WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Agriสศก. แนะสหกรณ์การเกษตรฯเร่งปรับโครงสร้าง-ขยายธุรกิจ-เพิ่มคุณภาพการแปรรูปสินค้าเกษตร รองรับ AEC

    สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจงปัจจัยสำคัญสู่การเพิ่มศักยภาพการผลิตการตลาดของสหกรณ์การเกษตรไทยเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  สศท.6 เปิดเวทีเสวนา ระบุ 3 ปัจจัยเพื่อการพัฒนา ทั้งการปรับโครงสร้างสหกรณ์ การขยายธุรกิจ และการพัฒนาคุณภาพผลผลิตการแปรรูปเพิ่มมูลค่า

     นางบุบผา ภู่ละออ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี  (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการวิจัยศักยภาพการผลิตการตลาดของสหกรณ์การเกษตร ซึ่ง สศท.6 ,7 และ สศท.10 ได้ร่วมกันนำเสนอ ในการจัดสัมมนาเรื่อง ศักยภาพการผลิต การตลาดของสหกรณ์การเกษตรในการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 2 ภาคกลาง ไปเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยมีผู้บริหาร นักวิชาการและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  ผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาคในเขตพื้นที่ภาคกลาง  ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร  สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กรมส่งเสริมการเกษตร  กรมส่งเสริมสหกรณ์  กระทรวงพาณิชย์  สถาบันการศึกษา  และกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการที่ช่วยสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้สหกรณ์การเกษตรของไทยให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     การสัมมนาดังกล่าว ได้มีการนำเสนอถึงปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตการตลาดของสหกรณ์ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่การขยายธุรกิจของสหกรณ์  เน้นการศึกษาตลาดในประเทศอาเซียน เพิ่มความรู้ด้านการค้าต่างประเทศให้กับเจ้าหน้าที่สหกรณ์  พัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และร่วมมือเป็นพันธมิตรกับเอกชนที่ทำธุรกิจส่งออกและสหกรณ์การเกษตรในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

   การปรับโครงสร้างของสหกรณ์ ควรรวมกลุ่มสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจแบบเดียวกัน ขยายธุรกิจเพิ่มเติมจากเดิมหรือเพิ่มชนิดสินค้า พัฒนาคุณภาพผลผลิต การแปรรูปและการเพิ่มมูลค่า เช่น ผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับตลาด  สร้างจุดเด่นเอกลักษณ์  รักษาคุณภาพสินค้า ศึกษากฎระเบียบ ภาษา ทราบถึงชนิดสินค้าที่ได้รับสิทธิในการเปิดเสรี  พิกัดของสินค้า รวมถึงการผลิตสินค้าถูกต้องตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิด เป็นต้น

   ทั้งนี้ ผลจากการสัมมนาดังกล่าว ผู้เข้าร่วมสัมมนายังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ต้องการให้มีการทำวิจัยเกี่ยวกับตลาดเงินของสหกรณ์นอกภาคเกษตรและสหกรณ์ประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วยเหลือสหกรณ์ประเภทอื่นๆ ด้วย โดยควรมีการทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การปรับปรุงสหกรณ์เป็นไปอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์ สศก. จะได้มีการเผยแพร่แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจขอรับข้อมูลได้รับทราบในเร็วๆ นี้ต่อไป

                ที่มา ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย  

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!