- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 03 March 2016 22:33
- Hits: 3467
CPF เริ่มนำมาตรฐาน CP Excellence ประยุกต์ใช้ในองค์กรปีนี้หลังธุรกิจสุกรคว้ารางวัล TQC
นายสมควร ชูวรรณธนะปกรณ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสุกร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า หลังจากที่ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ สามารถคว้ารางวัล “การบริหารสู่ความเป็นเลิศ" หรือ Thailand Quality Class (TQC) ประจำปี 2558 นับเป็นธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์แห่งแรกของไทยที่ได้รับรางวัลนี้ เป็นการรับรองธุรกิจฟาร์มสุกรของซีพีเอฟมีมาตรฐานทัดเทียมองค์กรระดับสากล และในปีนี้ สายธุรกิจสุกรยังเดินหน้ายกระดับมาตรฐานการดำเนินงานขององค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยนำระบบมาตรฐานสู่ความเป็นเลิศของ ซีพี หรือ CP Excellence ซึ่งเป็นมาตรฐานที่บริษัทฯ พัฒนาจากเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ
“เราไม่หยุดนิ่งที่จะยกระดับกระบวนการทำงานและองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาองค์กรให้ก้าวสู่ มาตรฐานที่สูงขึ้นจนถึงระดับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ดังนั้น บริษัทฯ นำ ระบบมาตรฐาน CP Excellence มาประยุกต์ใช้ในองค์กร เริ่มตั้งแต่ปี 59 เป็นปีแรก เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ของสายธุรกิจสุกรที่มุ่งมั่นเป็นผู้นำอันดับหนึ่งด้านการผลิตสุกรที่มีคุณภาพและสุขภาพดีของประเทศไทยอย่างยั่งยืน" นายสมควร กล่าว
ระบบมาตรฐาน CP Excellence เป็นการนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ บูรณาการกับเกณฑ์มาตรฐาน 6 หมวดที่สามารถตอบโจทย์การดำเนินงานของซีพีเอฟในสภาพแวดล้อมและความท้าทายใหม่ๆ ครอบคลุมเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ อาทิ เกณฑ์การจัดการเศรษฐกิจสีเขียว การจัดการข้อมูลสารสนเทศ ความรู้และเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรม การกำกับดูแลองค์กร การตัดสินใจเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น เพื่อพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงสุกรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ การพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ที่ดีและมีคุณภาพ การจัดการโรงเรือนตามมาตรฐาน การผลิตอาหารที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของสุกรในทุกช่วงวัย รวมถึงกระบวนการจัดการที่ดีตลอดจนระบบการป้องกันโรคที่เข้มงวด และที่สำคัญบุคลากรของบริษัทมีความสุขและมีศักยภาพในการทำงานที่แข็งแกร่ง
นายสมควร กล่าวต่อว่า สิ่งที่องค์กรได้รับจากการนำเกณฑ์คุณภาพแห่งชาติมาใช้ คือ สายธุรกิจสุกรมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของธุรกิจ มีทีมงานแข็งแกร่งขึ้น บุคลากรทุกคนในฟาร์มเข้าใจและเห็นเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน มีการวัด วิเคราะห์ และจัดการความรู้ รวมถึงถ่ายทอดงานจากรุ่นสู่รุ่นเป็นระบบมากขึ้น การดำเนินงานมีการเทียบวัดกับองค์กรอื่น ส่งผลให้ผู้นำองค์กรมีข้อมูลครบถ้วน สามารถประเมินและนำไปสู่การตัดสินใจพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง สามารถผลิตและส่งมอบผลผลิตคุณภาพสูง สะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และที่สำคัญสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ สามารถตอบสนองเป้าหมายขององค์กรได้ และที่สำคัญธุรกิจมีคู่เทียบเป็นองค์กรระดับโลก ช่วยให้เราทราบถึงเราต้องพัฒนาและปรับปรุงในจุดต่างๆ
“การนำระบบ CP Excellence มาใช้ เราก็ยังหาโอกาสส่งสายธุรกิจสุกรเข้าประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ เพื่อช่วยเป็นกระจกสะท้อนให้องค์กรว่าอยู่ตรงไหน เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติช่วยให้เรามีคู่เปรียบเทียบ มีจุดแข็งที่ต้องรักษา และจุดที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังถ่ายทอดมาตรฐานที่ดีไปสู่สายธุรกิจสุกรของบริษัทฯ ในประเทศต่างๆ อย่างเป็นระบบได้อีกด้วย" นายสมควรกล่าว
สายธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เชื่อมั่นว่า การนำ CP Excellence มาประยุกต์ใช้กับหน่วยงานจะช่วยให้ทุกคนในองค์กรมีการพัฒนาได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยมีการบูรณาการระบบสากลให้เหมาะกับบริบทและลักษณะเฉพาะของธุรกิจมากขึ้น อีกทั้งสามารถถ่ายทอดมาตรฐานไปยังธุรกิจสุกรของบริษัทฯ ในประเทศอื่นๆ เพื่อยกระดับธุรกิจสุกรขององค์กรให้ก้าวใกล้สู่รางวัลคุณภาพแห่งชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อินโฟเควสท์