่า พิษถูกจัดอยู่ในกลุ่มพิษอัมพาต (ParaIytic Shellfish Poison, PSP) ได้แก่ Saxitoxin (STX) ซึ่งพิษ STX จะมีคุณสมบัติละลายในน้ำและแอลกอฮอล์ มีความคงตัวในกรดอ่อน และสลายตัวในสภาพความเป็นด่าง ความร้อนสูงจากการประกอบอาหารไม่สามารถทำลายพิษนี้ได้ จากการศึกษาในต่างประเทศพบปริมาณพิษ STX ที่ทำให้เสียชีวิตได้จากการรับประทาน มีปริมาณเริ่มต้นตั้งแต่ 500 ไมโครกรัม ซึ่งจากการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างโดยกองวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำพบว่า ในบางฤดูปลาปักเป้า 1 ตัวมีปริมาณพิษ STX สูงถึง 9,400 ไมโครกรัม ดังนั้นจึงไม่ควรนำมาบริโภค ซึ่งปลาแต่ละตัวมีปริมาณพิษไม่เท่ากัน และผู้บริโภคแต่ละคนมีความอ่อนไหวต่อพิษ STX และความแข็งแรงทนทานของร่างกายไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงไม่ควรเสี่ยงนำมารับประทาน
จากรายงานการตรวจพบพิษจากตัวอย่างปลาปักเป้าน้ำจืดในประเทศไทยว่า ในปี 2539 ดร.อัธยา กังสุวรรณ และคณะจากสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำจืด โดยรวบรวมปลาปักเป้าน้ำจืดจากแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาศึกษา พบปลาปักเป้ามีพิษได้แก่ ปลาปักเป้าดำ ปลาปักเป้าสุวัตถิ ปลาปักเป้าจุดแดง และปลาปักเป้าจุดดำ โดยพบว่าพิษปลาปักเป้า น้ำจืดกระจายอยู่ในทุกส่วนของร่างกาย ทั้งในเนื้อเยื่อ หนังและอวัยวะภายใน เช่น ตับ และไข่ของมันด้วย ส่วนความรุนแรงของพิษแตกต่างกันไปตามฤดูกาลและแหล่งอาศัย
จากการวิจัยพบว่า ปลาปักเป้าที่จับได้จากแหล่งน้ำไหลตามธรรมชาติจะมีความเป็นพิษเฉลี่ยต่ำกว่าที่จับได้จากอ่างเก็บน้ำต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำปิด และในเดือนมีนาคม ในปี 2558 ได้มีการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างปลาปักเป้า 2 สายพันธุ์ คือปลาปักเป้าจุดแดงและปลาปักเป้าบึง จากจังหวัดมหาสารคามได้พบพิษทุกตัวอย่าง ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้รับประทานปลาปักเป้าแล้วเสียชีวิตด้วยเมื่อเดือนมีนาคม และล่าสุดในปี 2559 ได้ตัววิเคราะห์ตัวอย่างปลาปักเป้า 2 สายพันธุ์ คือ ปลาปักเป้าจุดแดง และ
ปลาปักเป้าบึง จากจังหวัดร้อยเอ็ด ตรวจไม่พบพิษทุกตัวอย่าง ซึ่งผู้ขายได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ที่ยึดตัวอย่างปลาปักเป้าว่า ได้รับประทานแล้วไม่เกิดอันตราย แต่ทั้งนี้ขอเตือนว่า อย่าไว้วางใจโดยเด็ดขาดเนื่องจากปลาปักเป้าน้ำจืดนั้นพบพิษในทุกส่วนของร่างกาย
สำหรับ พิษของปลาปักเป้าน้ำจืดเมื่อได้รับพิษเข้าสู่ร่างกายแล้ว พิษจะเข้าไปขัดขวางเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อ จึงเกิดการยับยั้งกระแสประสาท การส่งสัญญาณไฟฟ้าของเซลล์ต่างๆ สูญเสียไป
ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย และที่เป็นอันตรายที่สุดคือการเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อ จึงทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต โดยอาการของพิษจะกำเริบขึ้นหลังได้รับพิษจากปลา
อาการพิษจะเป็นออกเป็น 4 ขั้นคือ ขั้นแรก ชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้วิงเวียน อาเจียน ขั้นที่ 2 ชามากขึ้น อาเจียนมาก อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง ยืนและเดินไม่ได้ ขั้นที่ 3 เคลื่อนไหวแขนขาไม่ได้ พูดลำบากจนถึงพูดไม่ได้
เพราะว่าสายกล่องเสียงเป็นอัมพาต ขั้นที่ 4 กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตทั่วไป หายใจลำบาก เขียวคล้ำ หมดสติ รูม่านตาโตเต็มที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วภายใน 10-15 นาทีเท่านั้น ปัจจุบันการรักษาพิษจากปลาปักเป้ายังไม่มีตัวยาใดที่สามารถแก้พิษได้ จึงอยากฝากเตือนถึงประชาชนไม่ให้นำปลาปักเป้าทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นปลาปักเป้าน้ำจืดหรือน้ำเค็มมารับประทานโดยเด็ดขาด และหากสงสัยว่าได้รับพิษจากปลาชนิดนี้ให้รีบขจัดพิษในเบื้องต้นด้วยการหาซื้อผงถ่านจากร้านขายยามารับประทานเพื่อดูดพิษในร่างกาย และนำส่งโรงพยาบาลด่วน
นั่นเป็นคำเตือนจากกรมประมงที่เราเห็นว่า เป็นคำเตือนที่เต็มไปด้วยความหวังดี และทรงคุณค่าต่อชีวิตคนเรามาก คนที่ชอบเสี่ยงกินปลาประเภทนี้อย่าลองดีกว่า เพราะว่าชีวิตคนเรามีค่ามากนัก ไม่ตายเป็นอัมพาตก็แย่แล้ว...