- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 16 July 2014 23:20
- Hits: 3364
ปลุกเกษตรกรพึ่งตนเองเลี้ยงหมูหลุมปุ๋ยมูลสัตว์
บ้านเมือง : ในการทำเศรษฐกิจพอเพียงของเกษตรกรชาวนา พื้นฐานที่สำคัญก็คือการทำให้เกษตรกรชาวนามีหลักคิดและมีความรู้ ให้เกษตรกรเรียนรู้ทำความเข้าใจทบทวนหาข้อสรุปสาเหตุของความยากจนเป็นหนี้ ซึ่งมีการพูดกันเสมอว่าต้อง'ระเบิดจากภายใน'คือรู้และเข้าใจถึงปัญหาสาเหตุที่ทำให้เป็นหนี้ในภาคการเกษตร ต้นทุนในการทำการผลิตในแต่ละฤดูกาลสามารถลดลงได้หรือไม่ พึ่งตนเองได้หรือไม่ในการผลิตปุ๋ยใช้เอง ทำให้ครบวงจรในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไร่นา
มูลนิธิพลังงานไทยและโรงไฟฟ้ากลุ่มบริษัทกัลฟ์ ได้จัดทำโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนสร้างครอบครัวชาวนาต้นแบบให้เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สระบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา มีการส่งเสริมให้เกษตรกรและชาวนาทำโรงปุ๋ยที่มีชีวิต โดยการส่งเสริมเลี้ยงหมูหลุม ถือเป็นงานปศุสัตว์ขนาดเล็กในครัวเรือน เพื่อการผลิตปุ๋ยจากมูลสัตว์ ซึ่งหมูหนึ่งตัวสามารถผลิตปุ๋ยได้ถึง 2 ตันต่อตัวต่อปี เกษตรกรในประเทศญี่ปุ่นเรียกปุ๋ยจากมูลสัตว์พวกนี้ว่า 'โบกาชิ'
ก่อนหน้าที่จะมีการส่งเสริมให้เกษตรกร ชาวนาเลี้ยงหมูหลุมมีการนำร่องฝึกอบรมโดยนำหลักสูตรการทำเกษตรกรรมยั่งยืนให้เกษตรกรปลูกกล้วยเพื่อฟื้นฟูดิน รอบบ้านและบริเวณที่ดินหัวไร่ปลายนา เมื่อมีต้นกล้วยมากก็นำต้นกล้วยมาเป็นอาหารให้กับหมูหลุม การสร้างครอบครัวเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถพึ่งตนเองได้นั้น ในแต่ละครอบครัวก็จะมีงานเกิดขึ้นที่ครบวงจร เกิดประโยชน์ทั้งระบบในวิถีของการเกษตร มีหมูหลุม พืชผักต้นกล้วยตามท้องไร่ปลายนาก็เป็นอาหารให้หมูหลุม ขณะเดียวกันมูลหมูหลุมก็ให้ปุ๋ย 2-3 ตันต่อตัวต่อปี ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีในภาคการเกษตร สามารถประหยัดค่าปุ๋ยได้ปีละ 20,000-30,000 บาท พืชผักสวนครัวในรั้วบ้านก็ได้ปุ๋ยหมูหลุม เรื่องของหมูหลุมทำให้สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดทั้งรายจ่าย เพิ่มรายได้ ได้ทั้งหมูได้ทั้งพืชผักมาบริโภคในครอบครัว