- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 17 February 2016 10:02
- Hits: 2807
11 สมาคมปศุสัตว์ ยื่นหนังสือค้านไทยเข้าร่วมวง TPP หวั่นทำธุรกิจเสียหาย
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สมาคมที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ 11 แห่งได้ยื่นหนังสือให้ น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้า เพื่อคัดค้านการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เพราะจะทำให้เสียเปรียบสหรัฐฯ สมาชิก TPP และผู้ผลิตปศุสัตว์รายใหญ่ของโลก เนื่องจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของสหรัฐฯ มีความได้เปรียบทั้งต้นทุนการผลิตที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ถูกกว่าไทย สามารถส่งออกชิ้นส่วนสุกรมาไทย เช่น เครื่องใน ซึ่งตลาดสหรัฐฯไม่นิยมบริโภค ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมสุกรทั้งระบบของไทยไม่ต่ำกว่า 350,000 ล้านบาท หากนับรวมปศุสัตว์อื่นจะมีความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกหลายแสนล้านบาท
"อยากให้รัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อรากหญ้าด้วย ถ้ารัฐบาลยืนยันจะเข้าร่วม และเจรจาลดภาษีปศุสัตว์ จะส่งผลกระทบต่อไทยแบบเดียวกับที่เจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย หรือเอฟทีเอไทย-นิวซีแลนด์" นายสุรชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มปศุสัตว์สนับสนุนรัฐบาลในการเข้าร่วมการเจรจาการเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซพ) แทน TPP เพราะหากการเจรจาสำเร็จจะทำให้สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมกลุ่มเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรรวมกว่า 3,700 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของประชากรโลก
นอกจากนี้ ยังต้องการให้ภาครัฐเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษา ผลกระทบ ความได้เปรียบเสียเปรียบจากการเข้าร่วมทีพีพี ที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์ศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว ให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดด้วย
ด้าน น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯจะนำข้อคัดค้านของกลุ่มปศุสัตว์ หารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเร็วๆ นี้ และจะจัดทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศในทุกเดือน ซึ่งทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบสามารถนำเสนอข้อมูลเข้ามาได้ หลังจากนั้นจะสรุปและเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเร็วที่สุด
"กรมฯไม่สามารถสรุปและตัดสินได้ว่าจะเข้าร่วมเจรจาทีพีพีหรือไม่ ต้องรอรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนนำมาจัดทำข้อสรุป และแนวทางเยียวยาผลกระทบ เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ส่วนผลการศึกษาเกี่ยวกับการเข้าร่วมทีพีพี ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการขั้นสุดท้าย หากเสร็จสิ้นแล้วจะเปิดเผยต่อสาธารณชนได้แน่นอน" น.ส.สุนันทา กล่าว
อินโฟเควสท์
ปศุสัตว์พินาศ 3.5 แสนล้าน 11 องค์กรรวมพลต้านไทยร่วมทีพีพี
แนวหน้า : นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้เป็นตัวแทนกลุ่มสมาคมภาคปศุสัตว์ 11 สมาคม เข้ายื่นหนังสือต่อรองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อคัดค้านการเข้าร่วมเจรจาเป็นภาคีสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP อย่างเต็มที่ 100% เพราะจะทำให้ภาคปศุสัตว์เสียเปรียบ และได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรที่ คาดว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่า ไม่ต่ำกว่า 350,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย
สำหรับ สิ่งที่ทั้ง 11 สมาคมต้องการทวงจากรัฐบาล ประกอบด้วย 1.ขอให้ทุกภาคอุตสาหกรรมดำเนินการทำตัวเลขประมาณการความเสียหาย และผลที่คาดว่าจะได้รับจากการที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก TPP โดยให้กระทรวงพาณิชย์จัดเตรียมรูปแบบในการจัดทำเพื่อให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกันเพื่อที่จะง่ายต่อการทำความเข้าใจและตรวจสอบความถูกต้องของตัวเลข และสมมุติฐานในการจัดทำ 2.ให้ทุกภาคอุตสาหกรรมสรุปตัวเลขที่ไม่สามารถสร้างการค้าได้เลยจากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ประเทศไทยได้ลงนามไปแล้ว พร้อมแจงเหตุผลพร้อมระบุข้อกีดกันทางการค้าที่ประสบจากประเทศที่เราได้ร่วมทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไปแล้ว
3.ให้กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยทำตัวเลขสะสมตั้งแต่ดำเนินการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทั้งหมด ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันแยกเป็นรายประเทศ รายอุตสาหกรรม ประกอบเหตุผลของการไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือถูกกีดกันทางการค้า พร้อมทั้งแนวนโยบายในการแก้ปัญหาที่เกิดแนวทางปฏิบัติ และกรอบเวลาในการแก้ปัญหาจนประสบความสำเร็จ และ 4.ให้นำข้อเสนออื่นๆ จากทุกภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจ เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก TPP หรือไม่ ซึ่งจะเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการมีส่วนร่วมมากขึ้นในการนำพาประเทศชาติเดินไป ข้างหน้าร่วมกันทั้งจากภาครัฐและเอกชน
"ก่อนหน้านี้ภาคปศุสัตว์ได้เคย เสนอและคัดค้านการเข้าร่วม TPP ไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐ จึงขอทวงข้อเสนออีกครั้ง เพื่อให้รัฐบาลมีการพิจารณาให้รอบด้าน ในการตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม แต่ทั้งนี้สมาคมภาคปศุสัตว์ ต้องการให้ไทยสนับสนุนการเดินหน้า ตามกรอบ ASEAN+6 หรือ RCEP ที่เป็นทางเลือกที่ไม่ก่อภัยอันตรายต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย"
นางสาวสุนันทา กังวานกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่าจะรับเรื่องไปหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยกรม ได้จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศทุกเดือนในทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบเพื่อหาข้อสรุป และนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ภาครับได้เตรียมมาตรการเยียวยาไว้เบื้องต้นแล้ว แต่ยังต้องรอรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เพื่อ นำมากำหนดรายละเอียด เพื่อให้สามารถลดผลกระทบได้มากที่สุด ส่วนผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากการเข้าร่วมทีพีพีที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์ได้ศึกษา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขั้นสุดท้าย คาดว่าจะสามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้เมื่อศึกษาเป็นที่เสร็จสิ้นแล้ว