- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 12 March 2016 14:07
- Hits: 2237
ห่วงข้าวนาปรัง 4 แสนไร่ขาดน้ำ กนอ.หาแผนสำรองเตรียมรับมือภัยแล้ง
บ้านเมือง : ห่วงข้าวนาปรัง 4 แสนไร่เผชิญปัญหาขาดน้ำ ด้านกรมชลประทานกำลังวางแผนการใช้น้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์กับ จ.เชียงใหม่ ขณะที่ กนอ.เตรียมรับมือภัยแล้ง หาแผนสำรองบริหารจัดการน้ำในนิคม
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงฯ ว่า จากการติดตามสถานการณ์การปลูกข้าวของชาวนาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่า สำหรับข้าวนาปีไม่มีปัญหา เพราะเก็บเกี่ยวไปหมดแล้ว ส่วนนาปรังมีพื้นที่ปลูกในเขตลุ่มเจ้าพระยาประมาณ 3 ล้าน 5 หมื่นไร่ เป็นนาปรังในเขตชลประทาน 1 ล้าน 9 แสน 8 หมื่นไร่ และอีก 1 ล้าน 7 หมื่นไร่ อยู่นอกเขตชลประทาน ทั้งนี้การทำนาปรังมีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว 9 แสน 4 หมื่นไร่ ส่วนที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกประมาณ 2 ล้านกว่าไร่ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าจะมีนาปรังประมาณ 4 แสนไร่ที่อยู่ในความเสี่ยงเรื่องน้ำในการเพาะปลูกในช่วงนับจากนี้ไป
พล.อ.ฉัตรชัย ยังกล่าวด้วยว่า จะมอบหมายให้นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปจัดทำแผนที่จังหวัดทั่วประเทศโดยเน้นเรื่องการใช้น้ำในระยะเวลา 10 ปี, การใช้ดินเพื่อการปลูกและจะให้กรมวิชาการเกษตรกับกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปช่วย ซึ่งโครงการนี้จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2559
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วยว่ากำลังวางมาตรการการเล่นน้ำสงกรานต์ร่วมกับ จ.เชียงใหม่ โดยจะมีการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ ส่วนสถานการณ์น้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคนั้นจะมีใช้อย่างไม่ขาดแคลนไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 ดังนั้นจึงอยากจะนำเรียนเพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตกใจกับข่าวลือต่างๆ ที่ออกมาในช่วงนี้
ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย จะเดินทางไปประชุมเรื่องอาหารเพื่อการเกษตรที่มาเลเซีย ในระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคม 2559 และจะถือโอกาสดูงานวิจัยเรื่องยางพาราของมาเลเซียในโอกาสนี้ด้วย
ขณะที่นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Global Rubber Latex & Tire Expo 2016 งานแสดงสินค้านานาชาติสำหรับอุตสาหกรรมยาง น้ำยางและยางล้อครั้งที่ 3 ว่า เดือนธันวาคมที่ผ่านมา กนอ.เปิดโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคอุตสาหกรรมเรียกว่า Rubber City หรือโครงการพัฒนาเมืองยางพาราจังหวัดสงขลา เพื่อผนึกกำลังผู้ประกอบการยาง รวบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันขึ้นเป็นคลัสเตอร์ยาง และนับเป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้สามารถเพิ่มราคายางดิบและช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีด้านนวัตกรรม โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (เอ็มโอยู) กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เร็วๆ นี้ และในช่วง 12 เดือนข้างหน้าโรงงานต้นแบบจะทำการทดลองและถ่ายทอดวิธีการแก้ไขปัญหาดีที่สุดและให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือนักลงทุนรายย่อยที่เป็นเอส เอ็มอี โดยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกว่า 250 บริษัทเข้าร่วมงาน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 7,000 คน จาก 50 ประเทศ
ส่วนการที่รัฐบาลออกมาตรา 44 ให้โครงการลงทุนไม่จำเป็นต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA นั้น เป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม สถานพยาบาล เป็นต้น แต่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม
นายวีรพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของภัยแล้งที่จะกระทบกับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนั้น กนอ.เตรียมการรับมือภัยแล้งตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาโดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูนระดับน้ำในแม่น้ำลดลงเหลือเพียงประมาณ 10 เซนติเมตรเท่านั้น จึงใช้แผนสำรองด้วยการนำแหล่งน้ำสำรอง 400,000 ลูกบาศก์เมตร กับน้ำดิบจากบ่อดินเอกชนอีก 800,000 ลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร บวกกับการรีไซเคิลน้ำอีก 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมถึงบ่อน้ำบาดาลอีก 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 17,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จึงเชื่อว่าปริมาณน้ำจะสามารถรองรับความต้องการใช้ของนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน รวมถึงดูแลชุมชนใกล้เคียงได้จนถึงฤดูฝนที่จะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคมและอย่างช้าเดือนมิถุนายนปัญหาขาดแคลนน้ำน่าจะหมดไป ส่วนนิคมอุตสาหกรรมภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดิบ อย่างไรก็ตามคาดว่าจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรม