WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ไกงวงครบวงจร

เจาะลึก'การเลี้ยงไก่งวงครบวงจร' สัตว์เศรษฐกิจทำเงิน สร้างรายได้ให้ชุมชุน

   'ไก่งวง'ถือเป็นอีกหนึ่งสัตว์ปีกเศรษฐกิจทำเงินที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งคอลัมน์ปศุสัตว์ฉบับนี้จะพาท่านผู้อ่านไปล้วงลึกองค์ความรู้ทุกซองทุกมุมที่ควรรู้เบื้องต้นก่อนการตัดสินใจเลี้ยงไก่งวง ที่บ้านคำเกิ้ม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ซึ่งที่นี่ถือเป็นชุมชนต้นแบบการเลี้ยงไก่งวงแบบครบวงจรและเป็นตลาดรับซื้อไก่งวงที่เป็นรูปเป็นร่างที่สุด ทำให้การเลี้ยงไก่งวงในประเทศไทยพัฒนาไปอีกขั้น ถึงขนาดเป็นสัตว์เศรษฐกิจเงินล้านได้เลยทีเดียว

   ก่อนที่จะไปเรียนรู้ตื้นลึกหนาบางจากผู้รู้และมากประสบการณ์ในการเลี้ยงไก่งวง อันดับแรกขอนำเสนอสายพันธุ์ไก่งวงที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ผู้เลี้ยงไก่งวงควรรู้ โดยในปัจจุบันมีอยู่ 3 สายพันธุ์คือ

    1. พันธุ์อเมริกันบรอนซ์ (American Bronze) จัดเป็นไก่งวงพันธุ์หนัก ขนสีดำ หรือ สีบรอนซ์ปนน้ำตาล ปลายขนสีขาวเล็กน้อย แข้งและนิ้วเท้าสีเทาอ่อนปนชมพูซีด ตาสีน้ำตาล จะงอยปากสีเทาอ่อน มีนิสัยการฟักไข่และเลี้ยงลูก สามารถหาอาหารกินเองได้ตามธรรมชาติ เช่นเศษอาหาร หญ้าสด ปริมาณการไข่ ให้ผลผลิตไข่ประมาณ 70 ฟอง/ตัว/ปี น้ำหนักมาตรฐานไก่งวงตัวผู้ 15 กิโลกรัม ตัวเมีย 9 กิโลกรัม ตัวผู้หนุ่ม 11 กิโลกรัม ตัวเมียสาว 7 กิโลกรัม

     ข้อสังเกต ตัวผู้จะมีขนคล้ายผมสีดำแข็ง ติดอยู่ตรงบริเวณหน้าอก เป็นตัวบ่งชี้ลักษณะทางเพศของไก่งวงตัวผู้ที่อายุก่อน 12 สัปดาห์

     2. พันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์ (Beltsvill Small White) มีขนาดตัวปานกลาง และขนาดเล็ก ขนสีขาว หนังสีขาว แข้งและนิ้วเท้าสีชมพูซีด ตาสีน้ำตาล จะงอยปากสีเทาอ่อน มีการเจริญเติบโตในระยะเล็กจนกระทั่งถึงโตเต็มวัยเร็วมาก หน้าอกกว้าง และเป็นที่ยอมรับในเรื่องรสชาติของผู้บริโภค สามารถหาอาหารกินเองได้ตามธรรมชาติ เช่น เศษอาหาร หญ้าสด ปริมาณการไข่ ให้ผลผลิตไข่ประมาณ 80 ฟอง/ตัว/ปี น้ำหนักมาตรฐาน ไก่งวงตัวผู้ 7.7 กิโลกรัม ตัวเมีย 5 กิโลกรัม ตัวผู้หนุ่ม 6.7 กิโลกรัม ตัวเมียสาว 4 กิโลกรัม

     ข้อสังเกต ตัวผู้จะมีขนคล้ายผมสีดำแข็งติดอยู่ตรงบริเวณหน้าอก และตัวเมียก็มีโอกาสพบขนสีดำนี้ด้วยเหมือนกัน

    3. พันธุ์บอร์บอนเรด (Bourbon Red) มีขนาดตัวปานกลางและขนาดเล็ก จะมีขนสีน้ำตาลแดงเงางาม ซึ่งพัฒนาสายพันธุ์มาจาก ไก่งวงพันธุ์ Buff ของประเทศตุรกี ผสมกับไก่งวงของอเมริกา โดยได้รับการรับรองสายพันธุ์จาก APA (AmericanPoultry Association) ในปี ค.ศ.1909 เพื่อให้ได้ไก่งวงที่มีการเจริญเติบโตเร็ว และเป็นที่ยอมรับในเรื่องรสชาติของผู้บริโภคเช่นเดียวกับพันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์

   ไก่งวงพันธุ์บอร์บอนเรดสามารถหาอาหารกินเองได้ตามธรรมชาติ เช่น เศษอาหาร หญ้าสด ปริมาณการไข่ ให้ผลผลิตไข่ประมาณ 80 ฟอง/ตัว/ปี น้ำหนักมาตรฐานไก่งวงตัวผู้ 9 กิโลกรัม ตัวเมีย 4 กิโลกรัม ตัวผู้หนุ่ม 6 กิโลกรัม ตัวเมียสาว 3.5 กิโลกรัม

    คุณเชษฐา กัญญะพงศ์ หรือ คุณโย บ้านเลขที่ 19/1 หมู่ 8 บ้านคำเกิ้ม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม (โทร. 08-5014-9679, 0-42 51-2813) ประธานชมรมไก่งวงจังหวัดนครพนม และผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านคำเกิ้ม เผยถึงข้อมูลเบื้องต้นในการพิจารณาเลือกสายพันธุ์ไก่งวงมาเลี้ยงให้ฟังว่า การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์เราควรคัดเลือกจากพ่อแม่พันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์แท้ เช่น พันธุ์อเมริกันบรอนซ์ พันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์ หรือพันธุ์บอร์บอนเรด เป็นต้น ไม่ควรเลือกไก่งวงไฮบริด (Hybrid) หรือไก่ลูกผสมมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ เพราะถึงแม้ไก่ไฮบริดจะมีโครงสร้างใหญ่ เลี้ยงง่าย โตไว แต่เมื่อนำมาทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ อาจจะให้ลูกปรากฏเป็นเลือดชิด ซึ่งจะทำให้ไก่เป็นโรค อ่อนแอ ดังนั้นถ้าต้องการเลี้ยงไก่ไฮบริดแนะนำเลี้ยงเป็นไก่ขุนหรือไก่เนื้อจะเหมาะกว่าการนำมาทำเป็นพ่อแม่พันธุ์

  สำหรับการเลี้ยงไก่งวงของชุมชนบ้านคำเกิ้ม ที่นี่จะเลี้ยงไก่สายพันธุ์แท้อเมริกันบรอนซ์เพียงสายพันธุ์เดียว เพราะเป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย โตไว ที่สำคัญยังตัวใหญ่ขายได้ราคาอีกด้วย โดยปัจจุบันทางชุมชนได้รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านคำเกิ้ม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตอาหาร (ไก่งวง) บ้านคำเกิ้ม และร้านอาหาร คำเกิ้ม ลาบไก่งวง

     เดิมที่เราประสบปัญหาเช่นเดียวกับผู้เลี้ยงไก่งวงรายอื่น ๆ คือเลี้ยงแล้วไม่มีตลาดรับซื้อ เพราะคนไทยเรามองว่าไก่งวงหน้าตาน่าเกลียด จึงไม่นิยมรับประทานกัน ดังนั้นพวกเราจึงรวมกลุ่มกันสร้างตลาดขึ้นมาใหม่โดยเปิดเป็นร้านอาหาร คำเกิ้ม ลาบไก่งวงซึ่งเป็นตลาดรับซื้อไก่งวงจากผู้เลี้ยงไก่งวงในชุมชนมาแปรรูปเป็นเมนูอาหารและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยในปัจจุบันเรามีผลิตภัณฑ์แปรรูป 1 ตัวคือ ไส้อั่วไก่งวง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

                สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงไก่งวง เบื้องต้นผมอยากแนะนำว่าให้ลองศึกษาตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงไปจนถึงการตลาดอย่างครบวงจร อย่ามองเพียงตัวเลขว่าเลี้ยงแล้วจะมีรายได้เท่านั้นเท่านี้ แล้วนำเงินก้อนใหญ่มาลงทุน หากทำอย่างนี้สุดท้ายก็ไปไม่รอด ซึ่งเจ๊งมานักต่อนักแล้ว เพราะมันจะไปตันที่ตลาด ดังนั้นการเลี้ยงไก่งวงให้ประสบความสำเร็จ เราจะต้องหาตลาดรับซื้อที่มั่นคง หากหาไม่ได้เราก็ต้องสร้างตลาดขึ้นมาเอง เช่น สร้างเป็นร้านอาหาร หรือแปรรูปผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเป็นต้น โดยผู้ที่สนใจสามารถมาศึกษาและดูเราเป็นตัวอย่างก็ได้ ที่สำคัญอย่าไปหวังพึ่งพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้ออย่างเดียว เพราะตลาดเหล่านี้เป็นตลาดลอย มีความไม่แน่นอน

        เทคนิคการเลี้ยงไก่งวงให้ประสบความสำเร็จนั้น คุณเชษฐา อธิบายให้ฟังว่า เริ่มตั้งแต่การอนุบาลลูกไก่ หากเราปล่อยให้แม่ไก่ฟักไข่เอง เราจะต้องคอยดูว่าลูกไก่ฟักออกมาหรือยัง หากฟักออกมาแล้วก็นำลูกไก่มาอนุบาลได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ฟักออกหมดทุกตัว เพราะสัญชาตญาณของไก่งวงเป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกไม่เป็น หากเรารอให้ฟักหมดพร้อมกัน ลูกไก่ที่ฟักก่อนอาจถูกแม่ไก่เหยียบตายได้ ซึ่งการฟักโดยธรรมชาติกับการฟักตู้จะใช้ระยะเวลาเท่ากันคือ 28 วัน

   เมื่อได้ลูกไก่ออกมาแล้วเราจะต้องเอามาไว้ในกล่องอนุบาลก่อน 2 วัน ในช่วงระยะเวลานี้ห้ามให้อาหารเป็นอันขาด (ให้น้ำได้) เพราะต้องการให้ลูกไก่ดึงสารอาหารที่อยู่ในลำไส้ที่ได้จากไข่แดงมาใช้ให้หมดเสียก่อน หากเราให้อาหารในช่วงระยะเวลานี้ ไก่จะไปตายโดยไม่ทราบสาเหตุเมื่ออายุได้ประมาณ 1 เดือน

      ปัญหาของการเลี้ยงไก่งวงคือปัญหาเรื่องยุง ซึ่งยุงกัดเพียงตัวเดียวก็จะทำให้เกิดฝีดาษได้ และเนื่องจากฟาร์มหรือชุมชนของเราเลี้ยงไก่โดยไม่ใช้วัคซีน เพราะเรามองว่าวัคซีนเป็นเชื้อโรค หากใช้วัคซีนตั้งแต่เริ่มต้น หากเลี้ยงต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปีเป็นต้นไป ไก่ก็จะเริ่มเป็นโรคโดยมีสาเหตุมาจากวัคซีน ดังนั้นจึงตัดวงจรโรคโดยการไม่ใช้วัคซีน และหาวิธีการป้องกันการเกิดโรคนั้น ๆ แทน เช่น หมั่นดูแลโรงเรือนให้สะอาด ฉีดพ่นจุลินทรีย์สายพันธุ์ดีอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ไปควบคุมจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ สำหรับการป้องกันยุงในช่วงเดือนแรกนั้น กลางวันเราปล่อยให้อยู่ในกรงอนุบาล กลางคืนเราเอาใส่กล่องกระดาษให้มานอนในห้องเพื่อป้องกันยุงกัด

      เมื่อไก่อายุครบ 1 เดือน ก็จะเริ่มกกไฟให้ความอบอุ่น โดยใช้หลอดไฟที่มีกำลัง 60 วัตต์ และเปิดไฟไล่ยุง ซึ่งไฟไล่ยุ่งนี้จะช่วยตัดปัญหาฝีดาษในไก่ได้ สำหรับการกกไฟ เราจะต้องเปิดไฟให้ไก่ไปจนกว่าไก่จะมีอายุครบ 3 เดือน ด้านอาหารที่ใช้ในการเลี้ยงไก่งวงนั้น 2 เดือนแรกจะใช้หัวอาหารเม็ดสำหรับไก่เล็กให้กินเพียงอย่างเดียว เพราะมีอัตราโปรตีนที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต พอเข้าเดือนที่ 3 เริ่มผสมรำกับหัวอาหารเม็ดในอัตรา 1:1 เพื่อเตรียมไก่ให้รู้จักการกินอาหารผสม หลังจากเดือนที่ 3 ก็สามารถให้กินอาหารผสมลดต้นทุนได้เลย

   โดยอาหารผสมที่ทางกลุ่มใช้คือกากมันหมักยีสต์ หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 รำ และ สารอาหารที่ไก่งวงต้องการ ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าอาหารสำเร็จรูปหลายเท่าตัว ผลจากการเลี้ยงด้วยอาหารลดต้นทุน นอกจากต้นทุนการเลี้ยงจะต่ำแล้ว ยังช่วยให้เนื้อไก่มีรสชาติหวาน ไม่มีกลิ่นเหม็นสาบอีกด้วย

     คุณเชษฐา เล่าให้ฟังอีกว่า ต้นทุนการเลี้ยงไก่งวง 1 ตัวจนกระทั่งถึงจำหน่ายได้ ซึ่งเป็นงานวิจัยของศูนย์วิจัยถ่ายทอดเทคโนโลยีปศุสัตว์เขต 4 มหาสารคาม ราคาต้นทุนตกอยู่ที่ตัวละ 535 บาท โดยไก่ตัวผู้จะเริ่มจำหน่ายเป็นไก่เนื้อได้ก็ต่อเมื่อมีน้ำหนักประมาณ 6 กิโลกรัมขึ้นไป ตัวเมียน้ำหนัก 3-3.5 กิโลกรัมขึ้นไป หากน้ำหนักไก่ต่ำกว่านี้เนื้อจะเป็นวุ้น (เนื้อเหลว) ไม่นิยมรับประทานเพราะรสชาติไม่ดีและไม่อร่อย ส่วนการเลี้ยงไก่ที่ดีนั้น (ดูแลเอาใจใส่ ให้อาหารการกินดี) ไก่จะได้น้ำหนักเดือนละ 1 กิโลกรัม นั่นหมายความว่า เลี้ยง 6 เดือนก็สามารถจับขายได้ โดยราคาขายหน้าฟาร์มจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-180 บาท หรือตัวละ 900-1,080 บาท (ไก่ตัวผู้น้ำหนัก 6 กิโลกรัม)

    อย่างไรก็ตามข้อมูลที่นำมาเสนอนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ที่แสดงให้เห็นว่าไก่งวงมีอนาคตเป็นสัตว์เศรษฐกิจและทำเงินได้ หากเกษตรกรรู้จักการรวมกลุ่มและการสร้างตลาดที่ดีดังเช่น ชุมชนต้นแบบการเลี้ยงไก่งวงแบบครบวงจร บ้านคำเกิ้ม นั่นเองคุณเชษฐา กล่าวในที่สุด

       ข้อมูล : เกษตรกรก้าวหน้า : http://www.matichon.co.th/news/8556

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!