- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 08 May 2014 22:59
- Hits: 3951
สศข.2 ลุยพื้นที่ 3 จังหวัดกว่า 2 ร้อยครัวเรือน เก็บข้อมูลต้นทุนยางพารา ปี 56
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 2 เจาะพื้นที่เก็บข้อมูลต้นทุนยางพารา ปี 56 กว่า 2 ร้อยครัวเรือน ใน 3 จังหวัด (อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน) เผย มีเนื้อที่เพาะปลูก 211,407 ไร่ เป็นเนื้อที่เปิดกรีดแล้ว 36,430 ไร่ ระบุ เกษตรกรมีรายได้ต่อครัวเรือนลดลงจากปี 55 กว่าครึ่ง ในขณะที่พื้นที่ปลูกยางพารากลับเพิ่มขึ้น
นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 2 พิษุโลก (สศข.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการเก็บข้อมูลต้นทุนยางพารา ในช่วงเดือนเมษายน 2557 ตามแผนการดำเนินงานวิจัยและประเมินผลปีงบประมาณ 2557 เพื่อติดตามวิถีการปลูกสวนยางพาราของครัวเรือนเกษตรในรอบปีที่ผ่านมาว่า ไทยนับเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจด้านการผลิตยางพารา ซึ่งจากแนวโน้มความต้องการบริโภคยางพาราทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันเกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วประเทศให้ความสนใจในการผลิตยางพาราเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่ายางพาราน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าพืชเดิมที่เคยปลูก ถึงแม้ว่าในบางช่วงระยะเวลาจะประสบปัญหาราคายางตกต่ำ โดยในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน ปี 2556 มีการปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น รวมเป็นเนื้อที่เพาะปลูกทั้งสิ้น 211,407 ไร่ เป็นเนื้อที่เปิดกรีดแล้วจำนวน 36,430 ไร่ เพิ่มจากในปี 2551 ที่มีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 83,389 ไร่ เป็นพื้นที่กรีดแล้วจำนวน 2,624 ไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งปลูกใหม่ และยังไม่มีการศึกษาผลตอบแทนทางการเงินในการลงทุนปลูกยางพารา ซึ่งมีความเสี่ยงกับเกษตรกร
ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตยางพาราของเกษตรกรในภาคเหนือในพื้นที่จังหวัด อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งปลูกใหม่ จึงได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนผลิตโดยมุ่งนำเสนอผลการศึกษาทางด้านสภาพการผลิต การตลาด รวมทั้งผลตอบแทนทางการเงินที่เกษตรกรได้รับจากการผลิตตลอดช่วงอายุการผลิต ซึ่งมีเกณฑ์การพิจารณาจากมูลค่าปัจจุบันสุทธิ อัตราส่วนผลได้ต่อต้นทุน และอัตราผลตอบแทนจากการผลิต การวิเคราะห์ความอ่อนไหวภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลงต้นทุนค่าใช้จ่ายและรายได้เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผลิต ตลอดจนทดสอบค่าความแปรเปลี่ยนของโครงการ ทำให้ทราบถึงระดับสูงสุดของต้นทุนการผลิต และระดับต่ำสุดของผลตอบแทนที่สามารถเกิดขึ้นได้หากคำนึงถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งเกษตรกรและผู้ที่สนใจสามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณาเลือกตัดสินใจผลิตเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงและก่อให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ในการกำหนดแนวทางส่งเสริมและพัฒนาdการผลิตยางพาราในพื้นที่แหล่งใหม่ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
ในการนี้ จากการสุ่มสำรวจจากเกษตรกรชาวสวนยางพารา ในพื้นที่จังหวัด อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน รวมมากกว่า 200 ครัวเรือน พบว่าร้อยละ 90 จำหน่ายผลผลิตในรูปเศษยาง โดยราคาเฉลี่ยในท้องถิ่นกิโลกรัมละ 34 บาท ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ต่อครัวเรือนลดลงจากปีก่อนร้อยละ 50 ทั้งนี้ การจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปี ระหว่างเดือนมกราคม ถึง ธันวาคม 2556 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการสำรวจเบื้องต้น ถึงแม้ว่ารายได้ต่อครัวเรือนของเกษตรกรชาวสวนยางจะลดลง แต่พื้นที่ปลูกยางพารากลับสวนทางเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสาเหตุมาจากเมื่อต้นปีงบประมาณ ปี 2555 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา เกษตรกรจึงเชื่อว่าราคายางคงจะไม่ตกต่ำ เป็นเหตุให้พื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้นในปี 2556 นอกจากนี้ เกษตรกรก็ยังมีความเห็นว่ายางพาราเป็นพืชที่ดูแลรักษาง่าย และมีอัตราเสี่ยงน้อยกว่าพืชชนิดอื่นๆ อีกด้วย นายชวพฤฒ กล่าวทิ้งท้าย
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร