- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 24 March 2016 21:20
- Hits: 1756
ก.เกษตรฯ ตามติดโครงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตฯ หลังเจอภัยแล้ง เผยเกษตรกรพึงพอใจเหตุช่วยยกระดับความรู้-ปรับใช้ได้จริง
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจงประเมินผลระหว่างการอบรมเกษตรกรตามโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตร ปูพรมพื้นที่ ศพก. 92 ศูนย์ ใน 44 จังหวัด เจาะกลุ่มเกษตรกร 2,760 ราย ระบุ ขณะนี้ผ่านการอบรมครั้งที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ชู เกษตรกรตอบรับพึงพอใจโครงการในระดับมากถึงร้อยละ 96 มั่นใจนำความรู้ที่ได้รับปรับใช้ต่อจริงแน่นอน
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ คสช. กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตร เพื่ออบรมความรู้ให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศจำนวน 220,500 ราย ระยะเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์-31 พฤษภาคม 2559โดยสนับสนุนงบประมาณสำหรับเกษตรกรต้นแบบเป็นค่าจัดสถานที่และทำความสะอาด ศพก. รวมทั้งค่าพาหนะในการเดินทางของผู้เข้ารับการอบรม และค่าจัดเลี้ยงอาหารกลางวันโดยกลุ่มแม่บ้านในชุมชน (รวม 3 ครั้งๆ ละ 5 รุ่น) รวมจำนวน 853,335,000 บาท
สำหรับ เกษตรกรที่เข้าร่วม แต่ละรายจะได้รับการอบรม 3 ครั้งๆ ละ 5 วัน/เดือน ซึ่งขณะนี้ เกษตรกรทุกรายผ่านการอบรมครั้งที่ 1 ไปแล้ว และกำลังเข้าสู่การอบรมครั้งที่ 2 โดยเนื้อหาการฝึกอบรมจะประกอบด้วย 4 กลุ่มวิชาหลัก ได้แก่ กลุ่มวิชาสร้างการรับรู้ ความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศ กลุ่มวิชาสร้างโอกาสในการแข่งขัน กลุ่มวิชาเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิต และกลุ่มวิชาสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยมีทีมวิทยากรจากหน่วยงานภาคีต่างๆ และวิทยากรที่เป็นเกษตรกรต้นแบบและอาสาสมัครเกษตรสาขาต่างๆเข้าร่วมถ่ายทอดความรู้ มีการฝึกภาคปฏิบัติ และนำดูพื้นที่ตัวอย่าง
ในการนี้ สศก. ได้สำรวจกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 2,760 ราย ในพื้นที่ ศพก.92 ศูนย์ รวม 44 จังหวัด พบว่า เกษตรกร ร้อยละ 96 มีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมาก โดยเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อเกษตรกรมาก เพราะได้รับความรู้ที่หลากหลายทั้งด้านการอยู่ร่วมกันในสังคม การดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว และที่สำคัญได้รับความรู้ในการผลิตทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเห็นว่าการจัดอบรมในพื้นที่ ศพก. มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ของเกษตรกรต้นแบบตั้งอยู่ในชุมชนทำให้การเดินทางของเกษตรกรสะดวก อีกทั้งยังมีฐานเรียนรู้ด้านการเกษตรเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรที่เข้ารับการอบรมได้ดูงาน
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ของเกษตรกร พบว่า มีเกษตรกรถึงร้อยละ 92 วางแผนที่จะนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ โดยแนวทางที่จะนำไปใช้ประกอบด้วยด้านต่างๆ โดยนำไปใช้เพื่อการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 23 รองลงมาคือ ใช้เพื่อการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร ร้อยละ 22 ใช้เพื่อการเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน ร้อยละ 20 ใช้เพื่อการพัฒนาชุมชนของตนเอง ร้อยละ 14 นำหลักการรวมกลุ่มไปใช้เพื่อทำกิจกรรมเพื่อผลิตสินค้าร่วมกันในชุมชน ร้อยละ 12 และใช้ในการปรับกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรเพื่อรองรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ร้อยละ10
ทั้งนี้ ในส่วนของเกษตรกรที่เข้าร่วมอบรม จะได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากภาครัฐเฉลี่ยรายละ 1,000 บาท/ครั้ง และจากการสำรวจการอบรมครั้งที่ 1 ทั้ง 5 รุ่น พบว่า ขณะนี้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ชุมชน (เกษตรกรต้นแบบ ผู้รับการอบรม และกลุ่มแม่บ้านในชุมชน) แล้ว 284,445,000 บาท ซึ่ง สศก. มีแผนในการประเมินผลการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องครบทั้ง 3 ครั้ง เพื่อให้ทราบถึงผลจากการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ของเกษตรกร ต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย