- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 23 April 2016 22:36
- Hits: 1816
หมอดิน'เดินหน้าแผนโซนนิ่ง พบพื้นที่ไม่เหมาะสม 42 ล.ไร่-แนะเปลี่ยนการผลิต
แนวหน้า : นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดทำแผนที่เขตพื้นที่ความเหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตรระดับอำเภอและระดับจังหวัดรายพืช รวมทั้งจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานประกอบการใช้แผนที่และคำแนะนำสำหรับการปลูกพืช ซึ่งการกำหนดพื้นที่เหมาะสม การผลิตสินค้าเกษตรนั้น ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในระดับประเทศแล้ว และพบว่ามีพื้นที่ทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสม จำนวน 42 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 32 ของพื้นที่เกษตรกรรมรวม 130 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน
สำหรับ พื้นที่ทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว ควรพิจารณาโดยการศึกษาข้อมูลว่าสามารถปรับเปลี่ยนไปปลูกพืช หรือปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินไปเป็นประเภทอื่นที่เหมาะสมกว่า เช่น การปศุสัตว์ การประมง หรือเกษตรผสมผสาน เป็นต้น ซึ่งหากเกษตรกรตัดสินใจปรับเปลี่ยนการผลิตหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต ทางรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้การสนับสนุนทางวิชาการ เทคโนโลยีการผลิต ผ่านการฝึกอบรม และสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน เช่น กรมพัฒนาที่ดิน สนับสนุนด้านการปรับปรุงบำรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กและแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ซึ่งขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมตามที่กำหนดไว้ในมาตรการการขับเคลื่อนและ ส่งเสริมในระดับพื้นที่ระดับจังหวัด
นอกจากนี้ หากเกษตรกรตัดสินใจทำการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชชนิดอื่น ในพื้นที่ที่เหมาะสมน้อย หรือพื้นที่ไม่เหมาะสม หน่วยงานภาครัฐก็ให้การช่วยเหลือในการผลิตตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานเช่นกัน เพราะรัฐได้มีนโยบายกำหนดมาตรการสนับสนุน จูงใจ ให้ข้อมูลและคำแนะนำทางวิชาการและเทคโนโลยี แก่เกษตรกรใน การปรับเปลี่ยนการทำการเกษตร ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นความสมัครใจของเกษตรกร ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่เอง ไม่เป็น การบังคับแต่อย่างใด โดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ และความพึงพอใจของเกษตรกร เป็นหลัก แต่ก็จะให้คำแนะนำด้านการปรับปรุงแก้ไขปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ของที่ดินและของพื้นที่ ให้มีความเหมาะสมเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการจัดการดินในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม ยิ่งขึ้นต่อไป