WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1บงกาฬ2559

เคาะซื้อยาง รัฐให้ 45 บาท 'บึงกาฬ'จัดโชว์ โมเดลแก้ ยั่งยืน

        รัฐบาลเคาะแล้ว ซื้อยาง กิ โลฯ ละ 45 บาท ส่วนน้ำยางสด ยางก้นถ้วยราคาลดหลั่นกันลงไป'บิ๊กป้อม' ยันมีเงิน ซื้อโดยตรงจากเกษตรกร นำเข้าครม.สัปดาห์หน้าอนุมัติงบฯ ขณะที่ 'ฉัตรชัย'รมว.เกษตรฯ โต้ตัดพ้อน้อยใจเสียหน้าแก้ปัญหายาง ส่วนชาวสวนยาง 16 จังหวัดใต้ ชี้มาตรการรัฐบาลยังไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างแท้จริง ย้ำแผ่นยางดิบต้อง 60 บาท แถลงกำหนดจัดงานแล้ว 'วันยางพารา-กาชาดบึงกาฬ 2559' วันที่ 21-27 ม.ค.นี้ โชว์ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการแก้ปัญหายางพาราอย่างยั่งยืนครบวงจร พร้อมทั้งเวทีเสวนา นิทรรศการ อบรมอาชีพ ผลิตภัณฑ์ชุมชน นวัตกรรมใหม่ๆ คอนเสิร์ต

 15 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9179 ข่าวสดรายวัน

งานยาง - นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรอง นายกฯ พร้อมตัวแทน จ.บึงกาฬ และบริษัทรับเบอร์ วัลเล่ย์ฯ จากจีน โชว์หมอนยางพารา ระหว่างแถลงจัดงานวันยางพาราและกาชาด บึงกาฬ 2559 ระหว่าง 21-27 ม.ค.นี้ ที่อาคารมติชนอคาเดมี

มติรัฐรับซื้อยางก.ก.45 บาท

     เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางพารา และให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบรับซื้อแผ่นยางดิบในราคากิโลกรัมละ 45 บาท เมื่อซื้อไปแล้วกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะบูรณาการในการจัดการ และจัดซื้อ โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นผู้บูรณาการร่วมกัน จะใช้เงินจากกองทุนการยาง ถ้าไม่พอก็สำรองเงินสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร (ธ.ก.ส.) และในส่วนอคส.จะรับซื้อ 100,000 ตัน ตัวเลขกิโลกรัมละ 45 บาทนั้นทุกฝ่ายพอใจ ส่วนน้ำยางสดและยางก้นถ้วย จะซื้อในราคาลดหลั่นลงไป หากมีความพร้อมก็รับซื้อได้ทันที เป็นการซื้อโดยตรงจากเกษตรกร
     ผู้สื่อข่าวถามว่าเกษตรกรยังยืนยันให้รัฐบาลรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 60 บาท พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เกษตรกรคนไหน ไม่มี วันนี้เกษตรกรโอเคแล้ว จบแล้ว จบที่ราคากิโลกรัมละ 45 บาท เป็นการซื้อในจำนวน 100,000 ตันก่อน ส่วนจะใช้งบประมาณเท่าไรนั้นยังไม่ทราบ ไม่เป็นไร เงินมี นี่ซื้อจากเกษตรกรโดยตรง เกษตรกรมียางก็มาขาย เราก็รับซื้อ ไม่เห็นยากอะไรเลย

นำเข้าครม.อนุมัติงบจัดซื้อ
    ต่อข้อถามว่ายาง 100,000 ตันถือว่าไม่มากเท่าไหร่ รองนายกฯ กล่าวว่าถ้ามีอีกก็จะซื้ออีก แต่ในขั้นต้นตกลงกันอย่างนี้ก่อน แม้วันนี้ยังไม่ได้ซื้อยางในราคากิโลกรัมละ 45 บาท ราคายางก็ขึ้นมาแล้วถึงกิโลกรัมละ 2 บาท และยางที่รับซื้อก็ไม่ได้เอาไปไหน แต่จะเอาไปแปรรูปใช้ในประเทศตามนโยบายของรัฐบาล แต่ต้องเข้าใจว่าตอนนี้ยางมีจำนวนมาก และก็ต้องรู้ว่าควรจะผลิตเท่าไหร่ และกระทรวงเกษตรฯ จะต้องบูรณาการเรื่องนี้ให้ดีว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป ตอนนี้ต้องแก้ปัญหา เพราะเกษตรกรบอกว่าอยู่ไม่ได้ เราจะต้องทำให้เขาอยู่ได้
      ผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องนำมติเข้าที่ประชุมครม.ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าอาจต้องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ตนถูกแต่งตั้งโดย นายกฯ ก็ต้องรายงานให้นายกฯ ทราบ หากเห็นว่าต้องมีอะไรเพิ่มเติม ก็สั่งการเข้ามาได้ และที่ต้องเข้า ครม. เพราะต้องอนุมมัติงบประมาณ และขณะนี้ 8 กระทรวงที่นายกฯ สั่งการให้ดูแลเรื่องนี้มีความพร้อมในการทำงาน ไม่มีใครน้อยใจเรื่องอะไรทั้งสิ้น มีแต่ความฮึกเหิม

'ฉัตรชัย'โต้น้อยใจ-สู้แก้ยาง
       ส่วน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ กล่าวถึงข่าวระบุอยากลาออกจาก รมว.เกษตรฯ เพราะรู้สึกเสียหน้าและเสียศักดิ์ศรีที่ต้องให้กระทรวงอื่นเข้ามาช่วยแก้ปัญหาราคายาง ในระหว่างการประชุม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงว่า ไม่ใช่เรื่องจริง บอกไปว่าจะน้อยใจไม่ได้ นายกฯ มอบหมายให้ 8 หน่วยงาน 8 กระทรวงมาช่วยเราทำงาน เพราะนายกฯ หวังดีที่ให้หน่วยงานทั้ง 8 มาช่วยเราเพิ่มเติม ก็บอกไปว่าอย่าน้อยใจและต้องตั้งใจทำงาน ทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่มาช่วย และตนจะนำแผนที่กระทรวงเกษตรฯ เตรียมทำงานไว้มาร่วมกับหน่วยงานอื่นที่จะเสนอใหม่
    "ยืนยันว่า ไม่ได้มีบ่นน้อยใจ ผมเป็นทหาร เราได้รับภารกิจที่ต้องดูแลประชาชนในเรื่องเกษตร ไม่เฉพาะแค่เรื่องยาง และต้องเตรียมอย่างอื่นด้วย วันนี้ผมไม่มีรัฐมนตรีช่วย และต้องการเตรียมการเรื่องภัยแล้ง เรื่องข้าว สำหรับเรื่องยางวันนี้เมื่อมีกระแสมาก เราก็ให้น้ำหนักมาก ต้องปลุกเร้าคนในกระทรวงเกษตรฯ ด้วยว่าเราจะทำงานแบบเดิมไม่ได้ จะไปน้อยใจไม่ได้ พอมีปัญหากระทรวงเกษตรฯ ต้องรับผิดชอบ วันนี้นายกฯ กรุณาเอาหน่วยงานอื่นมาเติมให้ เราก็ต้องยิ่งช่วยทำงาน" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว


ขอโล 60 - สมาคมชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลผ่านศูนย์ดำรงธรรม จ.สุราษฎร์ธานี ขอให้รับซื้อยางแผ่นก.ก.ละ 60 บาท พร้อมระบุมาตรการรับซื้อยางเป็นการช่วยกลุ่มนายทุนมากกว่า เมื่อวันที่ 14 ม.ค.

คลังสั่งแบงก์รัฐปล่อยกู้ซื้อยาง
      ขณะเดียวกัน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่ากระทรวงจะออก 3 มาตรการ คือ 1.ให้ธนาคารออมสิน และธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อไม่คิดดอกเบี้ยให้กับองค์การคลังสินค้า เพื่อนำไปซื้อยางพาราโดยตรงจากเกษตรกรผู้ปลูกตามนโยบายช่วยเหลือของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ทั้งหมด จะเสนอ ครม.เห็นชอบในสัปดาห์หน้า 2.ยังให้ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็ม อีแบงก์) และธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการสัญญาว่าจ้างผลิตโดยใช้ยางพาราจาก 8 หน่วยงานราชการที่รับซื้อจากผู้ปลูก สามารถดำเนินการได้ทันทีไม่ต้องขอ ครม. เพราะเป็นการดำเนินตามปกติของธนาคารอยู่แล้ว
     รมว.คลัง กล่าวต่อว่า 3.เป็นการเพิ่มเติมมาตรการเดิม กระทรวงการคลังจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง ที่ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการซื้อยางพาราเก็บไว้เพิ่ม โดยเพิ่มประเภทการซื้อยางจากเดิมแค่น้ำยางข้น มาเป็นยางแผ่นและยางแท่ง ทำให้ช่วยดึงราคายางพาราในตลาดขึ้นได้ มาตรการนี้จะเสนอให้ ครม. เห็นชอบในสัปดาห์หน้าเช่นกัน ทั้ง 3 มาตรการ มีผล 1 ปี
    ส่วนนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า คาดว่ากระทรวงการคลังต้องชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ หรือ 80-100 ล้านบาทต่อปี ส่วนการรับซื้อยางที่ราคา 45 บาทต่อกิโลกรัม ต้องใช้เงิน 4,500 ล้านบาท

ยางใต้ชี้ 3 กลุ่มได้ประโยชน์
     สำหรับ ความเคลื่อนไหวและเสียงสะท้อนจากชาวสวนยางในพื้นที่ เกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำนั้น ที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายเด่นเดช เดชมณี เลขาธิการสมาคมชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ นายกิติศักดิ์ วิโรจน์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน จ.สุราษฎร์ธานี และนายสมปราชญ์ วุฒิจันทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เข้ายื่นหนังสือต่อนายพิชิต ตู้บรรเทิง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม จ.สุราษฎร์ ธานี ผ่านไปยังรัฐบาล
   นายกิติศักดิ์ กล่าวว่าหลังจากครม.มีมติรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรโดยตรง 100,000 ตัน ในราคาสูงกว่าท้องตลาดนั้น พวกเรามีความเห็นว่าแนวทางนี้ยังไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างแท้จริง เพราะชาวสวนยางในภาคใต้มีพฤติกรรมการขายผลผลิตยางพาราเป็นเศษยาง หรือขี้ยาง และน้ำยางเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ กลุ่มผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากมติ ครม. มีเพียง 3 กลุ่ม คือสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ กลุ่มนายทุนโรงรมควันยางพารา และ กลุ่ม 5 เสือยางพาราในประเทศไทย

ย้ำราคายางดิบต้อง 60 บาท
     นายกิติศักดิ์กล่าวต่อว่าเพื่อเป็นการแก้ปัญหาตรงจุด สมาคมเกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี ขอเสนอแนวทางเพิ่มเติม 4 ข้อ ดังนี้ 1.รัฐบาลควรเปลี่ยนแนวทางการมุ่งเน้นการรับซื้อเฉพาะยางแผ่นมาเป็นเศษยาง ขี้ยาง และน้ำยางพาราแทน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือชาวสวนยางรายย่อย 2.รัฐบาลควรกำหนดราคารับซื้อยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 60 บาท 3.รัฐบาลควรปรับขึ้นราคาน้ำยางและเศษยางตามระดับราคาที่เหมาะสมกัน โดยกำหนดราคาน้ำยางอยู่ที่ 55 บาท และราคาเศษยางอยู่ที่ 30-32 บาท และ 4.รัฐบาลควรเพิ่มหน่วยงานรับซื้อยางพาราที่กระจายไปยังอำเภอต่างๆ โดยไม่ระบุเฉพาะตลาดกลางเพียงแห่งเดียว
     ตัวแทนชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้กล่าวอีกว่า และเพื่อสร้างช่องทางให้กับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ และเพื่อเกิดความโปร่งใสในกระบวนการรับซื้อยางพารา นอกจากนี้ควรระบุระยะเวลาในการได้รับเงินไม่ให้เกิน 7 วันหลังจากการรับซื้อ ไม่ควรจำกัดผู้มีสิทธิ์ ผู้ขายยางพาราว่าต้องเป็นผู้มีเอกสารสิทธิเท่านั้น และรัฐบาลควรกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรร่วมกับชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้ในการศึกษาข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงประเด็นและเป็นรูปธรรม

สงขลาเฮ 45 บ.-นครฯไม่พอใจ
     ด้านนายปรีชา สุขเกษม แกนนำเกษตรกรชาวสวนยาง จ.สงขลา กล่าวว่าพอใจในระดับหนึ่งที่รัฐบาลมีมติรับซื้อยางแผ่นกิโลกรัมละ 45 บาท เป็นมาตรการแก้ปัญหาราคายางพาราเฉพาะหน้า พวกเราให้โอกาสรัฐบาลทำงาน แต่ยังต้องติดตามมาตรการระยะกลางในการกำหนดทิศทางราคายาง เพื่อให้เกษตรกรปรับตัวได้เหมาะสมว่าควรจะโค่นต้นยางกี่ไร่ ปลูกพืชตัวอื่นทดแทนกี่ไร่ และมาตรการยะยะยาวการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยาง
    ส่วนนายประทีป กลีบแก้ว ประธานสภาเกษตรกร จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่ายางกิโลกรัมละ 45 บาท ดีกว่า 3 กิโลฯ 100 แน่นอน แต่ต้องดูสถานการณ์ของตลาดยางด้วย แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของเกษตรกรชาวสวนยางเท่าไหร่ เพราะต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่ ถ้าจะให้ดีต้องอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท เกษตรกรถึงจะอยู่ได้ ส่วนการรับซื้อยางพารา 100,000 ตัน ไม่แน่ใจว่ารับซื้อจากที่ไหน ที่กลัวที่สุดคือไม่ถึงมือชาวสวนยางที่แท้จริง จึงอยากให้เกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการของรัฐบาลด้วย

'ณัฐวุฒิ'ขอให้ช่วยชาวนาด้วย
     ขณะเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่าในที่สุดรัฐบาลก็ออกมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง แม้ว่าจะล่าช้า เมื่อลงมือทำแล้วก็ขอให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรอย่างแท้จริง แต่มีข้อห่วงใยบางประการให้รัฐบาลพิจารณา 1.ก่อนหน้านี้รัฐบาลบอกว่าที่แก้ปัญหาล่าช้า ส่วนหนึ่งเกิดจากยังไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แต่เมื่อแต่งตั้งแล้วกลับมอบหมายให้ อคส.เป็นหน่วยงานหลัก ทั้งที่ อคส.ไม่มีประสบการณ์ในตลาดซื้อขายยางที่เป็นบทบาทขององค์การสวนยางมาตลอด กรณีนี้จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ 2.การกำหนดราคารับซื้อ 45 บาท ในปริมาณ 100,000 ตัน จะยืนราคาจนครบจำนวนรับซื้อ หรือปรับเปลี่ยนตามสภาพตลาด เช่น หากผ่านไป 1 สัปดาห์ราคาในตลาดสูงขึ้นหรือต่ำลง จะปรับราคาตาม เพื่อนำตลาดต่อไปหรือไม่ หากยังคงยืนราคาเดิมเชื่อว่าจะเกิดเสียงเรียกร้องจากเกษตรกรอีกครั้ง
     นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า 3.เห็นด้วยกับการออกมาตรการเสริม เช่น กระทรวงพาณิชย์จัดโครงการธงฟ้าจำหน่ายสินค้าราคาถูก แต่ควรขับเคลื่อนพร้อมกันในพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะเจาะจงเพียงภาคใดภาคหนึ่ง 4.รูปธรรมการนำยางพารามาใช้ในประเทศควรเดินหน้าโดยเร็วที่สุด และทำไปพร้อมกับการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ เพื่อผลทางจิตวิทยาในตลาดซื้อขายระดับโลก และ 5.เมื่อรัฐบาลอ้างว่าไม่มีเงินมาตลอด แต่สามารถจัดสรรเม็ดเงินมาแก้ปัญหาเรื่องยางพาราได้ ก็ควรหันไปมองปัญหาชาวนาที่กำลังเดือดร้อนยกกำลังสอง ทั้งจากระดับราคาที่ตกต่ำอย่างยิ่ง หลังไม่มีโครงการจำนำข้าว และสภาพภัยแล้งที่วิกฤตตั้งแต่ต้นปีด้วย

แถลงจัดงาน'วันยางบึงกาฬ'
    วันเดียวกัน ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน หรือมติชนอคาเดมี ย่านประชานิเวศน์ 1 ทางจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับ อบจ.บึงกาฬ เหล่ากาชาดจังหวัดบึงกาฬ หอการค้าจังหวัดบึงกาฬ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน แถลงข่าว'งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559' ในวันที่ 21-27 ม.ค.2559 บริเวณที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ เพื่อผลักดันให้ จ.บึงกาฬ เป็นศูนย์กลางยางพาราของภาคอีสาน และขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
      โดยมี นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นายสุรพล พิทยาสกุล ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายชัยธวัช เนียมศิริ รอง ผวจ.บึงกาฬ, นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ และนายโทนี่ เฉิน ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประเทศไทย บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ร่วมแถลงข่าว

เปิด 10 โซน-สุดยอดกิจกรรม
     นายสุรพล กล่าวว่า งานปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "บึงกาฬเมืองแห่งยางพารา การค้า และการท่องเที่ยว" เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ จ.บึงกาฬ เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยางพาราของภาคอีสาน และเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวส่งเสริมสนับสนุนการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ในครัวเรือน และรองรับนักท่องเที่ยวภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองแห่งการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ในนิทรรศการ "ฝากไทย" จะจัดแสดงตัวอย่างของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวจากทั้ง 5 ภาค
     นายสุรพล กล่าวต่อว่าภายในงานแบ่งพื้นที่กิจกรรม 10 โซน คือ 1.เวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน 2.นิทรรศการเมืองแห่งยางพารา การค้า และการท่องเที่ยว 3.อบรมอาชีพเด่นเพื่อชาวบึงกาฬ 4.นวัตกรรมและสินค้าน่าซื้อ 5.สุดยอดยนตรกรรมมอเตอร์โชว์ 6.เกษตรยั่งยืนกับ ธ.ก.ส. 7.สินค้าโอท็อปและผลิตภัณฑ์ชุมชน 8.ลานกิจกรรมแข่งขันยางพารา 9.เวทีประกวดบึงกาฬคอนเทสต์และคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดัง อาทิ นกน้อย-อุไรพร, ตั๊กแตน-ชลลดา, หญิงลี, พีสะเดิด, ไผ่-พงศธร และ ลาบานูน แล 10.งานกาชาดบึงกาฬ

ชูยุทธวิธีแก้ปัญหายางครบวงจร
      ส่วนนายพินิจกล่าวว่าครั้งนี้จะมีเนื้อหาสาระมากกว่าทุกปี จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยจะบอกถึงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของการแก้ปัญหายางพาราอย่างครบวงจร ไฮไลต์ของงานคือการแปรรูปยางพารา เช่น หมอน ที่นอนยางพารา และสนามกีฬาต่างๆ หากเกษตรกรพึ่งตนเองและภาครัฐส่งเสริมสถาบันการศึกษาเพื่อช่วยเหลือเทคโนโลยี กระทรวงพาณิชย์ช่วยเหลือด้านการตลาด และกระทรวงอุตสาหกรรมช่วยเหลือด้านบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นทางออกให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง งานนี้จะเป็นประโยชน์ได้รับความรู้และมีคุณค่า และอีกไฮไลต์คือ เครื่องกรีดยางอัตโนมัติจากบริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด จะนำมาจัดแสดงภายในงาน และงานนี้จะเป็นโมเดลต้นแบบของวงการอุตสาหกรรมยางพาราอย่างครบวงจร
     อดีตรองนายกฯ กล่าวต่อว่าส่วนการแก้ปัญหาของทางภาครัฐนั้น นับว่าแก้มาถูกทางแล้วในเรื่องของการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา เราจะไม่ขายเป็นวัตถุดิบแต่เพียงอย่างเดียว เราจะขายเป็นสินค้าที่ผ่านการแปรรูปแล้ว เช่น ล้อยาง ถุงมือ หมอน ที่นอน และสนามกีฬายางพารา ทางภาครัฐให้หน่วยงานต่างๆ ให้ใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่ผลิตภายในประเทศนั้น เป็นเรื่องที่ดีมาก และผลักดันให้ราคายางพาราสูงถึง 45 บาท เป็นแนวทางที่ถูกต้องและผมสนับสนุนเต็มที่

โชว์นวัตกรรมใหม่จากจีน
    ขณะที่นายชัยธวัชกล่าวว่างานครั้งนี้จะเสริมสร้างกระจายรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของ จ.บึงกาฬ ให้เพิ่มมากขึ้น และจะเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ถึงแม้ว่าสถานการณ์ราคายางจะตกต่ำ แสดงให้เห็นว่าชาว จ.บึงกาฬ ไม่เคยท้อถอยและไม่เคยยอมแพ้ เราพยายามจะช่วยเหลือตัวเอง และหาหนทางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มค่าครองชีพและเสริมรายได้ให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย
    รอง ผวจ.บึงกาฬ กล่าวต่อถึงความพิเศษของการจัดงานในครั้งนี้ เราจะก้าวเข้าสู่สากลโดยเชิญประเทศเพื่อนบ้าน 10 ชาติอาเซียนและประเทศจีนเข้าร่วมงาน นอกจากนี้ ยังโชว์นวัตกรรมใหม่ๆ จากประเทศจีน การจัดงานในครั้งนี้ต้องการสะท้อนถึงรัฐบาลให้เห็นว่า การแก้ปัญหาของเกษตรกรที่แท้จริง คือการเพิ่มมูลค่าของยางพารา โดยจะต้องนำยางพาราจากเกษตรกรโดยตรงนำมาเพิ่มมูลค่า และรัฐบาลจะต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหาให้ถูกจุด จะต้องแก้ทั้งระบบให้ยั่งยืน โดยให้ชาวบ้านทำผลิตภัณฑ์ขายเองรายได้ทั้งหมดก็จะเป็นของชาวบ้าน

งานยาง'บึงกาฬ'จัดยาว ชูแปรรูป"ลาว-จีน"ร่วม

'บึงกาฬ'พร้อมจัด'งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ 2559' ตั้งแต่ 21-27 ม.ค. เปิดตัว'หมอนสุขภาพยางพารา'ป้องกันภูมิแพ้
ยางบึงกาฬ - นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกฯ นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ นายชัยธวัช เนียมศิริ รองผู้ว่าฯบึงกาฬ นายเฉินหู้เชิง บริษัทรับเบอร์ฯ พร้อมผู้บริหารเครือมติชน ร่วมแถลงจัด "งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ" ครั้งที่ 4 ที่อาคารมติชนอคาเดมี เมื่อวันที่ 14 มกราคม

  เมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่อาคารมติชนอคาเดมี มีการเเถลงข่าวการจัด 'งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ 2559'จัดโดย จ.บึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ เหล่ากาชาดบึงกาฬ หอการค้าจังหวัดบึงกาฬ หน่วยงานราชการและเอกชน ระหว่างวันที่ 21-27 มกราคม ณ ที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ

   นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเเละประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ กล่าวว่า งานวันยางพาราบึงกาฬปีนี้มีความเข้มข้น น่าสนใจ มีการให้ความรู้เพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

    จ.บึงกาฬเเละจังหวัดใกล้เคียง ปีนี้จะมีชาวสวนยางจากภาคใต้มาร่วมงานด้วย รวมทั้งมีตัวเเทนจากเเขวงบอลิคำไซ แขวงคำม่วน แขวงเชียงขวาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และตัวแทนจากเอกชนจีนมาร่วมงานด้วย

    "สำหรับประเทศไทยเริ่มเเรกยางพาราเข้ามาก็บอกกันว่าปลูกได้เฉพาะที่ภาคใต้ อีสานแล้งปลูกไม่ได้ แต่พอมีคนปลูกได้ผล ผมนำมาต่อยอดปลูกยางพาราที่บึงกาฬ พอยางเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความยากจน สร้างรายได้ให้กับชาวสวนในภาคอีสาน ผมก็เลยมีแนวคิดว่าควรจะมีเวทีระดมสมองเรื่องยางพาราขึ้นในภาคอีสาน เป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มจัดงานวันยางพาราจนประสบความสำเร็จถึงปีนี้ เเละวันนี้รัฐบาลมีมติรับซื้อยางแผ่นดิบรมควันกิโลกรัมละ 45 บาท เป็นนิมิตหมายอันดีว่าพอเเถลงข่าวจัดงานวันยางพารา ราคายางก็เพิ่มขึ้น" นายพินิจกล่าว

     นายพินิจ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาราคายางพาราต้องเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป ซึ่งเป็นทางออกที่เห็นผลเป็นรูปธรรมที่สุด การที่รัฐบาลเข้ามาส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปยางเป็นสินค้าต่างๆ เป็นทางออกที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องพึ่งตนเองโดยการรวมกลุ่มกันให้เข้มแข็ง อาจเป็นสหกรณ์อย่างที่ จ.บึงกาฬ ทำอยู่ขณะนี้ เมื่อส่งเสริมการแปรรูปแล้ว ก็ให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล เช่น กระทรวงพาณิชย์ไปดูเรื่องช่องทางการตลาด กระทรวงอุตสาหกรรมไปดูเรื่องแพคเกจจิ้งต่างๆ ต้องช่วยกันทั้งหมดเพื่อช่วยเกษตรกรเพิ่มมูลค่ายาง

      นายชัยธวัช เนียมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า งานวันยางพาราถือเป็นงานประจำปีของ จ.บึงกาฬ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางมากเป็นอันดับ 1 ของภาคอีสาน ประชาชน 50% มีรายได้จากการปลูกยาง ขณะเดียวกันยังเป็นจังหวัดน้องใหม่ เพิ่งก่อตั้งได้ครบ 5 ปี เเต่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากภูมิรัฐศาสตร์ เรายังไม่เคยมีปัญหาเรื่องภัยเเล้ง เรามีจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ มีสะพานมิตรภาพเเห่งที่ 5 เมื่อสร้างเสร็จเเล้วจาก จ.บึงกาฬ 300 กิโลเมตร ไปถึงท่าเรือ จ.ฮาติงห์ ประเทศเวียดนาม สามารถส่งต่อวัตถุดิบทางเรือไปประเทศจีน ญี่ปุ่น เเละไต้หวัน ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันมาก เป็นเส้นทางสายไหมเเห่งที่ 2 ที่จะเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ

   นายชัยธวัช กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการเตรียมพื้นที่ 4,000 ไร่ ใน ต.ไคสี ห่างจากตัวเมืองบึงกาฬ 20 กิโลเมตร เพื่อทำสนามบินบึงกาฬในอนาคต ขณะที่ประชาชนใน จ.บึงกาฬ มีอัตลักษณ์ของตัวเอง ยอมรับในกติกาบ้านเมือง ไม่มีการเเบ่งเเยกเเบ่งสีในกลุ่มประชาชน

   นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ กล่าวว่า ขณะที่มีวิกฤตราคายาง ที่ จ.บึงกาฬ ไม่มีการเดินขบวนเรียกร้อง เราร่วมมือกับอาจารย์จากสถาบันวิจัยยางเพื่อหาวิธีการเเปรรูปยางพารา เป็นโมเดลเเก้ปัญหาที่ยั่งยืน เเละมีตลาดจากประเทศจีนรองรับ การเเปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรสนับสนุนเพื่อเเก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

    "เราเตรียมจะทำโรงงานผลิตหมอนเเละที่นอนยางพาราของชุมชนสหกรณ์ยางพาราจังหวัดบึงกาฬ ตอนนี้น้ำยางพาราราคาประมาณ 10 บาท หมอนเเต่ละใบใช้ยาง 5 กิโลกรัม เท่ากับ 1 ใบ ใช้ยางพารา 50 บาท เราสามารถขายได้ราคาหลักร้อยถึงหลักพันบาท เป็นการเพิ่มมูลค่า เเละเเต่ละวันผลิตได้ 8,000 ใบ ต่อปีใช้ยางพารา 12,000 ตัน จะเเก้ปัญหาเรื่องน้ำยางพาราล้นตลาดได้" นายนิพนธ์กล่าว

     นายเฉินหู้เซิง (โทนี่ เฉิน) ผู้อำนวยการฝ่ายประเทศไทย บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ประเทศจีน กล่าวว่า บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ ร่วมงานวันยางพาราที่ จ.บึงกาฬ ทุกปี ทุกครั้งที่มาเรามีความประทับใจกับการต้อนรับ เเละดีใจที่มาเห็นเเหล่งวัตถุดิบยางพาราของภาคอีสานซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญ จ.บึงกาฬ ตั้งอยู่ในทำเลทองติดกับลาว ติดกับแม่น้ำโขง เเละอีกไม่นานก็จะมีเส้นทางรถไฟเชื่อมจากไทยไปถึงหนานหนิง ประเทศจีนด้วย

    นายเฉินหู้เซิง กล่าวว่า ทุกวันนี้ประเทศจีนมีความต้องการใช้ยางธรรมชาติปีละประมาณ 4 ล้านตัน เเต่เราสามารถผลิตได้เพียง 1 ล้านตัน เนื่องจากเรามีพื้นที่ที่ปลูกยางพาราได้เพียง 2 แห่ง คือ มณฑลไหหลำและมณฑลยูนนาน ยางที่เราใช้อีก 3 ล้านกว่าตัน จึงต้องนำเข้าจากประเทศต่างๆ โดยนำเข้าจากไทยมากที่สุดถึง 70%

    "ในงานวันยางพาราบึงกาฬปีนี้ จึงมีบริษัทจากประเทศจีนเข้าร่วม 5 บริษัท รวมถึงรับเบอร์ วัลเล่ย์ด้วย ซึ่งบริษัทต่างๆ เหล่านี้ก็รู้สึกดีใจที่มีเเหล่งวัตถุดิบยางพาราอยู่ทั่วประเทศ การที่หลายบริษัทเข้ามาลงทุนที่ไทย จะทำให้มีอุตสาหกรรมที่บริโภคยางปริมาณมากอยู่ที่ไทย" นายเฉินหู้เซิงกล่าว

     นายไชยา วรสิงห์ แห่งศูนย์วิจัยวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ภายในงานยังมีการเปิดตัวนวัตกรรม "หมอนยางพารา" โดยผลิตจากน้ำยางสดของยางพารา มีลักษณะที่มักเรียกกันว่า "ฟองน้ำ" สามารถพัฒนาให้หลากหลายรูปแบบตามบล็อกที่เราดีไซน์ เช่น รูปช้าง เป็นต้น การลงทุนในการผลิตประมาณหลักแสนกว่าบาท

    นายไชยา กล่าวว่า หมอนพาราถือเป็นหมอนสุขภาพ เพราะยางซึ่งนำมาผลิตเป็นหมอนจะไม่มีอาหารของไรฝุ่น จึงช่วยป้องกันภูมิแพ้ ลักษณะโครงสร้างของหมอนจะเป็นรูพรุน ความยืดหยุ่นดีกว่าหมอนใยสังเคราะห์ เมื่อเรานอน หมอนจะห่อศีรษะเรา ทำให้รองรับศีรษะได้ดี มีการทดลองโดยโยนแก้วน้ำลงไป ปรากฏว่าแก้วน้ำไม่แตก หมอนยางพาราจึงมีคุณสมบัติยืดหยุ่นสูงมาก ส่วนความต้องการของตลาดก็ค่อนข้างดีในประเทศจีน โดยด้านตลาดการส่งออกจะพัฒนาที่ จ.บึงกาฬ อย่างเข้มข้น

    ด้านนายสุรพล พิทยาสกุล ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬจัดขึ้นปีนี้เป็นครั้งที่ 4 โดยปีนี้มีความพิเศษคือ จัดขึ้น 7 วัน มีการเพิ่มเติมเนื้อหาความรู้เเละกิจกรรมมากมายถึง 10 โซนกิจกรรม อาทิ โซนเสวนาเเละความรู้ โซนนิทรรศการ โซนอบรมอาชีพ โซนนวัตกรรมเเละสินค้าน่าซื้อ โซนสินค้าโอท็อป โซนการเเข่งขันยางพารา เวทีเเละกิจกรรมบันบันเทิง เป็นต้น

      "ปีนี้แต่ละโซนก็มีความพิเศษ เช่น นิทรรศการฝากไทยสัญจรที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภาคอีสาน การอบรมอาชีพเด่นตลอด 7 วัน ปีที่ผ่านมามีประชาชนทั้งใน จ.บึงกาฬและจังหวัดต่างๆ มาร่วมอบรมจำนวนมาก ส่วนกิจกรรมบันเทิงมีคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง อาทิ คณะหมอลำ นกน้อย อุไรพร, พี สะเดิด, ลาบานูน, ตั๊กเเตน ชลดา, ไผ่ พงศธร, หญิงลี ศรีจุมพล และยังมีกิจกรรมพิเศษเป็นปีแรกคือ การประกวดบึงกาฬคอนเทสต์ 2016 โดยตัวเเทนเเต่ละอำเภอมาเเข่งขันกัน" นายสุรพลกล่าว

 

แก้ยาง-ระยะยาว

บทนำมติชน

     รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศช่วยเหลือชาวสวนยาง ด้วยการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรโดยตรง ไม่ผ่านคนกลาง จำนวน 1 แสนตันในเบื้องต้น หรืออาจจะมากกว่านั้น โดยใช้งบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ราคากก.ละไม่เกิน 60 บาท ด้วยวิธีการที่เรียกว่า เป็นการซื้อนำตลาด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หลังจากที่เกษตรกรชาวสวนยาง ประสบปัญหาราคายางมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดตกหนักถึงขนาดกล่าวกันว่า 4 โลร้อย ทำให้ชาวสวนยางในภาคใต้ ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ 

     นอกจากมาตรการซื้อตรงแล้ว ยังมีมาตรการเสริมจากกระทรวงต่างๆ ได้แก่ การลดภาระค่าครองชีพ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ จะแจกข้าวสารให้ฟรี ให้แก่เกษตรกรสวนยางที่ลงทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ ประมาณ 8 แสนครัวเรือน จาก 68 จังหวัด รวมถุงข้าว 4 ล้านถุง ภายในเดือนมี.ค.นี้ คิดเป็นงบประมาณ 300 ล้านบาท และยังมีโครงการนำสินค้าธงฟ้า ที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาด 40-20% ไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อลดค่าครองชีพ เบื้องต้นเริ่มจาก 14 จังหวัดภาคใต้ เริ่มเดือน ม.ค. ถึง มี.ค. นี้ ใช้งบประมาณ 17 ล้านบาท และยังผลักดันให้กระทรวงต่างๆ 8 กระทรวง ใช้ยางพาราในโครงการต่างๆ และสรุปได้ว่า มียอดรวมความต้องการใช้ 9.08 หมื่นตัน วงเงิน 7.5 หมื่นล้านบาท โดยอาจนำไปก่อสร้างถนน หรือซ่อมถนนชำรุด เคลือบบ่อน้ำ ทำผนังบ่อดิน ทำฝายทดน้ำ ฝายยาง ถุงมือยาง รองเท้ายาง รวมไปถึงการใช้ทำลู่วิ่ง ลานกีฬาอเนกประสงค์

     เกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ปกติมักถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำให้รัฐต้องเข้าแทรกแซงด้วยวิธีการต่างๆ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน สำหรับยางพารา เป็นสินค้าเกษตรที่นำรายได้เข้าประเทศอย่างโดดเด่น แต่ระยะหลัง มีการผลิตจำนวนมาก แต่ความต้องการใช้ลดลง การที่รัฐบาลช่วยเหลือจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่ต้องมีมาตรการระยะยาวไปพร้อมกันด้วย ที่ผ่านมา มีการย่อหย่อนในการปฏิบัติ อาทิ การใช้ยางพาราในโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่พูดถึงตั้งแต่รัฐบาลก่อน แต่ไม่ค่อยปรากฏการปฏิบัติจริง และยังย่อหย่อนในการวางแผน ไม่เฉพาะยางพารา แต่ยังมีพืชผลอีกหลายประเภทที่มีปัญหาทำนองเดียวกัน รัฐบาลน่าจะถือโอกาสนี้วางแผนแก้ปัญหาล่วงหน้าในทุกพืชผล ดีกว่าปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วโดดลงไปแก้ไข ซึ่งอาจทันการหรือไม่ทันการ ซึ่งล้วนแต่เป็นความทุกข์ร้อนของประชาชนทั้งสิ้น

 

 

พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ปธ.บอร์ด'การยาง'




คอลัมน์ คนตามข่าว

ประธานคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

ครม.มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 12 มกราคม

ที่ผ่านมา ในวันเดียวกับที่ได้มีแนวทางแก้ปัญหายางพารา 2 ขา ประกอบด้วย มาตรการ 15-16 มาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างดำเนินการ และนายกฯสั่งการ ให้รับซื้อยางพาราจากเกษตรกรโดยตรงไม่ผ่านสหกรณ์ เบื้องต้น 1 แสนตัน

เกิด 7 สิงหาคม 2498 ชื่อเล่นเบี้ยว หรือบิ๊กเบี้ยว ตท.15 วิทยาศาสตรบัณฑิตโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (รุ่น 26 ) ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตร การป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 21 จาก วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 

รองเสนาธิการทหารบก อาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ผู้ช่วยทูตทหารไทย กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้อำนวยการกอง กรมยุทธการทหารบก เจ้ากรมยุทธการทหารบก 

ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ

ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการคือเสนาธิการทหารบก นั่งเก้าอี้ระหว่าง 1 ตุลาคม 2557-30 กันยายน 2558

ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามประกาศแต่งตั้ง ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 

เข้ารับตำแหน่งประธานบอร์ด กยท. องค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร ให้ระดับราคามีเสถียรภาพ ในท่ามกลางปัญหา ราคาตกต่ำ รัฐบาลต้องเข้ามาอุ้มชูช่วยเหลือ แก้ไขความเดือดร้อนเฉพาะหน้า

มั่นใจในภารกิจท้าทายที่ได้รับมอบหมาย

ตอบโต้ผู้ปรามาสฝีมือว่า ถึงเป็นทหารก็เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการมาเหมือนกัน

 

 

 

 

 

 

วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9180 ข่าวสดรายวัน

พท.ชี้แก้ยางก็ประชานิยม อีสานพ้อรัฐรับซื้อไม่ทั่วฟ้า 


ขายยาง - เกษตรกรนำยางแผ่นมาขายที่ตลาดกลางหาดใหญ่ จ.สงขลา หลังราคาขยับขึ้นเล็กน้อยจากมาตรการรับซื้อของรัฐบาลราคา ก.ก.ละ 45 บาท ขณะที่ชาวสวนยาง ภาคเหนือ-อีสานออกมาเรียกร้องว่าไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว

       รัฐบาลให้ครัวเรือนละไม่เกิน 150 ก.ก.รับซื้อยางราคา 45 บาท ชาวสวนยางภาคเหนือ -อีสานโวยบ้าง ชี้มีแต่ภาคใต้ที่ได้ประโยชน์เพราะยังกรีดกันอยู่ ส่วนเหนือ-อีสานหยุดกรีดไปแล้ว เปรียบเหมือนน้ำท่วมปาก จุกอก ช่วยเหลือแบบ 2 มาตรฐาน ด้าน "ยรรยง" อดีตรมช.พาณิชย์ เชียร์รัฐบาลรับซื้อยาง ชี้เป็นวิธีช่วยเหลือเกษตรกรรูปแบบเดียวกับ "จำนำข้าว" ส่วน "ปึ้ง" อดีตรองนายกฯ ก็อยากให้ใช้วิธีการซื้อแบบนี้ช่วยชาวนา รวมถึงสินค้าทางการเกษตรอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะชาวสวนยางอำนาจเจริญที่หันมาปลูก "หมามุ่ย" เป็นพืชเสริม ขณะนี้หาตลาดไม่ได้ ไม่มีคนรับซื้อ 

'บิ๊กตู่'แจงเหตุแก้ปัญหายางช้า 

      เมื่อวันที่ 15 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ จากใจ นายกฯ โดยตอนหนึ่งระบุถึงการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำว่า อยากให้ทุกคนเข้าใจสถานการณ์บ้านเมือง เรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ เรื่องยาง ทำอะไรก็ผิดหมด รมว.เกษตรและสหกรณ์ก็เต็มที่ รมว.พาณิชย์ก็เต็มที่ วันนี้ยังมีปัญหาอยู่ ช้าบ้าง แต่ไม่ได้ช้าที่ข้าราชการ ไม่ได้ช้าที่รัฐบาล ช้าที่ข้างล่างด้วย คือเกษตรกร ประชาชน ไม่ค่อยร่วมมือ ไม่ชอบจัดระเบียบ หาว่าใช้การปกครอง ไม่ได้ปกครอง เพียงขอให้ขึ้นทะเบียนให้ได้ วันนี้จ่ายเงิน 1,500 บาทไม่ได้ เพราะจดทะเบียนไว้ 4 แสน ที่เหลือไม่ได้จด ที่ถูกต้องกฎหมายมีส่วนหนึ่ง ที่ไม่ถูกต้องผิดกฎหมายก็มีส่วนหนึ่ง 

      "การแก้ปัญหาจะให้ทำเป็นแบบง่ายก็รอเวลาการเลือกตั้ง ไม่ต้องทำอะไร ประท้วงก็เอาเงินไป หมดเงิน ก็โดนด่าตามหลังทุกที ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพื่ออนาคตประเทศชาติ ด้วยความห่วงใยและด้วยความตั้งใจ ขอให้ดูแลครม.ด้วย อยากจะพูดเล่นๆ ให้สบายใจ หาว่าเครียด ถ้ามีปัญหามาก รัฐมนตรีมีปัญหามาก ไม่อยากปลดใคร ออก จะเสนอตั้งรัฐมนตรีพร้อมกับเป็นรองรัฐมนตรีด้วยทั้งหมดเลยได้หรือไม่ เพราะทำงานหนัก ใจผมเป็นขนาดนั้นแต่ทำไม่ได้อยู่แล้ว มาติทุกเรื่อง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

กำหนดหลักเกณฑ์-จุดรับซื้อ 

      เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวง เกษตรฯ เปิดเผยหลังการหารือและชี้แจงรายละเอียดโครงการรับซื้อยาง 100,000 ตัน ของรัฐบาลให้ชาวสวนยางภาคเหนือและ ภาคอีสานรับทราบว่า เพื่อช่วยพยุงราคาให้ชาวสวนยางในภาคอีสานและภาคเหนือ จะกำหนดปริมาณการซื้อที่ 10 ก.ก.ต่อไร่ และครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ปริมาณการรับซื้อนี้เป็นเกณฑ์เดียวกันทั่วประเทศ รวมทั้งภาคใต้ด้วย โดยตั้งจุดรับซื้อในภาคใต้ 2,000 จุด ส่วนภาคเหนือและอีสาน 1,000 จุด 

'เหนือ-อีสาน'ไม่พอใจแก้ยาง 

     ด้านนายศิริชัย ห่านวิบูลย์พงศ์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายเกษตรกร สถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจร จ.บึงกาฬ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ โดยมีผู้นำเกษตรกรชาวสวนยางภาคเหนือและภาคอีสาน คือ บึงกาฬ หนองคาย นครราชสีมา มุกดาหาร ร้อยเอ็ด และกำแพงเพชร ถึงมาตรการรับซื้อยางก.ก.ละ 45 บาท ว่ามาตรการนี้ไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในภาคเหนือและภาคอีสานเลย เนื่องจากมาตรการนี้กำหนดรับซื้อยางช่วงปลายเดือนม.ค.เป็นต้นไป แต่ในภาคอีสานนั้น ปิดกรีดยางตั้งแต่ปลายเดือนม.ค.แล้ว ขณะที่ชาวสวนยางภาคใต้ยังคง กรีดยางกันอยู่จนถึงเดือนมี.ค.

      นายศิริชัย กล่าวต่อว่า พล.อ.ฉัตรชัยชี้แจงว่าการรับซื้อยาง จัดสรรโควตาครัวเรือนละ 150 ก.ก. ในราคาก.ก.ละ 45 บาท เท่ากับว่าจะได้เงินทั้งหมดกว่า 6,000 บาทเท่านั้น เป็นเพียงแค่มาตรการน้ำจิ้ม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย เกษตรกรภาคอีสานและภาคเหนือไม่พอใจกับมาตรการนี้ รู้สึกน้ำท่วมปาก จุกอก รู้สึกรัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยาง 2 มาตรฐาน คือภาคใต้ได้ประโยชน์ แต่ภาค อื่นๆ ไม่ได้อะไร หากรัฐจะเข้ามาซื้อยางจากเกษตรกรอีสาน ถามว่าจะซื้อได้เท่าไหร่ ในเมื่อไม่มียางออกแล้ว นอกจากจะมีเกษตรกรกักตุนยางไว้

ไม่ได้รับประโยชน์จากรัฐ 

     ส่วนนายสุพิต กุลวงศ์ ผู้ช่วยสมาคมชาวสวนยางภาคอีสาน กล่าวว่า พล.อ.ฉัตรชัย และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้ความชัดเจนว่าเป็นโครงการช่วยเหลือระยะสั้น ไม่ได้ดำเนินการสองมาตรฐาน แต่จะรับซื้อยางทั่วประเทศจากเกษตรกรทุกภาค สรุปว่าการรับซื้อยาง 100,000 ตัน ของรัฐบาลก็คงซื้อที่ภาคใต้ก่อน และจะเริ่มซื้อเรื่อยๆ ในจังหวัดที่กรีดยาง โดยภาคอีสานจะเริ่มกรีดยางอีกครั้งกลางเดือนก.พ. รัฐบาลจะรับซื้อครัวเรือนละไม่เกิน 150 ก.ก. หากเป็นยางแผ่นดิบรมควันจะได้เงินจากโครงการนี้ 6,750 บาทต่อครัวเรือน แต่ธรรมชาติของภาคอีสาน ส่วนใหญ่เป็นยางก้นถ้วย ราคาที่ขายได้จะน้อยกว่ายางแผ่นดิบ

      "ภาคอีสานที่ผ่านมาเราไม่ค่อยมีปากมีเสียง เพราะพยายามช่วยเหลือตัวเองก่อน การทำสวนยางของคนอีสานส่วนใหญ่ ปลูกเองกรีดเอง ต้นทุนเลยไม่สูง ถามว่าทุกวันนี้ขาดทุนไหม ขาดทุนทุกวันที่ขายยาง เมื่อครั้งโครงการมูลภัณฑ์กันชนของรัฐบาลออกมาครั้งก่อน ชาวสวนภาคอีสานก็ไม่ได้รับประโยชน์ คราวนี้แทบจะไม่ต่างกัน" ตัวแทนสมาคมชาวสวนยางอีสานกล่าว

'ยรรยง'เชียร์รัฐบาลซื้อยาง 

      นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ขอเชียร์ให้รัฐบาลรีบรับซื้อยางพารา เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางก่อนราคาดิ่งตกเหว มาตรการรับซื้อยางโดยตรงจากชาวสวนยางเป็นคำเฉลยคำตอบว่า การรับจำนำข้าวเพื่อช่วยชาวนาเป็นการทำหน้าที่ของรัฐที่ถูกต้องเหมาะสมและจำเป็น ขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายเลิกอคติ และหยุดบิดเบือนและประทับตราบาปว่าการช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำข้าว หรือรับซื้อยางเป็นประชานิยมที่เลวร้าย รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่ได้รับทราบข่าวว่ารัฐบาลได้ตัดสินใจให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาว สวนยาง โดยเข้าไปรับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรงในราคาสูงกว่าราคาตลาด เข้าใจว่ารัฐบาลชุดนี้ตระหนักแล้วว่าการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นภารกิจ และหน้าที่พื้นฐานที่สำคัญของรัฐ และรัฐบาลชุดนี้ได้ก้าวข้ามกับดักประชานิยมได้แล้ว

      อดีตรมช.พาณิชย์กล่าวว่า การที่รัฐบาลเข้าไปรับซื้อยาง หรือรับจำนำข้าวจากเกษตรกร เป็นการสร้างแรงกดดันให้พ่อค้า หรือผู้ใช้ไม่ให้กดราคาเกษตรกร เพราะรัฐเข้ามาช่วยอุ้มสต๊อกส่วนเกินไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องแย่งรับซื้อยาง หรือข้าวแพงขึ้น เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะใช้หรือบริโภค ดังจะเห็นได้จากราคาข้าวเปลือกเจ้า 5 เปอร์เซ็นต์ ช่วงที่ไม่มีโครงการรับจำนำราคาตลาดเฉลี่ยประมาณ ตันละ 6,000-7,500 บาท แต่เมื่อมีโครงการรับจำนำสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีราคาสูงขึ้นเป็นตันละ 9,000-11,500 บาท

ชี้เป็นวิธีการเดียวกับ'จำนำข้าว'

     "เหตุผลที่ผมเชียร์ให้รัฐบาลรีบออกไปรับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรง เพราะเป็นมาตรการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับการรับจำนำข้าว ช่วยชาวนาแทบทุกประการ 1.เป็นมาตรการแทรกแซงราคาที่ต้องการกดดันให้ราคาสูงขึ้น โดยรัฐเข้าไปอุ้มเกษตรกรโดยการรับซื้อในราคานำตลาด เช่น ราคาตลาดแผ่นยางดิบ ก.ก.ละ 32 บาท รัฐบาลรับซื้อ 45-60 บาท เป็นการเพิ่มทางเลือกและอำนาจต่อรองให้เกษตรกร 2.ทำให้เงินถึงมือเกษตรกรโดยตรง รับซื้อหรือรับจำนำจากเกษตรกรโดยตรง โดยไม่ผ่านคนกลาง ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเร็วขึ้นและมากขึ้น แต่มีข้อแตกต่างกัน คือการรับจำนำข้าวเกษตรกรมีสิทธิไถ่ถอนภายใน 4 เดือน แต่การรับซื้อยางพารา เกษตรกรไม่มีสิทธิไถ่ถอน เพราะโอนสิทธิเด็ดขาดให้รัฐไปเลย" นายยรรยงกล่าว

     นายยรรยง กล่าวต่อว่า การรับซื้อยางพาราจะประสบความสำเร็จ คือผลักดันให้ราคายางสูงขึ้นได้ ต้องรับซื้อในราคาสูงและในปริมาณที่มากพอ เทียบกับอุปทานส่วนเกินที่มีอยู่ 700,000-900,000 ตัน ทำนองเดียวกับที่ต้องรับจำนำข้าวปริมาณมาก พูดง่ายๆ คือต้องใช้ยาแรง จึงขอเสนอให้รัฐบาลรับซื้อยางในราคาสูงก.ก.ละ 45-60 บาท น่าจะเหมาะสม แต่ถ้ารับซื้อเพียง 100,000 ตัน น่าจะไม่พอ เพราะปัจจุบันมีอุปทานส่วนเกินค่อนข้างสูง คาดว่า 700,000-900,000 ตัน และชาวสวนยางที่เดือดร้อนมีมากกว่า 1,600,000 ครัวเรือน ถ้ารับซื้อจำกัดจะมีปัญหาการรับซื้อกระจายไม่ทั่วถึง 

'ปึ้ง'ให้ช่วยสินค้าเกษตรอื่นด้วย 

      ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า สงสารชาวสวนยาง จ.อำนาจเจริญ หันไปปลูกหมามุ่ยเป็นพืชเสริม เพราะราคาดีและเอาไปทำเป็นยาสมุนไพร จะมีรายได้ดีตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ชี้แนะ ปรากฏว่าผลผลิตออกมากลับขายไม่ได้ คนที่จะรับซื้อก็ไม่มี ชาวสวนยางอำนาจเจริญจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดูแล หวังว่าพล.อ.ประยุทธ์คงสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ ดูแล โดยอาจจะเข้าไปรับซื้อช่วยพยุงราคาหมามุ่ยให้แก่เกษตรกร 

     อดีตรองนายกฯ กล่าวต่อว่า อยากขอให้นายกฯ เร่งเตรียมช่วยเหลือสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ ที่ราคาผลผลิตตกต่ำ โดยใช้หลักเกณท์เช่นเดียวกับที่รัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยาง เป็นบรรทัดฐานเดียวกันด้วย คือยางแผ่น ก.ก.ละ 33 บาท รัฐบาลตกลงรับซื้อในราคา 45 บาทต่อก.ก. เท่ากับรัฐบาลรับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดถึง 36 เปอร์เซ็นต์ อยากเห็นรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ช่วยรับซื้อผลผลิตการเกษตรทุกชนิดด้วยหลักเกณท์เดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโดยเฉพาะข้าวเปลือกจากชาวนาด้วย ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกตกตันละ 6,000-7,000 บาทเท่านั้น ถ้ารัฐบาลช่วยรับซื้อในราคานำตลาดที่สูงกว่า 36 เปอร์เซ็นต์ เหมือนราคายาง ชาวนาจะได้ราคาข้าวตันละ 8,160-9,520 บาท ถ้าได้แบบนี้ชาวนาน่าจะอยู่ได้

8 เอกชนซื้อก.ก.ละ45บ.ทำถนน 

      นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับตัวแทนบริษัทเอกชน 8 ราย ผู้ผลิตพาราแอสฟัลต์ และพารา สเลอรี่ซีล วัตถุดิบปูและฉาบผิวถนนที่ทำมาจากส่วนผสมของยางพารา ว่าขอความร่วมมือทั้ง 8 บริษัทรับซื้อน้ำยางเข้มข้นในราคาก.ก.ละ 45 บาท ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพยุงราคายางพาราตกต่ำ ทั้ง 8 รายยินดีรับซื้อในราคาดังกล่าวโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ตามขั้นตอนการยางแห่งประเทศไทยจะไปซื้อน้ำยางดิบจากเกษตรกรนำมาแปรรูป เพื่อผลิตเป็นน้ำยางเข้มข้นขายให้ 8 บริษัทผู้ผลิต เพื่อจำหน่ายให้บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทต่อไป ยืนยันว่างานก่อสร้างและปรับปรุงถนนในปีงบประมาณ 2559 จะไม่กระทบถึงราคาก่อสร้างเพิ่มขึ้น

      อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า สำหรับในการประชุมครม. วันที่ 19 ม.ค. จะสรุปรายละเอียดและรูปแบบการแปรรูปยางรวมทั้งวิธีการส่งมอบ ในส่วนของการก่อสร้างถนนจะต้องนำน้ำยางดิบไปแปรรูปเป็นน้ำยางชนิดเข้มข้น เพื่อส่งต่อไปยังเอกชนทั้ง 8 ราย เอกชนยินดีให้ความร่วมมือกับนโยบายนี้ แม้จะทำให้ต้องมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำยางดิบที่รับซื้อในอัตราสูงกว่าราคาตลาด แต่ยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการปรับเพิ่มราคาค่าก่อสร้าง เพราะราคาเหล่านี้ได้กำหนดราคากลางไว้อยู่แล้ว 

ทัพภาค 4 ถกช่วยสวนยางใต้ 

     ที่กองทัพภาคที่ 4 ค่ายวชิราวุธ จ.นครศรี ธรรมราช พล.ต.คุณวุฒิ หมอแก้ว รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมการดำเนินงานสนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาราคายางพาราของรัฐบาล โดยเชิญหัวหน้าคณะทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงาน มีข้อสรุปเป้าหมายในการช่วยเหลือ ผู้ได้รับประโยชน์จะต้องเป็นเกษตรกรยางพาราที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยมอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านความมั่นคงลดความเหลื่อมล้ำการเกษตรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็น เจ้าภาพร่วมกับส่วนราชการ

     พล.ต.คุณวุฒิกล่าวว่าเป็นการซักซ้อมแนวทางการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่มีรายได้ไม่พอเพียง รับทราบปัญหาต่างๆ เรื่องการจ่ายเงินครั้งที่แล้วมีปัญหาอย่างไรบ้าง และพูดคุยถึงแนวทางในอนาคตกลไกปัญหาใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยมีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงปัญหา ต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือชาวสวนยางให้มีประสิทธิภาพต่อไป 

สงขลาแห่ขาย-ราคาขยับขึ้น 

    ส่วนที่ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ราคายางพาราปรับตัวขึ้นเล็กน้อย หลังรัฐบาลประกาศช่วยเหลือ โดยราคายางแผ่นดิบขยับขึ้นจากเดิม 36.05 บาท เป็น 37.05 บาท ราคายางแผ่นรมควัน จากเดิม 39.39 บาท ขยับขึ้นเป็น 41.15 บาท น้ำยางสดจากเดิม 33.50 บาท ขยับขึ้นเป็น 34.00 บาท ส่งผลให้บรรยากาศการรับซื้อยางที่สำนักงานตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา เริ่มคึกคักตั้งแต่เช้า มีเกษตรกรชาวสวนยางทยอยนำยางแผ่นบรรทุกรถยนต์มาเทขายกันจำนวนมาก แต่ชาวสวนยางบางส่วนยังไม่พอใจในราคาที่ขยับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย จึงยังไม่นำยางมาขาย ยังคงรอดูท่าทีการช่วยเหลือของรัฐบาล และรอให้ราคาสูงกว่านี้

     นายปรีชา สุขเกษม แกนนำเกษตรกรชาวสวนยาง จ.สงขลา กล่าวว่าเกษตรกรยังขนยางพาราออกมาขายน้อย รอโครงการซื้อนำการตลาดของรัฐบาล เพราะได้ราคาสูงกว่าราคาปกติ แต่มีหลายพื้นที่ต้นยางพาราผลัดใบ เกษตรกรเจ้าของสวนหยุดกรีดเป็นเวลา 2 เดือน ยางพาราจะออกสู่ตลาดน้อย สิ่งที่ เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราวิตก คือ อคส.ไม่มีความชำนาญเกี่ยวกับยาง 

ผู้ปลูก'หมามุ่ย'วอนช่วยเหลือ 

     ด้าน จ.อำนาจเจริญ นายสุนทร ลำงาม อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 47 หมู่ 9 ต.คำโพน อ.ปทุมราชวงศา พร้อมด้วยชาวสวนยางพาราอีก 3 ราย ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนไปยังนายกฯ ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาพืชหมามุ่ยด้วย เนื่องจากหมามุ่ยที่ปลูกทดแทนยางพารานั้นเก็บเกี่ยวได้แล้ว แต่ไม่มีตลาดมารองรับผลผลิตตามที่นายกฯ แนะนำ ปลูกได้ผลผลิตแล้วแต่ขายไม่ได้ จึงวิงวอนให้นายกฯ และรัฐบาลหาตลาดให้ด้วย ตามที่เคยให้คำแนะนำกับเกษตรกรชาวสวนยางพาราไว้

      นายสุนทร กล่าวว่า ได้รับการชักชวนให้หันมาปลูกหมามุ่ยเป็นพืชเสริมแทน เพื่อนำไปทำยาสมุนไพร ราคา ก.ก.ละ 2,000 บาท หรือ 150,000 บาทต่อไร่ อีกทั้งนายกฯ ก็พูดออกทีวีสนับสนุนให้ชาวสวนยางหันมาปลูกพืชสมุนไพรแทน เช่น หมามุ่ย นายกรัฐมนตรี ได้พูดออกทีวี สนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราหันมาปลูกพืชสมุนไพรแทน แต่เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว และติดต่อไปยังบริษัท ปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อได้ คิดว่าอาจถูกหลอก จึงมาร้องทุกข์ผ่านไปยังนายกฯ ให้ช่วยเหลือหาตลาดให้ด้วย 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!