- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 16 February 2016 23:14
- Hits: 2111
บทความพิเศษ เรื่องเทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทย แก้ปัญหาภัยแล้งระดับชาติ ( ตอนที่ 1 )
ปริมาณน้ำฝนที่ตกในประเทศไทยเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 1,700 มิลลิเมตร คิดเป็นปริมาณมวลน้ำก็จะอยู่ประมาณ 800,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อย่าเพิ่งดีใจไปว่าเยอะเพราะบางส่วนซึมลงสู่ชั้นใต้ดินบ้าง และระเหยคืนกลับสู่ชั้นบรรยากาศบ้าง เหลือเพียง 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือประมาณเกือบ 30% ที่กระจัดกระจายไปตามเขื่อนใหญ่และเขื่อนขนาดกลางต่างๆ กว่า 650 แห่ง รวมถึงเช็คแดม ห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ เฉลี่ยแล้วเก็บน้ำได้เพียงปีละ 70,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกมาทั้งหมด ซึ่งน้ำส่วนที่เหลือตามนี้ก็ยังถูกปล่อยทิ้งลงสู่ทะเลไปแบบไร้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
จากข้อมูลดังกล่าว ประเทศไทยเราจึงอยู่บนความเสี่ยงที่จะเจอกับปัญหาภัยแล้งมาก โดยเฉพาะตัวเลขสถิติที่สามารถจับต้องได้จากกรมทรัพยากรน้ำ ก็ยิ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภัยแล้งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชไร่ไม้ผล ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้น้ำเป็นปัจจัยหลักในการเพาะปลูก และนอกจากปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เกิดขึ้นในทุก 4-5 ปี แต่บางทีก็อาจไม่ได้เกิดจากเอลนีโญไปเสียทั้งหมด เพราะจากภัยแล้งต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี 2557 ยังคาดการณ์กันว่าน่าจะแล้งยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2559 นี้
ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสถานการณ์โลกร้อน (Global Warming) และเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตามสภาพแวดล้อมและปัจจัยของโลก ที่ไม่น่าจะเหมือนเดิมอีกต่อไปหรืออาจจะเรียกว่าเลวร้ายกว่าเดิม โดยเราสามารถสังเกตความแปรปรวนนี้ได้จากช่วงปลายเดือนมกราคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กับอุณหภูมิตั้งแต่ติดลบไปจนถึงสิบกว่าองศาเซลเซียส ที่เข้ามาปกคลุมบ้านเราแบบกะทันหันเกือบค่อนประเทศ และแว่วๆ มาว่าในอีกไม่ช้านี้ก็จะมีหย่อมความกดอากาศสูงจากจีนอีกระลอกหนึ่งเข้ามาอีก สภาพการณ์นี้ก็สามารถชี้ให้เห็นถึงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่แปรปรวน ซึ่งพวกเราชาวไทยจะได้สัมผัสกับอากาศหนาวกันแบบรายสัปดาห์กันเลยทีเดียว (หนาว 1 สัปดาห์ ร้อน 1สัปดาห์) แต่อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดความสูญเสียต่อผลผลิตภาคการเกษตรอีกก็เป็นได้
จากปัจจัยลบหลายๆ ด้านที่กล่าวมานี้ ทำให้เรามิอาจนิ่งนอนใจหรือรอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือขอความช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ระบบการชลประทานที่เราฝันกันว่าจะมีให้เกษตรกรได้อย่างทั่วถึงทุกหมู่บ้าน หรือทุกพื้นที่การเพาะปลูกก็คงจะนานเกินรอ หรือจะมัวหวังให้มีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำให้เพิ่มมากขึ้น อาจจะเรียกว่าเป็นความหวังลมๆ แล้งเสียก็ว่าได้ เพราะพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการสร้างเขื่อนก็เหลือน้อยเต็มที รวมถึงการประท้วงต่อต้านการสร้างเขื่อนจากองค์กรต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับทุนสนับสนุนมาจากต่างประเทศ ที่ดูๆ ไปเหมือนประเทศเหล่านั้นจะรู้ว่าถ้าเราสามารถบริหารจัดการน้ำได้เพียงพอ เราก็จะร่ำรวยมั่งคั่งเกินหน้ากว่าเขาเป็นแน่แท้ และเมื่อไม่สามารถสร้างเขื่อนหรือฝายเก็บน้ำได้ ประเทศที่มีความโดดเด่นเชี่ยวชาญเรื่องเกษตรกรรม แผ่นดินที่เคยได้ชื่อว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”ก็อาจกลายเป็นเพียงแค่ตำนาน
ปัจจุบันประเทศไทยเรามีขนาดพื้นที่ประมาณ 512,000 ตารางกิโลเมตร หรือถ้าคิดเป็นจำนวนไร่ ก็มี 320,696,888 ไร่ มีพื้นที่เพาะปลูกด้านการเกษตรอยู่ 149,236,233 ( สถิติปี 2556 ของสำนักเศรษฐกิจการเกษตรที่ได้รวบรวมไว้เมื่อปี 2557 ) และถ้าเรามองย้อนกลับไปเมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้วก็จะพบว่าพื้นที่การเกษตรของเราลดลงอย่างมาก เพราะเมื่อปี 2553 เรายังมีพื้นที่ใช้สอยทางการเกษตรอยู่ที่ 149,416,681 ไร่ ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วหายไป 180,449 ไร่ และส่วนที่เหลือก็จะเป็นพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่นอกการเกษตรและพื้นที่อื่นๆ ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามเรายังมีทางเลือกอยู่เสมอ เช่น การน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการสร้างสระนำประจำไร่นา สระน้ำแก้มลิง ให้มากเพียงพอต่อการเพาะปลูกในพื้นที่ของเราเอง เรียกได้ว่าสระน้ำประจำฟาร์มส่วนตัวของเกษตรกร เพื่อรองรับกับปริมาณน้ำฝน ซึ่งจะขอยกยอดเรื่องเทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทย แก้ปัญหาภัยแล้งระดับชาติไปไว้ในฉบับหน้าหรือตอนที่ 2 ครับ
สนับสนุนบทความโดย นายมนตรี บุญจรัส กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)