WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Agricuttureรายงานพิเศษ : สวพ.8 สงขลาขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การพัฒนา สร้างความอยู่ดีกินดีเกษตรกรพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง

        แนวหน้า : ตามที่กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ มีนโยบายขับเคลื่อน 6 มาตรการสำคัญ ได้แก่ การลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมหรือโซนนิ่ง ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ ศูนย์เรียนรู้การ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และธนาคารสินค้าเกษตร โดยกรมวิชาการเกษตร ได้รับภารกิจสนับสนุนนโยบายรัฐบาล เช่น การถ่ายทอดผลการวิจัยเพื่อไปช่วยแก้ปัญหาการผลิตพืชแก่เกษตรกร ที่ประสบภัยแล้ง หรือประสบปัญหาในการผลิตพืชอื่นๆ ตั้งแต่การปลูกจนถึงการส่งออก รวมทั้งการเร่งรัดการกำกับคุมคุมการจำหน่ายปัจจัยการผลิตให้เป็นไปตามกฎหมายและเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร เป็นต้น ซึ่งในส่วนของภาคใต้ตอนล่าง 7 จังหวัดนั้น มีสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา เป็น หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ

    นายอนันต์ อักษรศรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา การเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา รับผิดชอบการวิจัยและพัฒนาผลิตพืชในภาคใต้ตอนล่าง 7 จังหวัด คือ ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศ เป็นแบบร้อนชื้น ปริมาณน้ำฝนประมาณ 2,200 มิลลิเมตรต่อปี วันฝนตกเฉลี่ย 160 วัน ลักษณะภูมิประเทศที่มีทะเลขนาบอยู่ 2 ด้าน มีเนื้อที่ทั้งหมด 18.22 ล้านไร่ ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ร้อยละ 51 หรือ 9.36 ล้านไร่ จำแนกเป็นพื้นที่ยางไม้ผลไม้ยืนต้นร้อยละ 86.5 นาข้าวร้อยละ 9 มีผู้ถือครองทำการเกษตรทั้งสิ้น 462,955 ครัวเรือน ขนาดฟาร์มเฉลี่ย 20.6 ไร่ ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม พืชเศรษฐกิจที่สำคัญในพื้นที่ คือ ยางพารา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ร้อยละ 75 ของพื้นที่ปลูกพืชทั้งหมด รองลงมาจะเป็น ข้าว ร้อยละ 7 ปาล์มน้ำมัน ร้อยละ 5 และ ลองกอง ทุเรียน มังคุด เงาะ มะพร้าว และสับปะรด รวมกันร้อยละ 13 ของพื้นที่ปลูกพืชทั้งหมด พืชที่มีมูลค่าสูงที่สุด คือ ยางพารา มีมูลค่า 110,911.9 ล้านบาท รองลงมาคือ ข้าว และปาล์มน้ำมัน 4,070.1 และ 2,545.2 ล้านบาท ส่วนพืชอื่นๆ จะมีมูลค่าไม่เกินหนึ่งพันล้านบาท ได้แก่ ลองกอง ทุเรียน มังคุด มะพร้าว สับปะรด และเงาะ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 863.6, 767.0, 498.5, 457.4, 290.1 และ 253.2 ล้านบาท ตามลำดับ

    "ภาคใต้ตอนล่างมีจุดแข็ง คือ เป็นเขตพื้นที่ยางพาราที่สำคัญของประเทศ และเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพืชแบบผสมผสานหลายชนิด มีพืชท้องถิ่น และพืชพื้นเมืองที่มีศักยภาพหลายชนิด ลักษณะภูมิอากาศมีฝนกระจายตัวเกือบตลอดปี แต่มีจุดอ่อน คือการปลูกยางพาราที่มีสัดส่วนพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 75 ของพื้นที่นั้นทำให้มีความเสี่ยงเมื่อเกิดปัญหาราคายางพาราตกต่ำ การผลิตไม้ผล ส่วนใหญ่ยังมีคุณภาพต่ำ ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์พืชไร่ ด้านเศรษฐกิจ และสังคม ในพื้นที่มีปัญหาด้านการก่อเหตุความไม่สงบทำให้มีผลกระทบ ต่อการผลิตพืชที่ไม่สามารถขยายผลเทคโนโลยีลงสู่พื้นที่ และพ่อค้า ไม่สามารถไปซื้อสินค้าได้ในบางพื้นที่ ด้านโอกาส คือพื้นที่อยู่ติดชายแดน ประเทศมาเลย์เชียได้ส่งผลดีด้านการท่องเที่ยว และการค้าต่างประเทศประเทศเพื่อนบ้าน" นายอนันต์ กล่าว

    นายอนันต์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างนั้น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา ได้วางแนวทางวิจัยและพัฒนาไว้ 10 แนวทาง ประกอบด้วย ด้านการวิจัยและพัฒนา เน้นการวิจัยแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยประเด็นงานวิจัยที่สำคัญ เช่น 1)การวิจัยระบบ การผลิตพืชเพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกร ชาวสวนยาง ชาวนาและชาวสวนไม้ผล 2)การ วิจัยการผลิตพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพทางการค้า ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 3)การวิจัยการผลิตพืชท้องถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่า 4)การวิจัยการผลิตพืชผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความมั่นคง ยั่งยืนในการผลิตพืชและสร้างความพอเพียงในการเป็นอยู่ 5)การวิจัยชุมชนต้นแบบผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี 6)การวิจัยด้านอื่นๆ เช่น การวิจัยเพื่อพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการ และเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็กเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนและทดแทนแรงงาน เป็นต้น

      ด้านการผลิตและบริการพันธุ์พืชเพื่อผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์และพืชพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตรสู่เกษตรกรโดยเน้นการผลิตพันธุ์พืชที่ขาดแคลนในพื้นที่และเป็นการผลิตพันธุ์ที่ได้มาตรฐานตรงตามพันธุ์ดี ของกรมวิชาการเกษตร ด้านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืชให้ได้มาตรฐานสากล ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างสร้างความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เน้นการรับรอง มาตรฐานการผลิตพืช GAP และมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์

     ด้านการบริการตรวจสอบวิเคราะห์ปัจจัยการผลิต เช่น การตรวจสอบวิเคราะห์ ดิน น้ำ ปุ๋ย พืช และวัตถุอันตราย ด้านการ เร่งรัดการกำกับดูแลตามกฎหมายที่รับผิดชอบเช่น พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ร.บ. พันธุ์พืช เพื่อให้ปัจจัยการผลิตเหล่านี้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน ด้านการพัฒนาตามโครงการพระราชดำริ เพื่อทำการศึกษา และนำผลงานวิจัยต่างๆ ไปสาธิต ถ่ายทอดแก่เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ ตามโครงการพระราชดำริต่างๆ

    นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญ ด้านโครงการส่งเสริมอาชีพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพการปลูกพืช แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ ด้านการพัฒนาศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรประจำจังหวัด (ศวพ.) เพื่อให้เป็นศูนย์ที่ผลิตผลงานวิจัยและพัฒนาแก้ปัญหาและ สนองความต้องการของพื้นที่ เน้นการพัฒนา ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ การให้บริการทางวิชาการ การแก้ปัญหาการผลิตพืช ด้านการขับเคลื่อน การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกษตรกรได้นำผลการวิจัยไปใช้แก้ปัญหาและพัฒนาการผลิตพืชให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่ม และด้านการขับเคลื่อนงานเร่งด่วนตาม นโนบายรัฐบาล เพื่อผลักดันงานสำคัญของรัฐบาลที่ช่วยเหลือประชาชนให้เกิด ผลสัมฤทธิ์ เช่น มาตรการ การลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการแก้ปัญหา ภัยแล้ง โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โครงการ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม เป็นต้น

    สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต ที่ 8 จังหวัดสงขลา จึงถือว่าเป็นองค์กรสำคัญของกรมวิชาการเกษตร ที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ ช่วยแก้ปัญหาการผลิตพืชในพื้นที่ ให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีกินดี พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!