- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 17 January 2016 22:23
- Hits: 4604
ราคาขยับ ตลาดยางคึกคัก แห่เทขาย
(ภาพ : Reuters)
ดีเดย์ซื้อ 25 ม.ค.-3,000จุด
ราคายางขยับพุ่งขึ้นทันทีหลังรัฐบาลประกาศซื้อยางราคานำตลาดจากเกษตรโดยตรง 1 แสนตัน ทำให้ตลาดกลางรับซื้อ ยางพาราในจังหวัดภาคใต้เริ่มกลับมาคึกคัก ทั้งยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน และน้ำยางสด ราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ชาวสวนยางเฮโลนำยางออกมาเทขาย ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯร่วมกับ กยท.ตั้งจุดรับซื้อยางทั่วประเทศ 3,000 จุด ดีเดย์ 25 ม.ค.นี้ กำหนดซื้อครัวเรือนละ 150 กก. เกษตรกรชาวสวนยางเหนือ-อีสาน โวยลั่นรัฐ 2 มาตรฐาน อ้างได้ประโยชน์แต่คนภาคใต้ คมนาคมกล่อม 8 บริษัทเอกชนยอมรับซื้อยางซ่อมถนน “บิ๊กตู่” แจงเหตุแก้ยางช้าเพราะต้องปรับวิธีใหม่ ด้านกองทัพบกขานรับนำยางไปผลิตอุปกรณ์ทางทหาร
ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรจำนวน 1 แสนตัน ในราคานำตลาด เพื่อแก้ปัญหายางตกต่ำ ส่งผลให้ราคายางพาราในตลาดปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ราคายางพาราได้ขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยราคายางแผ่นดิบขยับขึ้นจากเดิม 36.05 บาท เป็น 37.05 บาท ยางแผ่นรมควันจากเดิม 39.39 บาท ขยับขึ้นเป็น 41.15 บาท น้ำยางสดจากเดิม 33.50 บาท ขยับขึ้นเป็น 34.00 บาท ทำให้บรรยากาศการรับซื้อยางเริ่มคึกคักตั้งแต่เช้า มีเกษตรกรชาวสวนยางทยอยนำยางแผ่นบรรทุกรถยนต์มาเทขายกันจำนวนมาก แต่ก็ยังมีเกษตรกรบางส่วนยังไม่ยอมนำยางออกมาขาย เพราะเชื่อว่าราคายางจะพุ่งสูงกว่านี้ เนื่องจากยางเริ่มผลัดใบ ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ
เช่นเดียวกับที่ จ.สตูล ราคายางพาราในท้อง ตลาดเริ่มปรับตัวสูงเช่นกัน โดยนายชำนาญ เมฆตรง ประธานชุมนุมสหกรณ์สวนยางแห่งประเทศไทย และประธานชุมนุมสหกรณ์สวนยาง จ.สตูล กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่รัฐบาลออกมาเมื่อ 3-4 วันนี้ ทำให้ราคายางพาราขยับขึ้นทุกวัน ตอนนี้นํ้ายางสดขึ้นมาที่ กก.ละ 33 บาท จากเดิม กก.ละ 23 บาท ยางแผ่นรมควันอยู่ที่ กก.ละ 39 บาท จากเดิม กก.ละ 34 บาท จะเห็นว่าราคายางแผ่นรมควันขยับขึ้นวันละ 1-2 บาท ต่อ 1 กก. ส่วนน้ำยางสดขยับขึ้นวันละ 1 บาท ต่อ 1 กก. การที่รัฐบาลจะให้คลังสินค้ารับซื้อยางพาราจากเกษตรกร 1 แสนตัน ตนเห็นด้วย แต่ในทางปฏิบัติไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะทำได้จริงหรือไม่
“ช่วงนี้พื้นที่สตูลและจังหวัดฝั่งอันดามันยางเริ่มใบเหลืองใกล้ถึงช่วงผลัดใบ คาดว่าในปลายเดือน ก.พ.ใบคงร่วงหมด เกษตรกรต้องหยุดกรีดยางยาวไปจนถึงเดือน พ.ค. หรือไม่ก็หยุดยาวกว่านั้นจนกว่าจะถึงหน้าฝน เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องรีบดำเนินการรับซื้อยางจากเกษตรกรช่วงก่อนยางผลัดใบ ส่วนกลุ่มพ่อค้าที่มียางในสต๊อกและรอจังหวะยางขึ้นราคาก็จะนำยางออกมาขายเช่นกัน เพราะไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ตอนนี้พ่อค้ายางใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่ส่งยางออกไปขายต่างประเทศเริ่มขาดวัตถุดิบกันแล้ว บางรายติดต่อมาหาผมให้ช่วยส่งยางให้ ก็ได้แจ้งไปแล้วว่าทางสมาชิกไม่ยอมส่งยางมาขาย เชื่อว่าทิศทางราคายางน่าจะดี ขึ้นตามลำดับ”นายชำนาญกล่าว
ส่วนที่ตลาดกลางยางพารา อ.ฉวาง จ.นครศรี-ธรรมราช เกษตรกรชาวสวนยางเริ่มนำยางออกไปขาย แต่บรรยากาศไม่คึกคักมากนัก เนื่องจากใกล้เข้าช่วงปิดกรีดผลผลิตมีน้อย ประกอบกับชาวสวนยางบางส่วนเก็บยางไว้ในสต๊อกเพื่อรอจังหวะราคายางสูงกว่านี้จึงค่อยนำออกมาขาย และจากการตรวจสอบราคายางพบว่าราคาขยับสูงขึ้นตามลำดับ โดยยางแผ่นดิบคุณภาพดี จากราคาเดิม กก.ละ 36.23 บาท ขยับขึ้นเป็น กก.ละ 36.90 บาท ราคายางแผ่นรมควันจากเดิม กก.ละ 39.30 บาท ปรับขึ้นมาเป็น กก.ละ 41.05 บาท ส่วนราคาน้ำยางสด กก.ละ 33 บาท สำหรับราคายางที่ปรับสูงขึ้นถือว่าเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้รับอานิสงส์ชัดเจนจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล
สำหรับ บรรยากาศการซื้อขายยางพาราที่ตลาดกลางสุราษฎร์ธานีคึกคักเช่นกัน โดยยางแผ่นดิบจากเดิม กก.ละ 36.60 บาท ขยับขึ้นเป็น กก.ละ 38.30 บาท ยางแผ่นรมควัน จากเดิม กก.ละ 38.90 บาท ขยับขึ้นเป็น 40.79 บาท น้ำยางสดจากเดิม กก.ละ 34 บาท ขยับขึ้นเป็น 34.50 บาท นายมนัส แพชนะ ผอ.สำนักงานตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ราคาประมูลยางที่ตลาดกลางสุราษฎร์ธานีปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ วันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก โดยส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ถึงแม้ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นแต่ปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาดยังมีน้อย สาเหตุมาจากชาวสวนรอดูท่าทีของรัฐบาลและรอมาตรการซื้อนำตลาดของ อคส. รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับการนำมาแปรรูปใช้ใน 8 กระทรวงหลัก
“ขณะนี้ผู้นำยางมาขายในตลาดเป็นพ่อค้ารายย่อยกับเกษตรกรในอัตราส่วน 50 ต่อ 50 ส่วนที่กังวลว่ายางจะตกอยู่กับพ่อค้าและมาตรการช่วยเหลือไม่ถึงมือชาวสวนนั้นไม่เป็นความจริง เพราะผู้ที่มีสิทธิขายยางพาราให้ อคส.ต้องมีหนังสือรับรองเกษตรกรชาวสวนยางจากการยางแห่งประเทศไทยเท่านั้น เชื่อว่าโอกาสที่ผลประโยชน์จะตกอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางเป็นไปได้น้อยมาก ” นายมนัสกล่าว
นายกิตติศักดิ์ วิโรจน์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี เปิดเผยถึงกรณีรัฐบาลจะรับซื้อแผ่นยางดิบจากเกษตรกรโดยตรงในราคา กก.ละ 45 บาท จำนวน 1 แสนตัน ส่วนน้ำยางสดและยางก้อนถ้วยจะซื้อในราคาลดหลั่นลงไป ว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อแนวทางนี้ของรัฐบาล ถือว่าเดินมาถูกต้องแล้วที่ดำเนินการซื้อในราคานำตลาด เพราะจะทำให้ยางของเกษตรกรขายได้ราคา แต่ยังกังวลจะมีการเอายางในมือพ่อค้าออกมาขาย และอยากฝากให้ดูเรื่องราคาเศษยางในภาคใต้ด้วย เนื่องจากจะไม่เหมือนกับยางก้อนถ้วยของภาคอีสานที่เป็นยาง 100 เปอร์เซ็นต์
จ.กำแพงเพชร ตัวแทนชาวสวนยางเข้าพบนายธานี ธัญญาโภชน์ ผวจ.กำแพงเพชร ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยกำหนดโควตาการรับซื้อยางให้แต่ละจังหวัด เนื่องจากในส่วนของ จ.กำแพงเพชร ขณะนี้เกษตรกรกำลังจะหยุดกรีดแล้ว เพราะเป็นช่วง ยางผลัดใบ คาดว่ามีผลผลิตอยู่ในมือของเกษตรกรเพียงแค่ 200 ตัน
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก-รัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า เรื่องของการปฏิรูปเศรษฐกิจ เรื่องยาง ทำไรก็ผิดหมด รมว.เกษตรและสหกรณ์ ก็เต็มที รมว.พาณิชย์ก็เต็มที่ เพียงแต่ต้องมาขับเคลื่อนแนวใหม่ ต้องใช้เวลา ให้เขาเปลี่ยน ให้เขาสร้างความเข้มแข็ง ให้เขาเข้าใจที่สั่งก่อน และนำไปสู่การปฏิบัติ วันนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่ ช้าบ้าง แต่ไม่ได้ช้าที่ข้าราชการ ไม่ได้ช้าที่รัฐบาล ช้าที่ข้างล่างด้วย คือ เกษตรกร ประชาชน ไม่ค่อยร่วมมือ ไม่ชอบจัดระเบียบ หาว่าใช้การปกครอง ไม่ได้ปกครอง เพียงขอให้ขึ้นทะเบียนให้ได้ วันนี้จ่ายเงิน 1,500 บาทไม่ได้ เพราะว่าจดทะเบียนไว้ 4 แสน ที่เหลือไม่ได้จด ที่ถูกต้องกฎหมายมีส่วนหนึ่งที่ไม่ถูกต้องผิดกฎหมาย ถ้าทำผิดมา ทุจริตอีก ต้องร่วมมือกับตน เขาเรียกว่าการจัดกลุ่มให้ได้ การบูรณาการให้ได้ จ่ายเงินให้ได้
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวว่า ผบ.ทบ. ได้สั่งการให้หน่วยงานในกองทัพบก พิจารณานำยางพารามาใช้ผลิตสิ่งอุปกรณ์ประเภทต่างๆโดยเร็วที่สุด มีแนวทางเบื้องต้นว่า จะเพิ่มการใช้ยางพารากับผลิตภัณฑ์ สิ่งอุปกรณ์ทางทหาร เครื่องช่วยฝึก รถยนต์ทหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลกองทัพบก โดยนำไปดำเนินการได้ในหลายลักษณะ อาทิ ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในงานก่อสร้างซ่อมแซมถนนและเป็นวัสดุสำหรับงานฉนวนกันซึมในงานก่อสร้างของทหารช่าง, ใช้ยางพาราในการผลิต สิ่งอุปกรณ์ทางทหาร เช่น ที่นอนทหาร ที่นอนผู้ป่วยในโรงพยาบาลทหาร หมอน รองเท้าผ้าใบ รองเท้าทรงสูงครึ่งน่อง (รองเท้าฝึก) ถุงมือยาง ผลิตยางรถยนต์ทหาร ทั้งนี้ กองทัพบกกำลังเร่งดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็วที่สุด
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลการหารือกับแกนนำชาวสวนยางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายหลังรัฐบาลมีแนวนโยบายรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง ว่า หลังจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางพารา มีมติรับซื้อยางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 จากเกษตรกรโดยตรง ในราคา กก.ละ 45 บาท จำนวน 1 แสนตัน กระทรวงเกษตรฯ จะร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดจุดรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรรายย่อยโดยตรงในพื้นที่ภาคใต้ 2,000 แห่ง ภาคเหนือและภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือรวม 1,000 แห่ง โดยจะรับซื้อไม่เกินครัวเรือนละ 150 กก.ทั้งนี้จะเริ่มรับซื้อได้ในวันที่ 25 ม.ค.นี้
นายศิริชัย ห่านวิบูลย์พงศ์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายเกษตรกร สถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจร จ.บึงกาฬ กล่าวว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมานั้นไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเลย เนื่องจากกำหนดรับซื้อยางจากเกษตรกรช่วงปลาย ม.ค.2559 เป็นต้นไป แต่ในภาคตะวันออก เฉียงเหนือนั้น ได้ปิดกรีดยางตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.แล้ว ขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ยังคงกรีดยางกันอยู่จนถึงเดือน มี.ค.2559 เกษตรกรภาคอีสานและภาคเหนือไม่พอใจกับมาตรการดังกล่าว รู้สึกว่ารัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง 2 มาตรฐาน คือ ภาคใต้ได้ประโยชน์ แต่ภาคอื่นๆ ไม่ได้อะไร ภาคอีสานเองก็ปิดกรีดยางในช่วงปลาย ม.ค.นั้น ก็เป็นเพราะเรื่องของฤดูกาลธรรมชาติ หากรัฐจะเข้ามาซื้อยางจากเกษตรกรอีสาน ถามว่าจะซื้อได้เท่าไร ในเมื่อไม่มียางออกแล้วช่วงนั้น นอกจากจะมีเกษตรกรกักตุนยางไว้
นายสาย อิ่นคำ คณะกรรมการบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนไม่พอใจเท่าไหร่กับราคาที่รับซื้อที่ปรับเปลี่ยนจาก กก.ละ 60 บาท เป็น กก.ละ 45 บาท เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และสินค้าที่เกี่ยวกับการนำยางไปใช้ เช่น ยางรถยนต์ ราคายังสูงเท่าเดิม สวนทางกับราคายางพาราที่ลดลงทุกวัน ในขณะที่นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ ประชาสัมพันธ์สภาเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องเพิ่มเติมให้ภาครัฐช่วยดูแลในส่วนของยางก้อนถ้วย ในภาคเหนือและอีสาน ที่ยังอยู่ในราคาค่อนข้างต่ำ โดยราคาหน้าโรงงานของยางก้อนถ้วย 100% มีราคาเพียง กก.ละ 18.50 บาท ได้เสนอเรื่องนี้ต่อ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ แล้ว โดยทาง รมว. เกษตรฯจะหาทางแก้ปัญหาโดยเรียกผู้ประกอบการยางมาพูดคุยอีกครั้ง
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับบริษัทเอกชนเพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำว่า 8 บริษัทเอกชนรายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตพาราแอสฟัลต์ติกส์ และพาราสเลอรีซีล ที่จำหน่ายให้กับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ว่า ทั้ง 8 บริษัทพร้อมรับข้อเสนอซื้อน้ำยางดิบจากการยางแห่งประเทศไทยในราคา 45 บาทต่อ กก. ตามนโยบายของรัฐบาล โดยในปี 59 คาดมีการใช้น้ำยางพารามาใช้ก่อสร้างและซ่อมแซมถนนรวม 2 หมื่นตัน แต่ในการประชุม ครม.วันที่ 19 ม.ค.นี้ จะมีการสรุปรายละเอียด รูปแบบการแปรรูปยาง รวมทั้งวิธีการส่งมอบอีกครั้ง
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า อยากขอให้นายกฯเร่งเข้าให้ความช่วยเหลือสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆที่ราคาผลผลิตตกต่ำสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรด้วย เพื่อเข้ารับซื้อแทรกแซงราคาและซื้อนำตลาดโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับที่ช่วยชาวสวนยาง เพื่อความเป็นธรรม โดย เฉพาะข้าวเปลือกจากชาวนา ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกตกตันละ 6,000-7,000 บาท เท่านั้น ถ้ารัฐบาลช่วยรับซื้อเหมือนราคายาง ชาวนาก็จะได้ราคาข้าวตันละ 8,160-9,520 บาท เชื่อว่าถ้าได้แบบนี้ชาวนาก็น่าจะอยู่ได้ไม่เดือดร้อน ในปีนี้ก็จะมีอ้อย มันสำปะหลัง ลำไย และมะนาว ผลผลิตล้นตลาดราคาก็คงตกต่ำแน่นอน
ที่อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแห่งใหม่ ถนนรัชดาภิเษก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวตอนหนึ่งระหว่างไปเยี่ยมชมอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแห่งใหม่กับคณะผู้บริหารและผู้แทนองค์กรในสภาธุรกิจตลาดทุนไทยถึงปัญหาราคายาง พาราตกต่ำว่า มาตรา 44 ตนจะไปใช้อย่างไรให้ราคายางดีขึ้น แต่ ม.44 มีเพื่อให้ทำงานได้ ดูกฎหมายแล้วเข้าไปเสริม เมื่อวานนี้มีหนังสือพิมพ์เขียนว่าตนจะไปปลด รมว.เกษตรและสหกรณ์ ตนจะเพิ่มให้เขา 2 ขั้นด้วยซ้ำไป ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจนั้นทำงานเหนื่อยทั้งหมด เพราะปัญหาทับซ้อนแกะไม่ออก อะไรก็ตามต้องแก้ที่โครงสร้างต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ไม่ใช่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไม่พูดบูรณาการแอ็กชั่นแพลนเหมือนที่ผ่านมา ตนสั่งเลยให้ทำ ไม่ต้องแอ็กชั่น แต่ต้องมีการทำแผนงานโครงการอยู่แล้ว ปัญหาเกษตรกรนั้น รัฐบาลพยายามช่วยเหลือให้ดีที่สุด และเห็นว่าจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจต่อการเพาะปลูก ขณะนี้หนี้สินของเกษตรกรถือเป็นเรื่องใหญ่ ตอนแรกก่อนจะเข้ามาไม่คิดว่าจะมีปัญหามากขนาดนี้ ปัญหาของเรานั้นไม่ว่าจะจับอะไรก็เจอ
- ที่มา : www.thairath.co.th