- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 24 February 2016 22:56
- Hits: 3501
ซีพี จับมือ AG Processing Inc ผู้ผลิตกากถั่วเหลืองรายใหญ่สหรัฐร่วมตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบตลอดห่วงโซ่อุปทานสู่การจัดหายั่งยืน
กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยความร่วมมือกับ เอจี โพรเซสซิ่ง อิงค์ (AG Processing Inc) ซึ่งเป็นผู้ผลิตกากถั่วเหลืองรายใหญ่ของสหรัฐฯ จัดทำ 'โครงการความร่วมมือในการพัฒนาระบบการจัดหากากถั่วเหลืองอย่างยั่งยืน' เพื่อตอกย้ำนโยบายจัดหาอย่างยั่งยืนและตรววจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่การผลิตของทั้งคู่ค้าและบริษัท เพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายสมชาย กังสมุทร กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคัณฑ์ กล่าวว่า โครงการความร่วมมือในการพัฒนาระบบการจัดหากากถั่วเหลืองอย่างยั่งยืน (Development of a Sustainable Supply of Soybean Meal System” ภายใต้แนวความคิด “ร่วมคิด ร่วมสร้าง สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน” (Partnership for Mutual Growth)” เกิดขึ้นเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของบริษัทในการเดินหน้าตามนโยบายความยั่งยืนในห่วงโซ่การผลิตในระยะยาวอย่างแท้จริง หลังจากที่บริษัทได้มีการส่งมอบนโยบายและแนวปฏิบัติให้กับคู่ค้าในประเทศ สำหรับคู่ค้าธุรกิจหลักในกลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ ประกอบด้วย ปลาป่นและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
โครงการความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 3 ปี โดยมีเป้าหมายและแนวทางความร่วมมือหลัก 7 ประการ คือ 1.ความร่วมพัฒนาระบบตรวจสอบย้อยกลับตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Traceability System) ตั้งแต่โรงงานสกัดน้ำมัน จนถึงแหล่งเพาะปลูกถั่วเหลือง, 2.ร่วมจัดทำมาตรการและแนวทางการกำกับดูแลด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน ให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจ 3.ร่วมพัฒนากระบวนการบริหารจัดการเพื่อทำให้แน่ใจว่าแหล่งเพราะปลูกต้องไม่มีการบุกรุกทำลายป่า 4.มีแผนการส่งเสริมเกษตรกรอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนและการดำเนินการเพาะปลูกอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติตามมาตรฐานสากล 5.แลกเปลี่ยนรายละเอียดการพัฒนาความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงพัฒนาเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความเป็นเลิศด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน 6.ร่วมประเมินความท้าทายและหาแนวทางแก้ไขสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเติบโตอย่างต่อเนื่อง และ 7.ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน
“ความร่วมมือกับคู่ค้ากันในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่ายให้มีความมั่นคงมากขึ้น ทั้งในด้านการตลาดและแหล่งที่มาของวัตถุดิบของเครือเจริญโภคภัณฑ์บนพื้นฐานความถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาแรงงาน การบุกรุกพื้นที่ป่า และการทำลายสิ่งแวดล้อม” นายสมชาย กล่าวย้ำ
นาย เครก พีทีก (Mr. Craig Pietig) ผู้แทนของเอจี โพรเซสซิ่ง อิงค์ หรือ AGP กล่าวว่า AGP เป็นผู้นำธุรกิจเกษตรตลาดถั่วเหลืองของสหรัฐอเมริกา มีสหกรณ์ในเครือทั้งระดับท้องถิ่นและภูมิภาครวม 175 แห่งซึ่งเป็นตัวแทนของเกษตรกรปลูกถั่วเหลืองกว่า 250,000 รายอยู่ใน 13 มลรัฐทั่วประเทศ มีกำลังการผลิตถั่วเหลือง 15,000 ตันต่อวัน เราตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนเป็นรากฐานสำคัญของเกษตรกรรมและสนับสนุนการสร้างความยั่งยืนในเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง ดังนั้นความร่วมมือระหว่าง AGP กับกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการสร้างยั่งยืนในห่วงโซ่การผลิต ทั้งเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภคในระยะยาว
นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯตระหนักดีว่าการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาวัตถุดิบเป็นกระบวนการที่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันบริษัทยังให้การส่งเสริมเกษตรกรนำแนวปฏิบัติการทำเกษตรอย่างยั่งยืนมาประยุกต์ใช้อย่างถูกวิธีเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
เมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ประกาศหลักการความยั่งยืน (Charoen Pokphand Group Sustainability Principles) โดยยึดมั่นในหลักปรัญญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนที่มุ่งสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม และบริษัท ด้วยตระหนักดีถึงบทบาทการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดาเนินธุรกิจภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ทั้ง 17 ประการ (United Nations Sustainable Development Goals) โดยกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีเจตนารมณ์ที่จะมีส่วนร่วมสนับสนุนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้เลือกดำเนินการตามเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ ความมั่นคงทางอาหารและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน โดยจะส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในห่วงโซ่อุปทานให้สามารถเพิ่มผลผลิตขึ้น 2 เท่า และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรรายย่อยภายในปี 2030 รวมถึงการพิทักษ์และส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของระบบนิเวศน์บนบกและจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยจะร่วมลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการบุกรุกทำลายป่าผ่านการจัดทำระบบตรวจสอบแห่งที่มาของวัตถุดิบ