- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 08 May 2014 22:32
- Hits: 3989
สศก. เคาะต้นทุนสินค้าพืช ไตรมาส 1 ระบุ ภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปัจจัยการผลิต
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดผลวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ ไตรมาสแรกปี 57 เผยต้นทุนการผลิตต่อไร่ในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เกือบทุกกลุ่มสินค้า เนื่องจากราคาปัจจัยการผลิต ยกเว้นกลุ่มผลไม้ ที่มีต้นทุนการผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากเกษตรกรปรับการใช้ปุ๋ยหันมาใช้ประเภทอินทรีย์มากขึ้น
นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ ไตรมาสแรกปี 2557 พบว่า มีต้นทุนการผลิตต่อไร่ในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยพบว่าไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่มสินค้า เนื่องจากราคาปัจจัยการผลิต ได้แก่ ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ค่าวัสดุต่างๆ ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาร้อยละ 1 เช่น ราคาปุ๋ย ยา สารเคมี ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ทำให้ต้นทุนรวมต่อไร่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ยกเว้นกลุ่มผลไม้ที่มีต้นทุนการผลิตต่อไร่ลดลงประมาณร้อยละ 2 เนื่องจากเกษตรกรปรับการใช้ปุ๋ยและสารเคมี โดยหันมาใช้ประเภทอินทรีย์มากขึ้น และเมื่อพิจารณาแยกตามกลุ่มพืชพบว่า
กลุ่มข้าว ต้นทุนการผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 2 โดยมูลค่าปัจจัยด้านแรงงานจากกิจกรรมเตรียมดิน ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2 และมูลค่าวัสดุที่เป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา สารเคมีปราบวัชพืชศัตรูพืช เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1
กลุ่มพืชไร่ ต้นทุนการผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 8 โดยมูลค่าปัจจัยด้านแรงงานจากกิจกรรมเตรียมดิน ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 11 และมูลค่าวัสดุที่เป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา สารเคมีปราบวัชพืชศัตรูพืช เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4
กลุ่มพืชผัก ต้นทุนการผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 11 โดยมูลค่าปัจจัยด้านแรงงานจากกิจกรรมเตรียมดิน ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 และมูลค่าวัสดุที่เป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา สารเคมีปราบวัชพืชศัตรูพืช เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10
กลุ่มไม้ผล ไม้ยืนต้น ต้นทุนการผลิตต่อไร่ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 2 เนื่องจากมูลค่าวัสดุที่เป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา สารเคมีปราบวัชพืชศัตรูพืช ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 3 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากเกษตรกรบางส่วนปรับพฤติกรรมการใช้ปุ๋ย และสารเคมี โดยลดการใช้เคมี และเพิ่มการใช้ประเภทอินทรีย์มากขึ้น ส่วนมูลค่าปัจจัยด้านแรงงานจากกิจกรรมเตรียมดิน ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เฉลี่ยร้อยละ 2
ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเห็นได้ว่าต้นทุนการผลิตในแต่ละปีที่ผ่านมานั้น เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเกษตรกรยังใช้วิธีการเดิมๆ ก็จะทำให้ต้องเพิ่มเม็ดเงินในการลงทุนมากขึ้นในแต่ละปี ดังนั้น เกษตรกรควรพึ่งพาตนด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี มาเป็นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนการผลิตลงได้ นอกจากนี้ เกษตรกรต้องมีการเรียนรู้และแสวงหาองค์ความรู้เพิ่มเติม ซึ่งแหล่งข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก
ดังนั้น ในปีนี้ สศก. จึงเปิดศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร และกระจายลงในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก สามารถใช้วางแผนการผลิตของตนเองได้ โดยเน้นการบริการข้อมูลรอบด้านแบบ One stop service โทร. 0 2561 5006 นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้กำหนดมาตรการในการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งด้านการใช้พันธุ์ดีในปริมาณที่เหมาะสม การลดการใช้ปุ๋ยสารเคมี การจัดหาและสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแทนแรงงาน เพื่อให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการลดต้นทุนการผลิตในแต่ละสินค้า ทำให้ผลผลิตที่ได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร