- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 28 February 2016 17:07
- Hits: 5924
กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมจัดสินเชื่อ 1,000 ลบ.เสริมความเข้มแข็งให้เกษตรกร
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรสู่ความเข้มแข็ง หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องด้านเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการผลิต และการตลาด พร้อมช่วยลดต้นทุนการผลิตสมาชิกกลุ่มเกษตรกร ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาดมากขึ้น
ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรจำนวน 5,618 แห่ง มีสมาชิกจำนวน 618,841 ครอบครัว เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องเงินทุนให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ได้มาตรฐานกลุ่มเกษตรกร โดยพิจารณาให้ตามศักยภาพของสถานะการเงินของแต่ละกลุ่มเกษตรกร และสภาพของกิจกรรมการผลิตและการตลาดที่นำเสนอตามโครงการฯ หรือที่มีประวัติเดิมว่าเคยกู้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้สามารถใช้เครดิตจากวงเงินกู้เดิมได้ เพื่อนำไปจัดสรรให้กลุ่มเกษตรกรกู้ยืมเป็นเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 2,000 กลุ่ม ในพื้นที่ 77 จังหวัด และเงินจ่ายขาด จำนวน 10 ล้านบาท จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลาชำระคืน 5 ปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการของกลุ่มเกษตรกรในระดับจังหวัด รวมถึงการเร่งรัดการชำระหนี้เงินกู้และแก้ไขปัญหาของกลุ่มเกษตรกรให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับผู้แทนคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ ได้กำหนดเงื่อนไขในการสร้างเงินทุนภายในของกลุ่มเกษตรกร คือ กลุ่มเกษตรกรที่จะขอรับการสนับสนุนเงินทุน จะต้องทำโครงการ/แผนงาน เพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต การรวบรวมและการแปรรูปผลผลิต เพื่อการตลาดผลผลิตทางการเกษตร โดยจะพิจารณาให้กลุ่มเกษตรกรได้รับเงินกู้เป็นไปตามเงื่อนไขและกรอบวงเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย และมีระยะเวลากู้หมุนเวียนในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ในแต่ละรอบการผลิตตามชนิดการผลิตของพืช สัตว์ และประมง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาด เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องด้านเงินทุนหมุนเวียนให้กับกลุ่มเกษตรกร และเพื่อลดความเสี่ยงจากการคืนเงินทุนให้กับกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จึงได้กำหนดวิธีการให้เงินกู้เฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ได้มาตรฐานกลุ่มเกษตรกรจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยพิจารณาตามศักยภาพของสถานะการเงินของแต่ละกลุ่มเกษตรกร และสภาพของกิจกรรมการผลิตและการตลาดที่นำเสนอตามโครงการ หรือที่มีประวัติเดิมว่า เคยกู้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สามารถใช้เครดิตจากวงเงินกู้เดิม
"หลักการสำคัญในการให้เงินกู้ยืมแก่กลุ่มเกษตรกรแต่ละกลุ่มต้องยึดหลักความมีอิสระ ในการตัดสินใจในการจัดหาปัจจัยการผลิต การแปรรูป เพื่อดำเนินการผลิตและการตลาดด้วยความสมัครใจเป็นสำคัญ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร จากตัวเกษตรกรเอง เมื่อคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกร ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ กำหนดเป้าหมายและกรอบวงเงินกู้ของกลุ่มเกษตรกรในแต่ละกลุ่ม โดยเรียงลำดับตามความสำคัญแล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานสหกรณ์จังหวัด จะรับหลักการเป้าหมายดังกล่าวนำไปพิจารณาการให้เงินทุน เพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมพัฒนากลุ่มเกษตรกรเพื่อการกู้ยืมต่อไป" นายสุรพล กล่าว
ในส่วนโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกรวงเงิน 500 ล้านบาท จะสิ้นสุดโครงการฯ ในเดือนกันยายน 2559 ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ขอขยายระยะเวลาดำเนินการออกไปอีก 1 ปี เป็นสิ้นสุด ปี 2560 และเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 ได้มีการประชุมคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร ครั้งที่ 1/2559 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2559 ภายใต้มาตรการขยายเวลาการชำระหนี้ งดและลดดอกเบี้ย และงดคิดค่าเบี้ยปรับ จากเดิมที่กรมส่งเสริมสหกรณ์มีโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรกรแก่สถาบันเกษตรวงเงิน 1,000 ล้านบาทเศษ โครงการสิ้นสุด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2556 และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ให้ขยายเวลาชำระหนี้ให้กับลูกหนี้โครงการฯ ออกไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นการบังคับคดี ขณะนี้มีหนี้คงค้างชำระคืนกองทุนฯ เพียง 8 ล้านบาทเศษเท่านั้น โครงการนี้จึงเป็นการต่อยอดจากโครงการ 1,000 ล้านบาทเดิม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ยกร่างคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ ระดับกรม จัดทำประมาณการวงเงินกู้ยืมให้แต่ละจังหวัด ผ่านคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ เพื่อเสนอคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ ระดับกรมอนุมัติ และเมื่อกองทุนฯ โอนเงินให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ก็จะเร่งโอนเงินให้ทั้ง 77 จังหวัดทันที
อินโฟเควสท์