- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 01 January 2016 22:46
- Hits: 9832
ไพบูลย์ฟาร์ม บทพิสูจน์เกษตรกรคนเก่ง ถึงล้มก็ลุกได้ มั่นใจเลี้ยงหมูขุนสร้างอาชีพมั่นคง
หากอุปสรรคคือแบบทดสอบหนึ่งของมนุษย์ ไพบูลย์ ผิวพิมพ์ดี ก็คือคนที่ผ่านแบบทดสอบมาอย่างมากมาย ตั้งแต่ต้องออกจากโรงเรียนเพียงชั้นป.4 เพราะฐานะทางบ้านไม่เอื้ออำนวย จากนั้นแม่ก็ต้องล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งเมื่อเขาอายุเพียง 20 ปี จนต้องขายวัวที่เลี้ยงไว้เพื่อมารักษาแม่ นั่นคืออุปสรรคอีกครั้งที่เขาและครอบครัวต้องฝ่าฟัน
จนกระทั่งไพบูลย์มีครอบครัวก็ได้เริ่มต้นอาชีพทำไร่ยาสูบยังดีที่ขายได้ราคา จึงพอมีทุนมาต่อยอดทำโรงสีข้าวเคลื่อนที่ เมื่อมีปลายรำข้าวเป็นเศษเหลือก็แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งขาย อีกส่วนนำมาเลี้ยงหมู 100 ตัว โดยเขาเป็นเกษตรกรเลี้ยงอิสระ เพราะเวลานั้นราคาหมูดีมาก ไพบูลย์คิดว่าอาชีพนี้ต้องสร้างความยั่งยืนได้แน่นอน เมื่อเลี้ยงหมูผ่านมาได้ 3-4 ปี เขาก็พบกับอุปสรรคครั้งใหญ่ คือในพื้นที่ตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีโรคระบาดในหมู ด้วยความที่เลี้ยงหมูโรงเรือนเปิดจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะโดนหางเลขไปด้วย หมูที่เลี้ยงไว้ 100 กว่าตัวจึงทะยอยตายจนหมด เวลานั้นเขาต้องสูญเงินที่ลงทุนไปเป็นจำนวนมาก ไพบูลย์จึงหันหลังให้กับอาชีพเลี้ยงสัตว์อย่างเด็ดขาด โดยเปลี่ยนมาเปิดกิจการรับซื้อของเก่าแทน พร้อมกับอุทิศตัวรับใช้ชุมชนโดยได้รับเลือกให้เป็นรองนายกอบต.บ้านโข้ง
“เมื่อราวๆปี 2553 ทางซีพีเอฟขยายโครงการเลี้ยงหมูขุนมาในพื้นที่อำเภออู่ทอง ตอนนั้นรู้สึกสนใจเพราะเมื่อศึกษาโครงการและเห็นวิธีการเลี้ยงหมูกับบริษัทก็ไม่ได้ยุ่งยาก เราเองก็ผ่านงานพวกนี้มาก่อน แต่ตอนนั้นบอกตามตรงว่ายังกลัวกับการเลี้ยงหมูจึงใช้เวลาตัดสินใจอยู่นาน จนเห็นว่าโครงการนี้ไม่มีความเสี่ยงอย่างที่เราเคยเลี้ยงอิสระ เพราะบริษัทเอาหมูมาฝากเลี้ยง มีอาหาร ยา มาให้ เมื่อหมูโตถึงเวลาขาย บริษัทรับผิดชอบในการขายทั้งหมด ที่สำคัญยังรับผิดชอบในกรณีที่เกิดความเสียหายในระหว่างการเลี้ยง ส่วนเรามีหน้าที่ดูแลให้ผลผลิตดีที่สุด จึงวางใจที่จะเริ่มต้นอาชีพเกษตรกรอีกครั้งกับบริษัท” ไพบูลย์ บอก
ไพบูลย์ เริ่มลงหลักปักฐาน “ไพบูลย์ฟาร์ม” ในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุน กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ สาขาสุพรรณบุรี โดยกู้ยืนเงินจากธนาคาร 5.3 ล้านบาท บวกกับเงินส่วนตัวอีก 1 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงเรือนปิดจำนวน 4 หลัง เลี้ยงหมูขุนรวม 2,400 ตัว บนที่ดิน 16 ไร่ ก่อนการเลี้ยงหมูทางบริษัทส่งผู้เชี่ยวชาญมาดูแลตั้งแต่การสร้างฟาร์มเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทและตรงตามหลักการณ์มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีเรื่องการเลี้ยงหมูขุนที่ถูกต้อง ทำให้ไพบูลย์มั่นใจว่าการเริ่มต้นใหม่ครั้งนี้จะทำให้เขาประสบความสำเร็จแน่นอน
“ผมมองว่าการมีบริษัทเป็นเพื่อนร่วมคิดและคอยให้ความรู้ พร้อมทั้งพัฒนาการเลี้ยงหมูอยู่ตลอด โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันโรค และการดูแลด้านความสะอาดอย่างเข้มงวด การใช้เทคโนโลยีทันสมัย ตั้งแต่โรงเรือนปิดแบบอีแวปที่ช่วยให้สัตว์อยู่สบายไม่เครียด การใช้เครื่องให้อาหารอัตโนมัตที่ช่วยลดความสูญเสียจากอาหารหกหล่น ทำให้การเลี้ยงมีประสิทธิภาพสร้างรายได้ให้รุ่นละประมาณ 1,200,000 บาท” ไพบูลย์ บอกอย่างภูมิใจ
ด้วยงานเพื่อสังคมที่มากขึ้นหลังจากได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านโข้ง เมื่อปี 2555 ไพบูลย์จึงตัดสินใจส่งไม้ต่อให้ลูกชายกับลูกสะใภ้รับช่วงการเลี้ยงหมูต่อไป ซึ่งผลการเลี้ยงก็ดีขึ้นเป็นลำดับ จึงมีโครงการขยายโรงเรือนเลี้ยงหมูเพิ่มจาก 4 หลัง เป็น 6 หลัง ในเร็วๆนี้
“อุปสรรคทุกอย่างที่ผ่านมาช่วยให้เราเข้มแข็งขึ้น ยอมรับว่าท้อแต่ไม่เคยถอย วันนี้ผมภูมิใจที่แม้จะเรียนจบแค่ป.4 แต่ก็สามารถทำงานเพื่อสังคมอย่างที่เราต้องการมาตลอด ที่สำคัญยังสามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับลูกหลานได้ แค่เพียงมุ่งมั่น ไฝ่รู้ หมั่นศึกษาหาข้อมูลให้ถ่องแท้ และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ก็จะทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน” ไพบูลย์ บอกทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ
ไพบูลย์ นับว่าเป็นอีกหนึ่งเกษตรกรคนเก่งที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตนเอง และมองเห็นโอกาสในการสร้างอาชีพที่ยั่งยืน จนสามารถส่งต่อความสำเร็จให้กับลูกที่จะกลายเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่นำพาอาชีพเลี้ยงหมูที่เขาปูทางไว้ให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง
โดย CPF /