WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

AGอภย สทธสงขเกษตรฯหนุนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทดแทนพืชเศรษฐกิจใช้น้ำมาก

    แนวหน้า : ชาวไร่อ้อย-มันสำปะหลังกระทบแล้ง หันปลูกหม่อนเลี้ยงไหมระบบอุตสาหกรรมทดแทน กรมหม่อนไหมแนะใช้ระบบน้ำหยดหล่อเลี้ยงแปลง พร้อมดึงภาคเอกชนร่วมทำ "คอนแทร็กฟาร์มมิ่ง" รับซื้อรังไหม ทำเงินกว่า 1.1-1.5 หมื่นบาท/เดือน

     นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหมเปิดเผยว่า เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังในพื้นที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี บางส่วนอยู่ในเขตอับฝนและมีปริมาณน้ำฝนต่อปีค่อนข้างน้อย ทั้งยังประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ ทำให้ได้ผลผลิตต่ำและบางรายไม่ได้ผลผลิตเลย กรมหม่อนไหมจึงส่งเสริมให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาดังกล่าวปรับเปลี่ยนจากการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง หันมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในระบบอุตสาหกรรมทดแทนพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำมาก พร้อมส่งเสริมการจัดทำคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) ซื้อขายรังไหมระหว่างเกษตรกรกับภาคเอกชน เบื้องต้นมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 40 ราย ปัจจุบันชาวไร่อ้อยและมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบแล้งปรับเปลี่ยนมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเกือบ 100 ราย พื้นที่ 600-800 ไร่ และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     กรมหม่อนไหมได้แนะนำให้เกษตรกรใช้ระบบน้ำหยดในแปลงปลูกหม่อนแทนการให้น้ำแบบปล่อยตามร่องแปลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด ซึ่งการใช้ระบบน้ำหยด สามารถประหยัดและลดปริมาณการใช้น้ำลงได้กว่า 50% ส่วนพื้นที่ที่แห้งแล้งมากแนะนำให้คลุมฟางบริเวณโคนต้นและร่องหม่อน เพื่อป้องกันการสูญเสียและช่วยเก็บรักษาความชื้นในดินอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันยังส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำคอนแทร็กฟาร์มมิ่งกับผู้รับซื้อรังไหม คือ บริษัท จุลไหมไทย จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน โดยราคารับซื้อรังไหมอยู่ที่กิโลกรัมละ 180-200 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพผลผลิตโดยเฉพาะเปอร์เซ็นต์เปลือกรัง และเปอร์เซ็นต์รังดี รังเสีย เป็นต้น เป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพด้วย

      "สำหรับพันธุ์หม่อนที่ส่งเสริมและแนะนำให้เกษตรกรปลูก คือ พันธุ์สกลนคร เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง โดยให้ผลผลิตใบ ประมาณ 2,500-3,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี ทั้งยังมีความทนทานต่อสภาวะแห้งแล้งและทนทานต่อเพลี้ยไฟพอสมควร หากกระทบแล้งจะทิ้งใบช้ากว่าหม่อนพันธุ์อื่น นอกจากนี้ ยังเป็นหม่อนที่ให้ใบใหญ่ ใบหนา และมีระยะระหว่างข้อถี่ ซึ่งเหมาะต่อการนำไปเลี้ยงไหมระบบอุตสาหกรรม หลังจากปลูกหม่อน ประมาณ 6 เดือน เกษตรกรก็จะเริ่มมีรายได้จากการจำหน่ายรังไหม" อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าว

     ด้านนางพรไสว ชุ่มบุญชู ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ กาญจนบุรี กรมหม่อนไหม กล่าวเพิ่มเติมว่า พันธุ์ไหมที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง คือ พันธุ์จุล 6 และพันธุ์จุล 2 โดยบริษัท จุลไหมไทยฯจะส่งมอบไหมวัย 3 ที่มีอายุ 3-4 วัน ให้เกษตรกรที่อยู่ภายใต้ระบบคอนแทร็กฟาร์มมิ่งนำไปเลี้ยง เพื่อลดความเสี่ยงในการเลี้ยงไหมวัยอ่อนให้กับเกษตรกรและช่วยลดอัตราการตายของไหมวัยอ่อนได้ค่อนข้างมาก หลังจากเกษตรกรรับไหมวัย 3 ไปเลี้ยง ประมาณ 15-20 วัน ก็สามารถจำหน่ายรังไหมได้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้รายเดือน หากมีการบริหารจัดการแปลงหม่อนอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เกษตรกรจะสามารถเลี้ยงไหมได้ต่อเนื่องและมีรายได้ที่มั่นคง บางรายมีรายได้อยู่ที่ 11,000-15,000 บาท/เดือน

    "นอกจากพื้นที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ที่มีการปรับเปลี่ยนจากอ้อยมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแล้ว เกษตรกรในพื้นที่ตำบลทุ่งกระเบา อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ประสบปัญหาเดียวกันก็เริ่มหันมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพิ่มขึ้น โดยบางพื้นที่จำเป็นต้องนำน้ำใต้ดินขึ้นมาหล่อเลี้ยงแปลงปลูกหม่อน จะทำให้เกษตรกรเข้าสู่อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้ง่ายขึ้น อนาคตหากเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจะปรับเปลี่ยนมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กรมหม่อนไหมก็พร้อมให้การสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการ และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมทั้งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในระบบอุตสาหกรรมเป็นอาชีพหลัก หรือทำเป็นอาชีพเสริม และยังมีแผนดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและส่งเสริมการตลาดด้วย เพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร" นางพรไสวกล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!