- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 11 February 2016 23:52
- Hits: 3830
ทีดีอาร์ไอชี้ไทย-ชาติผู้ผลิตยาง กำหนดราคาตลาดโลกไม่ได้
นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้ไทยต้องใช้เวลาผลักดันการแปรรูปยางในประเทศให้ได้เป้า 50% พร้อมยกตัวอย่างมาเลเซียอีกชาติผู้ผลิตยางแม้ใช้เองมากกว่า 50% ก็ไม่สามารถกำหนดราคาในตลาดโลกได้...
มีรายงานว่า นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ เปิดเผยถึงนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการเพิ่มการใช้ หรือแปรรูปยางในประเทศให้ได้ถึง 50% ของผลผลิตหรือมากกว่า 2 ล้านตันจากที่ใช้อยู่ในขณะนี้ 1.4 ล้านตันว่า เป็นตัวเลขที่สูงมาก ไม่มีใครที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้เชื่อว่าจะสามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น เว้นแต่รัฐจะเอาเงินภาษีนับแสนล้านไปใช้เพื่อผลิตสินค้าที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจออกมา “เอาเข้าจริงการใช้ยางคงเพิ่มขึ้นอีกไม่กี่เปอร์เซ็นต์ และจากประสบการณ์ของมาเลเซียจะเห็นได้ว่าต่อให้ใช้หรือแปรรูปในประเทศมากกว่า 50% มากกว่าส่งออกก็ไม่สามารถกำหนดราคายางในประเทศได้
ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้ยางในประเทศ 10-15% ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคายางตกต่ำ จะเห็นได้จากในช่วงที่ราคายางปรับตัวขึ้นสูงสัดส่วนใช้ในประเทศก็อยู่ประมาณนี้ โดยสัดส่วนการใช้ยางของไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.7% ในปี 2537 เป็น 10.3% ในปี 2543 และเป็น 15% ในปี 2553 แต่ลดลงมาเหลือ 12.5% ในปี 2556-57 เพราะผลผลิตยางในไทยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมามีเพียง 3 ประเทศที่ทำการปลูกยางคือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยส่วนใหญ่น้ำยางที่ได้จะใช้เพื่อผลิตล้อยางมีสัดส่วนในองค์ประกอบ ประมาณ 25-35% ที่เหลือจะใช้ยางสังเคราะห์ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางธรรมชาติ 100% เช่น ถุงมือยาง ถุงยาง ยางวง พื้นรองเท้ายาง ส่วนใหญ่ไทยจะเป็นผู้ผลิต และส่งออก แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ปริมาณยางไม่มากเช่น กรณีถุงยางในไทยใช้ยางไม่ถึง 10,000 ตัน ถุงมือยาง 50,000-60,000 ตันต่อปีเท่านั้น
ทั้งนี้ไทยและอินโดนีเซียส่งออกยางที่ผลิตได้เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่มาเลเซียเป็นประเทศที่เริ่มทิ้งยาง หันมาปลูกปาล์มแทนตั้งแต่ 40 ปีก่อนพร้อมกับพัฒนาอุตสาหกรรมยางจนทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศเดียวในสามประเทศผู้ผลิตที่ใช้ยางมากกว่าครึ่งของที่ผลิตได้ แต่ก็ไม่สามารถทำให้เป็นผู้กำหนดราคายางในตลาดโลกได้.
ที่มา : www.thairath.co.th