WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gสมคด จาตศรพทกษไฟลนก้นแก้ปัญหาราคายาง รัฐงัดมุกเดิมเพิ่มปริมาณใช้ภายในประเทศ

    รัฐตื่นแก้ปัญหาราคายาง เดินหน้าเร่งใช้ยางในประเทศเพิ่ม กระทรวงอุตสาหกรรมจี้โรงงานแปรรูปยางที่ได้ใบ รง.4 กว่า 90 โรง เร่งเดินเครื่องผลิตให้ได้ภายในปีนี้ พร้อมประสานกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำยางพาราไปเป็นส่วนผสมสร้างสนามกีฬาและสนามเด็กเล่น ‘อรรชกา’ยอมรับส่งออกยางไปจีนปีนี้ไม่สดใส

    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีที่ชาวสวนยางต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในระดับต้นๆ และทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เข้ามาดูแลในเรื่องนี้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว จึงไม่ต้องเป็นห่วง โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้ปฏิรูปโครงสร้างเกษตรอย่างจริงจังเพื่อให้สินค้าเกษตรมีราคา และมีการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ต้องสร้างสมดุลยภาพระหว่างระยะสั้น และระยะยาว

     ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลังจากการประชุมแนวทางลดผลกระทบจากปัญหายางพาราตกต่ำ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยประสานงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ให้สำรวจจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น อุตสาหกรรมยางล้อ ยางยืด ถุงมือยาง เป็นต้น ซึ่งได้รับรายงานว่ามีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตโรงงานที่เสี่ยงต่อมลภาวะและสุขภาพ (รง.4 ) แล้ว และเตรียมก่อสร้างประมาณ 90 โรงงาน มีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น 100,000 ตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะลงทุนจริง และเปิดดำเนินการได้ภายในปีนี้ 60-70% ขณะที่อีก 30-40% ที่ไม่สามารถเปิดได้ภายในปีนี้ จะลงไปติดตามว่าผู้ประกอบการเหล่านี้ติดปัญหาด้านใด และจะเร่งประสานงานแก้ไข เพื่อให้สามารถเปิดโรงงานให้ได้ทันภายในปีนี้

    ทั้งนี้ ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ โดยมาตรการระยะสั้นของกระทรวงอุตสาหกรรมคือ ประสานกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อหาแนวทางในการนำยางพาราไปใช้ผลิตสินค้าให้ได้มากที่สุด เบื้องต้นมองว่าควรนำยางพาราไปเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างสนามกีฬา และสนามเด็กเล่น โดยขณะนี้ประเมินว่ามี 10 กว่าโรงงานที่มีความพร้อมในการก่อสร้างร่วมกับภาครัฐ นอกจากนี้จะมีการเสนอให้หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เช่น หน่วยงานทหาร กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดซื้อยางพาราเพื่อนำมาใช้เพิ่มเติมให้มากที่สุด

    นางอรรชกา กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตน้ำยางพารา 4 ล้านตันต่อปี โดยนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา 13% คาดว่าปีนี้ประเทศไทยจะส่งออกยางพาราได้ไม่มากนัก โดยเฉพาะตลาดประเทศจีนจะมียอดส่งออกที่ลดลงมาก เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของจีนที่ชะลอตัว ประกอบกับสต๊อกยางของจีน ยังมีปริมาณมาก ดังนั้น ภาครัฐจะเร่งสร้างความต้องการใช้ยางพาราในประเทศให้สูงขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมยาง

     ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ใช้ยางพาราในการทำถนนผ่านกระทรวงคมนาคม จำนวน 20,000 ตัน และให้ อบต.และ อบจ. ใช้ยางพาราในการสร้างสนามฟุตซอล ปูพื้นสนามกีฬา อีกทั้งทางกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายขับเคลื่อนวางรากฐานเกษตรกรอย่างยั่งยืนโดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมนอกในพื้นที่ปลูกยางพารา ซึ่งมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 159,270 ราย โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จ่ายเงินไปแล้วกว่า 96,563 ราย และจะเร่งรัดจ่ายเงินเกษตรกรที่เหลือให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ม.ค.นี้

    ทั้งนี้ในวันที่ 10 ม.ค.2559 กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ลงไปคุยกับเกษตรกรถึงปัญหายางพาราที่เกิดขึ้น ที่ จ.นครศรีธรรมราช และในวันที่ 11 ม.ค.2559 จะเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อพัฒนายางพารา โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งศูนย์ราชการ, ตัวแทนกลุ่มเกษตร 12 กลุ่มทั่วประเทศ เข้าประชุมเพื่อหาทางออกการแก้ปัญหายางพาราตกต่ำ

   ด้านนายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ในปี 2559 จะเดินหน้าใช้กลไกตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยมาแก้ไขปัญหายางพารา โดยวันที่ 14 ม.ค.นี้ จะผลักดันให้มีคณะกรรมการ (บอร์ด) การยางแห่งประเทศไทย จำนวน 15 คน ซึ่งมาจากการคัดเลือกจากทุกภาคส่วน เมื่อบอร์ดเกิดขึ้นตามกฎหมายจะสามารถใช้เงินจากกองทุนพัฒนายางพาราระยะยาวและเงินหมุนเวียนในแต่ละปีได้ ซึ่งเงินเหล่านี้จะนำไปใช้สำหรับวัตถุประสงค์ 6 ด้าน คือ งบเพื่อบริหารจัดการ 1%, ใช้เพื่อการปลูกแทน 40%, การดูแลการใช้ยางในประเทศและการพัฒนามูลค่าเพิ่มของสินค้าในประเทศ 35%, การสนับสนุนพัฒนาเกษตรกร 3%, ให้สวัสดิการแก่เกษตรกร 7%, เพื่อวิจัยและพัฒนา 5%

    “เมื่อมีการใช้ พ.ร.บ.การยางจะมีเงินที่เกษตรกรไม่เคยได้รับมาก่อนในประวัติศาสตร์ คือ เกษตรกรจะได้รับเงินโดยตรง 7% จากเงินสวัสดิการก้อนนี้ เป็นเงินส่วนที่เติมเข้าไปเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จำนวนเงินกว่า 300 ล้านบาท โดยจะมีการบริหารร่วมกันระหว่างองค์กรเกษตรกรและรัฐ และยังมีเงินดูแลค่าครองชีพอีก 3% เพื่อทำให้เกษตรกรเข้มแข็งขึ้น”.

   ที่มา : www.thairath.co.th

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!