- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 28 February 2016 12:50
- Hits: 1433
ประเมินผล ศพก.ภาค ตอ. สศท.6 เผย เกษตรกรพอใจ พร้อมกลับมาอบรมครบหลักสูตรแน่นอน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลการอบรมของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ในระยะที่ 1 ของภาคตะวันออก เผย เกษตรกรที่เข้ารับการอบรมพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการในระดับดี และมั่นใจที่จะกลับมาอบรมให้ครบหลักสูตรทั้ง 3 ระยะแน่นอน
นางบุบผา ภู่ละออ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6จังหวัดชลบุรี (สศท.6)สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/2559 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรรวม 3 ระยะ (ระยะละ 5 วันในแต่ละเดือน ระหว่างกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2559)
สำหรับ การดำเนินงานในส่วนของภาคตะวันออก สศท.6 จังหวัดชลบุรี และ สศท.6ส่วนแยกฉะเชิงเทรา ได้ติดตามประเมินผลการอบรมของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)ในระยะที่ 1 โดยสัมภาษณ์เกษตรกรพื้นที่จังหวัดชลบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ รวม 300 ราย ซึ่งจากการติดตาม พบว่า แต่ละ ศพก. มีจุดเด่นที่คล้ายคลึงกัน คือ ทุก ศพก. ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตรและการดำเนินชีวิต โดยแต่ละศูนย์จะแตกต่างกันในการลงลึกรายละเอียดแต่สินค้าเกษตรตามสภาพพื้นที่ เช่น เน้นด้านการใช้แตนเบียนในการกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว หรือเทคนิคการปลูกพืชผักสวนครัวใช้น้ำน้อยสร้างรายได้ เป็นต้น
ด้านเนื้อหาและวิทยากร พบว่า ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายอาสาสมัครเกษตรของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะเน้นด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และวิทยากรจากภายนอกกระทรวงเกษตรฯ เช่น กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเติมเต็มเนื้อด้านการตลาดให้ครบรอบด้านมากขึ้น โดยลักษณะการถ่ายทอดองค์ความรู้มีทั้งการบรรยาย ยกตัวอย่าง เล่าประสบการณ์ และการพาไปดูของจริงและทดลองทำตามฐานการเรียนรู้ด้านการผลิตต่าง ๆ ในพื้นที่ของ ศพก.
นอกจากนี้ การอบรมยังเน้นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในสมาชิกเกษตรกรที่มาอบรมร่วมกัน การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางประชารัฐ การดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การลดต้นทุนลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การยึดหลักผลิตผสมผสานทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การบริหารจัดการดิน บริหารจัดการน้ำ บริหารจัดการกลุ่ม ทิศทางการตลาดสินค้าเกษตรที่สำคัญและการพัฒนาตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการในท้องถิ่น ซึ่งมีเกษตรกรเข้ารับการอบรมโดยเฉลี่ย 50 รายต่อรุ่น
ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ทราบข่าวการรับสมัครเข้าร่วมโครงการจากผู้นำชุมชน และมีเกษตรตำบลเป็นผู้ดูแลให้การอำนวยความสะดวก โดยเกษตรกรเห็นว่า ได้รับประโยชน์ ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติม และมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการ ทั้งด้านความพร้อมของ ศพก. การถ่ายทอดองค์ความรู้ และด้านการประชาสัมพันธ์รายละเอียดโครงการ ในระดับดี โดยเกษตรกรไม่มีปัญหาในการเข้ารับการอบรม เนื่องจากอยู่ใกล้บ้านภายในอำเภอเดียวกันอีกทั้งหลักสูตรอบรมตรงกับความต้องการ และแสดงความมั่นใจว่า จะมาร่วมอบรมจนครบหลักสูตรทั้ง 3 ระยะ ซึ่ง สศท.6 มีแผนดำเนินการติดตามประเมินผลการอบรมทั้ง 3 ระยะอย่างต่อเนื่อง นางบุบผา กล่าวทิ้งท้าย
ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร