- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 04 January 2016 23:24
- Hits: 6830
BKP นำร่องประกาศใช้ระบบตรวจสอบแหล่งที่มาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ระบุรับซื้อเฉพาะจากแหล่งที่มาถูกกฎหมาย-ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
บริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) หรือ บีเคพี ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดใช้ระบบตรวจสอบแหล่งที่มาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างเป็นทางการ มุ่งส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวโพดถูกวิธี ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า รักษาสิ่งแวดล้อมและร่วมแก้ปัญหาหมอกควันในประเทศอย่างยั่งยืน ประกาศรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่ลงทะเบียนร่วมโครงการเท่านั้นมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2559
นายสมชาย กังสมุทร กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ระบบตรวจสอบดังกล่าวจะดำเนินการโดยคู่ค้าหรือผู้รวบรวมและผู้ที่เกี่ยวข้องในการรับซื้อ-ขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับบริษัทฯ จะต้องเข้าทำรายการลงทะเบียนและซื้อขายผลผลิตผ่านระบบฯ อย่างถูกต้อง โดยบริษัทจะรับซื้อผลผลิตข้าวโพดที่มีการทำรายการผ่านระบบเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจกับคู่ค้าในพื้นที่ บริษัทฯได้เปิดให้มีการทดสอบระบบตรวจสอบแหล่งที่มาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นำร่องกับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ดังนี้
-บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สาขาพิษณุโลก เริ่มทดสอบระบบฯ ในวันที่ 21 ธันวาคม 2558
-บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สาขาลำพูน และราชบุรี เริ่มทดสอบระบบฯ ในวันที่ 24 ธันวาคม2558
-บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สาขาโคกกรวดและปักธงชัย เริ่มทดสอบระบบฯ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2558
-บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สาขาอื่นที่เหลือทั้งหมด เริ่มทดสอบระบบฯ ในวันที่ 28 ธันวาคม 2558
“ระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ที่พร้อมขับเคลื่อนร่วมกันไปทุกภาคส่วนเพื่อคงไว้ซึ่งประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน และอนุชนรุ่นหลัง” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า การกำหนดระบบตรวจสอบดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ที่มุ่งตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากคู่ค้าหรือผู้รวบรวมในการลงทะเบียน ผู้รวบรวมในเครือข่ายและเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกรที่มาลงทะเบียนต้องเพาะปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง หรือพื้นที่ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ ร่วมถึงพื้นที่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กร NGO เพื่อส่งเสริมการปรับตัวของเกษตรกรในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และเป็นการยืนยันผลผลิตที่นำมาจำหน่ายนั้นเพาะปลูกจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย