- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 16 July 2014 23:23
- Hits: 3006
การันตีซื้อข้าว 8.5 พันต่อตันหอการค้าเตรียมชงยุทธศาสตร์พัฒนาข้าวไทย
บ้านเมือง : นางจินตนา ชัยยวรรณาการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จะเร่งกอบกู้ความเชื่อมั่นและชื่อเสียงข้าวไทยกลับมาเป็นผู้นำในตลาดโลกเหมือนในอดีต ขณะเดียวกันจะดูแลราคาภายในประเทศและเกษตรกร โดยข้าวในฤดูกาลใหม่ที่ไม่มีโครงการรับจำนำหรือประกันรายได้แล้วจะมีมาตรการดูแลราคา ซึ่งจะไม่เป็นภาระให้กับรัฐบาล และเป็นไปตามกลไกตลาด
สำหรับ ผลผลิตข้าวนาปีฤดูกาลผลิต 2557/2558 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มออกสู่ตลาดในเดือนพฤศจิกายนนี้ หากบางช่วงราคาลดลง หน่วยงานภาครัฐจะใช้วิธีแทรกแซงตลาด โดยให้โรงสีหรือผู้ส่งออกข้าวรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคานำตลาด หรือประมาณ 8,500 บาทต่อตัน แต่หากต่ำกว่านี้ภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือกับโรงสีและผู้ส่งออกที่รับซื้อในราคานำตลาด โดยให้ส่วนลดดอกเบี้ยร้อยละ 3 รวมถึงอาจจะมีการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก และหาตลาดให้เกษตรกร ถือว่าเป็นมาตรการในการช่วยเหลือโดยที่ส่วนราชการไม่ต้องใช้เงินงบประมาณมากจนเกินไป ขณะนี้สิ่งที่หนักใจคือ การจัดการระบบสต๊อกข้าวของรัฐบาลที่มากกว่า 18 ล้านตัน เชื่อว่าในช่วงเวลาที่เหมาะสมในการระบาย สต๊อกข้าวของรัฐในช่วง 2 คือ เดือนสิงหาคมและกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวฤดูกาลใหม่ยังไม่ออกเต็มที่
แม้ว่าข้าวจำนวน 18 ล้านตัน แยกเป็นปลายข้าว 3-4 ล้านตัน อาจจะมีข้าวเสื่อมคุณภาพเล็กน้อย แต่ยังสามารถระบายได้ในตลาดภายในและภายนอกประเทศ โดยมองว่าการระบายน่าจะมีสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง คือบริโภคในประเทศครึ่งหนึ่ง ส่งออกครึ่งหนึ่ง เพราะคนไทยนิยมบริโภคข้าวเก่า ขณะที่เหลือต่างประเทศโดยเฉพาะแอฟริกายังคงต้องการ โดยเฉพาะปลายข้าว จึงเชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถบริหารจัดการข้าวในสต๊อกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนสินค้าเกษตรตัวอื่น เช่น ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อาจไม่ใช้การแทรกแซงราคา เพราะปัจจุบันไม่สามารถใช้การแทรกแซงราคาได้เหมือนในอดีต ซึ่งกรมการค้าภายในจะเข้าไปดูเรื่องมาตรฐานและการให้ความรู้แก่เกษตรกร
ส่วนโครงการธงฟ้า อาจมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่เป็นการขายของราคาถูก เปลี่ยนเป็นการกระจายไปในอำเภอต่างๆ และเป็นตัวช่วยในระยะยาว รวมถึงเป็นตัวชี้ว่าสินค้าในพื้นที่ควรมีราคาเท่าไร ไม่ใช่เป็นการลดราคาครั้งคราว และเป็นการต่อยอดจากแนวคิดเดิมที่ผู้ประกอบการสินค้าในพื้นที่ควรมีราคาเท่าไร ไม่ใช่เป็นการลดราคาครั้งคราว และเป็นการต่อยอดจากแนวคิดเดิมที่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพอาจจะนำไปขายกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นการขยายตลาด เพราะตลาดเพื่อนบ้านไม่มีกำแพงเรื่องภาษี
ขณะที่ราคาสินค้าในช่วงนี้ยังปกติ ด้วยการขอความร่วมมือ ส่วนเรื่องอาหารสำเร็จรูป คสช. อยากให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือในระดับนโยบาย อาจจะเป็นผู้ประกอบการรายเดิม ช่วยหาปัจจัยการผลิต เช่น ข้าว ไข่ น้ำมันพืช เพื่อให้สามารถขายได้ในราคาถูก
ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่จะมีขึ้นวันนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเตรียมนำเสนอแผนงานเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งหนึ่งในแผนงานคือ การปฏิรูปการเกษตรที่จะเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมอาหารและพลังงานทดแทน โดยเน้นสินค้าเกษตรหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพด โดยจะเสนอเรื่องอนาคตข้าวและชาวนาไทย เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืนให้กับชาวนาไทยก่อน เพื่อยกระดับความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร โดยการพัฒนาประสิทธิภาพของห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ทั้งนี้ กรอบเวลาไม่ได้กำหนด แต่จะต้องมีเจ้าภาพก่อน อาจเริ่มจากโรงสีพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าด้วยการดูแลชาวนา จากนั้นเดินหน้าพัฒนาโรงสีให้มีคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรกว่า 17 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 43 ของภาคแรงงาน และคิดเป็นร้อยละ 22 ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมดที่มีอยู่ 64.5 ล้านคน ทั้งนี้ ประเทศไทยปลูกข้าวมากถึง 70 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 149 ล้านไร่ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า มีพื้นที่เหมาะสมและเหมาะสมปานกลางในการปลูกข้าว 43 ล้านไร่ เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสมประมาณ 27 ล้านไร่ ซึ่งสามารถนำมาเปลี่ยนไปปลูกพืชเกษตรอื่นที่เหมาะสมและให้ผลตอบแทนสูงกว่า