- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 22 February 2016 22:53
- Hits: 5167
ชมรมรถเกี่ยวนวดข้าวไทย จัดมหกรรม รถเกี่ยวนวดข้าวไทยและเครื่องมือการเกษตร
บ้านเมือง : คนทำชาวนา-รายงาน : ข้าวเป็นธัญญาหารหลักของชาวโลก จัดเป็นพืชสายพันธุ์เดียวกับหญ้า ซึ่งนับได้ว่าเป็นหญ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมีความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกขึ้นได้ง่ายมีความทนทานต่อทุกสภาพภูมิประเทศในโลก ไม่ว่าเป็นถิ่นแห้งแล้งแบบทะเลทราย พื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง แม้กระทั่งบนเทือกเขาที่หนาวเย็น ข้าวก็ยังงอกขึ้นมาได้อย่างทรหดอดทน โดยเฉพาะในประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกข้าวได้เกือบทั้งประเทศ และบางพื้นที่ปลูกได้ผลผลิตดีมีคุณภาพเป็นที่ขึ้นชื่อมากมาย อาทิ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด ข้าวสังข์หยด จังหวัดพัทลุง เป็นต้น
นายวิชาญ พิมพ์เจริญ ประธานชมรมรถเกี่ยวนวดข้าวไทย เปิดเผยว่า จากหลักฐานข้าวชนิดแรกที่มนุษย์รู้จักนำมากิน คือข้าวป่า โดยพบเมื่อประมาณ 13,000 ถึง 16,000 ปี ช่วงยุคน้ำแข็งได้สิ้นสุดลง สัตว์ใหญ่หลายชนิดเริ่มสูญพันธุ์ไป มนุษย์จึงต้องลดบทบาทการล่าสัตว์ แล้วหันมาสะสมข้าวป่าและพืชเพื่อเป็นอาหาร สายพันธุ์ข้าวที่มีอยู่บนโลกนี้มีมากถึง 120,000 สายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่รู้จักและนำมาปลูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ โอไรซ่า ซาวิทา ที่นิยมปลูกในทวีปเอเชีย และ โอไรซ่า เกอเบอร์ริน่า ที่นิยมปลูกในทวีปแอฟริกา แต่ข้าวที่ปลูกและซื้อขายกันในตลาดโลกส่วนมากเป็นข้าวจากทวีปเอเชีย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะและพื้นที่ปลูกได้ ดังนี้
1.ข้าวอินดิกา หรือข้าวเจ้า เป็นข้าวที่ลักษณะเม็ดเรียวยาวรี ลำต้นสูง ตั้งชื่อมาจากแหล่งที่ค้นพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย เป็นข้าวที่นิยมเพาะปลูกในทวีปเอเชียเขตมรสุม ตั้งแต่ จีน, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, ไทย, อินโนดีเซีย ไปจนถึงอินเดีย และศรีลังกา ต่อมาแพร่ขยายเพาะปลูกอยู่ในทวีปอเมริกา เฉพาะในเมืองไทยข้าวอินดิกานิยมเพาะปลูกในบริเวณที่ราบลุ่มตอนใต้ของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วแทนข้าวเหนียวที่เคยปลูก ซึ่งคนไทยสมัยนั้นเรียกข้าวอินดิกาที่มาจากต่างประเทศว่า "ข้าวของเจ้า" แล้วเรียกกันสั้นลงเหลือเพียง "ข้าวเจ้า" มาจนถึงทุกวันนี้
2.ข้าวจาปอนิกา เป็นข้าวเหนียวเมล็ดป้อมกลมรี มีแหล่งกำเนิดจากทางภาคเหนือ ผ่านมาทางลุ่มแม่น้ำโขงในสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 หลังจากนั้นลดจำนวนลงไป แพร่หลายในเขตอบอุ่นที่ญี่ปุ่น, เกาหลี, รัสเซีย, ยุโรป และอเมริกา 3.ข้าวจาวา นิกา เป็นข้าวลักษณะเมล็ดป้อมใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นข้าวพันธุ์ผสมระหว่างข้าวอินดิกา และจาปอนิกา นิยมเพาะปลูกในอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, หมู่เกาะริวกิว และญี่ปุ่น แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก เพราะให้ผลผลิตต่ำ ประเทศต่างๆ ในโลกต่าง ก็มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกข้าว และวิธีการปลูกข้าวให้ได้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตำนานเกี่ยวกับข้าวของแต่ละชาติต่างก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนานต่างกันไป
ปัจจุบันการปลูกข้าวในประเทศไทยคงมีเพียงข้าวเมล็ดป้อมที่พบมากในภาคเหนือ และภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ข้าวเมล็ดยาวพบมากในภาคกลาง และภาคใต้ ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ปลูกข้าวคิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดีที่สุดของโลก ข้าวที่ปลูกในพื้นที่แถบนี้จึงมักปลูกไว้เพื่อขาย รองลงมาคือ ภาคกลาง และภาคเหนือ มีพื้นที่เพาะปลูกเท่ากันประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทุกวันนี้ประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ผลิตออกสู่ตลาดโลกมากที่สุด และเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิจัยพันธุ์ข้าว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทของ ผู้สร้างตำนานแห่งอารยธรรมธัญญาหารของมนุษยชาติ
ขณะที่ ดร.ฉลวย ขันจำนงค์ รองประธานชมรมรถเกี่ยวนวดข้าวไทย เปิดเผยว่า ทางชมรมเห็นถึงความสำคัญของชาวนาไทย จึงได้จัดงานรวบรวมเครื่องมือการเกษตร ซึ่งในงานมีบริษัทที่ผลิตรถเกี่ยวนวดข้าว จะนำรถเกี่ยวนวดข้าวมาแสดงเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันรถเกี่ยวนวดไทยได้ส่งไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายประเทศ เช่น ลาว พม่า เขมร และเวียดนาม เฉพาะในประเทศไทยมีเกษตรกรคือชาวนาที่นิยมใช้รถเกี่ยวนวดข้าวไทย งานนี้เป็นโอกาสให้บริษัทอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเกษตรมาพบปะกับชาวนาโดยตรง จึงเป็นผลดีกับเกษตรกรและทางชมรมรถเกี่ยวนวดข้าวไทย จึงถือโอกาสจัดงานพบปะสังสรรค์ประจำปี 2559 ของผู้ประกอบการรถเกี่ยวนวดข้าวเพื่อสร้างความร่วมมือ ร่วมใจ ความสามัคคี เพื่อคืนความสุขให้กับผู้ประกอบการรถเกี่ยวนวดข้าว โดยงานกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 20-21 ก.พ.นี้ ณ ลานอเนกประสงค์ อู่ไทยเจริญการช่าง ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ตำบลไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี
ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเชื่อมความสามัคคีของผู้ประกอบการรถเกี่ยวนวดข้าวไทย เพื่อสร้างมาตรฐานเครื่องมือการเกษตรไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ตามนโยบายของชมรม และสร้างจิตสำนึกให้เกิดความร่วมมือร่วมใจเพื่อเป็นการเสริมสร้างแนะนำให้ความรู้ และกระตุ้นผู้ผลิตผู้ประกอบการให้ตื่นตัว เป็นการพัฒนาตนเองให้ทันต่อสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งและพัฒนาความเป็นเอกลักษณ์ของรถเกี่ยวนวดข้าวไทยให้ยั่งยืน คู่กับเกษตรกรไทย และประเทศไทยตลอดไป