- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 14 February 2016 16:29
- Hits: 1630
ก.เกษตรฯ เกาะติดโครงการอนุรักษ์และพัฒนากระบือ ชูผลสำเร็จ หนุนอาชีพปศุสัตว์ ช่วยเกษตรกรได้อย่างดี
ก.เกษตรฯ ปูพรมพื้นที่ อุทัยธานี แพร่ และ เชียงราย ติดตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตกระบือ สศก. เผย ผลติดตามประสบผลสำเร็จ เกษตรกรมีกระบือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายละ 4 ตัว สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลกระบือเพื่อใช้เอง และสร้างรายได้จากการขายมูลกระบืออีกทางด้วย
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ว่า ปัจจุบันกระบือไทยลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจากปัญหาการบริโภคภายในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีนโยบายเร่งด่วนในการอนุรักษ์และเพิ่มผลผลิตกระบือ โดยดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตกระบือ เพื่อเร่งรัดการเพิ่มจำนวนกระบือ และอนุรักษ์และปกป้องพันธุ์กระบือ
ในการนี้ สศก. ได้ติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี แพร่ และเชียงราย ระหว่างวันที่ 18-22 มกราคมที่ผ่านมา พบว่า ผลการดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งด้านการเร่งรัดการเพิ่มจำนวนกระบือ โดยได้มีการให้สินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่านวิสาหกิจชุมชน จำนวนแห่งละ 1 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 เพื่อจัดสรรให้สมาชิก จำนวน 10 ราย รายละ 100,000 บาท นำไปซื้อกระบือเลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยผลการดำเนินงานเกินเป้าหมาย ส่งผลให้เกษตรกรมีจำนวนกระบือเพิ่มขึ้นจากก่อนมีโครงการเฉลี่ยรายละ 4 ตัว จากเป้าหมายรายละ 2 ตัว (ผลสำรวจ ตุลาคม 2558 – มกราคม 2559) เนื่องจากเกษตรกรจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมเพื่อซื้อกระบือที่กำลังตั้งท้อง ทำให้ได้ลูกกระบือเพิ่มขึ้นและยังเป็นการสร้างความมั่นใจว่าแม่กระบือที่ซื้อมาไม่เป็นหมัน
นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีรายได้จากการขายมูลกระบือ ราคาเฉลี่ยกระสอบละ 18-25 บาท รวมทั้งได้มีการสนับสนุนพ่อพันธุ์กระบือที่ดีประจำแต่ละกลุ่ม โดยการคัดเลือกพ่อพันธุ์กระบือที่มีลักษณะและคุณสมบัติที่ดีให้แต่ละกลุ่มใช้เป็นพ่อพันธุ์ 1 ตัวต่อ 1 กลุ่ม อาจเป็นกระบือที่อยู่ในหมู่บ้านหรือจัดซื้อจากภายนอกเพื่อป้องกันปัญหาสายเลือดใกล้ชิดกัน รวมทั้งด้านการพัฒนาพืชอาหารสัตว์ ที่ได้ส่งเสริมให้มีการจัดทำแปลงหญ้า เพื่อให้กระบือมีอาหารกินตลอดปี และด้านการอนุรักษ์และปกป้องพันธุ์กระบือ โดยการทำเครื่องหมายประจำตัวกระบือที่เข้าร่วมโครงการทุกตัว และจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อควบคุมตรวจสอบการเคลื่อนย้ายกระบือ
ด้านนางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ และโฆษก สศก. กล่าวเสริมว่า ผลจากโครงการดังกล่าว นอกจากจะทำให้มีการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนกระบือตามโครงการแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายด้านอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งเป็นสร้างอาชีพด้านปศุสัตว์ให้แก่เกษตรกร เพราะการเลี้ยงกระบือ ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย ซึ่งส่วนใหญ่ปล่อยเลี้ยงข้างบ้านและใช้น้ำปริมาณน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวหรือพืชไร่ ในขณะที่ตลาดยังมีความต้องการกระบือเพื่อการบริโภคสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับกระบือเลี้ยงง่าย และมีระบบการย่อยหญ้าเพื่อเปลี่ยนเป็นเนื้อได้ดีกว่าโคเนื้อ
นอกจากนี้ ยังทำให้เกษตรกรที่ปลูกข้าว เริ่มมีแนวความคิดที่จะลดพื้นที่ทำนาเพื่อเปลี่ยนเป็นแปลงหญ้าเพื่อเลี้ยงสัตว์มากขึ้น เนื่องจากลู่ทางการตลาดที่มีแนวโน้มที่ดี ใช้แรงงานน้อย มีความมั่นคงทางอาชีพมากขึ้น ประกอบกับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้เกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราเพียงร้อยละ 2 ต่อปีเท่านั้น ดังนั้น เกษตรกรจึงเริ่มเห็นถึงความคุ้มค่า และยังมีการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลกระบือใช้เองและจำหน่าย ซึ่งกระบือจะปล่อยมูลสดเฉลี่ย 25 กก./ตัว/วัน (อัตราแปลง มูลกระบือสด : มูลกระบือแห้ง เท่ากับ มูลกระบือสด 3 กก. ได้น้ำหนักมูลกระบือแห้ง 1 กก.) กระบือที่เข้าร่วมโครงการ 100,000 ตัว จะได้มูลกระบือแห้งเพื่อนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 260,000 ตัน/ปี
อย่างไรก็ตาม จากการที่มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้การจัดซื้อกระบือเป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งระยะเวลาค่อนข้างสั้นเกินไป ทำให้เกิดปัญหาการเก็งกำไรและปรับราคากระบือเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยควรปล่อยให้โครงการดำเนินไปตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อในบางแห่ง ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนหญ้าเลี้ยงสัตว์ ดังนั้น ควรมีการส่งเสริมให้มีการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ให้มากขึ้น รวมทั้งการนำพื้นที่รกร้างมาส่งเสริมการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์เพิ่มด้วย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย