- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 09 July 2014 23:36
- Hits: 3003
สศข.5 ปูพรม 4 จังหวัดอีสาน สำรวจโคนม-ปศุสัตว์ ลุยพื้นที่ตัวอย่าง 10-25 กรกฎาคมนี้
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 ปักธง 4 จังหวัดอีสาน จัดเก็บข้อมูลการสำรวจสถาบันโคนม และการสำรวจปศุสัตว์เป็นการค้าและไม่เป็นการค้า ปี 57 เจาะกลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10 - 25 กรกฎาคมนี้ เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณน้ำนมดิบ จำนวนโคนม และจำนวนปศุสัตว์ชนิดต่างๆ วอนเกษตรกรให้ความร่วมมือ สู่แนวทางแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกต้องและตรงจุด
นายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 นครราชสีมา (สศข.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศข.5 มีแผนการออกจัดเก็บข้อมูลการสำรวจสถาบันโคนม และการสำรวจปศุสัตว์เป็นการค้า และไม่เป็นการค้า ปี 2557 ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ โดยจะออกทำการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 10 - 25 กรกฎาคม 2557 ภายในสถาบันต่างๆ ที่ทำการเลี้ยงโคนม และภายในเขตหมู่บ้านตัวอย่างต่างๆ ที่ทำการเลี้ยงปศุสัตว์แบบที่เป็นการค้า และไม่เป็นการค้า เช่น โคนม โคเนื้อ กระบือ สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และไก่พื้นเมือง ที่ได้ถูกกำหนดไว้โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างจากหมู่บ้านตัวอย่าง และสถาบันเกษตรที่ทำการเลี้ยงโคนมจากส่วนกลาง
การสำรวจดังกล่าว กำหนดจำนวนตัวอย่างของหมู่บ้านในการสำรวจแบ่งเป็น ปศุสัตว์ไม่เป็นการค้า จำนวน 92 หมู่บ้าน แยกเป็นจังหวัดนครราชสีมา 25 หมู่บ้าน จังหวัดชัยภูมิ 15 หมู่บ้าน จังหวัดบุรีรัมย์ 31 หมู่บ้าน จังหวัดสุรินทร์ 21 หมู่บ้าน สถาบันโคนม 36 สถาบัน ส่วนปศุสัตว์เป็นการค้า (โคนม โคเนื้อ สุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่) จำนวน 462 ราย โดยแยกเป็นจังหวัดนครราชสีมา 297 ราย จังหวัดชัยภูมิ 70 ราย จังหวัดบุรีรัมย์ 57 ราย และจังหวัดสุรินทร์ 38 ราย เพื่อที่จะนำเอาข้อมูลที่สอบถามจากผู้เลี้ยงปศุสัตว์ชนิดต่างๆ และสถาบันโคนมมาทำการหาค่าประมาณการทางสถิติ และนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์เพื่อหาปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้ และจำนวนโคนม และจำนวนปศุสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เกษตรกรทำการเลี้ยงอยู่ว่าจะมีปริมาณมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ สศก. ได้มีโครงการจัดทำและเก็บรวบรวมข้อมูลของการสำรวจสถาบันโคนม และการสำรวจปศุสัตว์เป็นการค้า และไม่เป็นการค้าทุกปี โดยจะทำการสำรวจปีละหนึ่ง ถึง สองครั้ง เพื่อที่จะได้ทำการศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้ในแต่ละเดือน จำนวนของปศุสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เกษตรกรทำการเลี้ยงอยู่ในแต่ละเดือนว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด และเปรียบเทียบข้อมูลในแต่ละปี เนื่องจากในแต่ละปีสภาพดินฟ้าอากาศมีสภาพที่แตกต่างกัน เกษตรกรจะประสบกับปัญหาต่างกันไป ดังนั้น สศข.5 จึงใคร่ขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์แต่ละชนิดในแต่ละหมู่บ้าน และสถาบันโคนมต่างๆ ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ในการตอบแบบสอบถามและการให้ข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ได้จะสามารถเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกต้องและตรงจุดต่อไป นายสมมาตร กล่าว ทิ้งท้าย
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร