Thai 'trash fish' workers unload the catch at Songkhla port. Chris Kelly/Guardian
สัปดาห์ก่อน สื่อต่างประเทศสัญชาติอังกฤษ ออกรายงานเชิงสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับแรงงานทาสบนเรือประมงโดยอ้างว่าเป็นเรือประมงของไทย พร้อมกล่าวหาให้บริษัทขายกุ้งของไทยเกี่ยวข้องกับปัญหาแรงงานบนเรือประมงนั้น กระทั่งทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในฝรั่งเศสระงับการซื้อกุ้งจากบริษัทไทยเป็นการชั่วคราว
อันที่จริงเรื่องแรงงานบนเรือประมงนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นที่ทราบกันดีว่าสื่อมวลชนต่างชาติ พยายามนำเสนอข่าวปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวในธุรกิจประมงของไทยอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่รายงานข่าวชิ้นนี้น่าจับตามากเป็นพิเศษเพราะเลือกที่จะเผยแพร่ในช่วงก่อนที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา จะประกาศรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ "ทิปรีพอร์ต" ประจำปี 2014 (Trafficking in Persons Report-TIP Report) ซึ่งเป็นรายงานข้อมูลประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์จาก 188 ประเทศทั่วโลก ที่ประกาศในวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา
ขอทวนความจำกันสักนิดว่า TIP Report แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ "บัญชี 1 (Tier 1)" อยู่ในมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายสหรัฐ มีการพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์และคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์ / "บัญชี 2 (Tier 2)" ไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำ แต่มีพยายามแก้ไข / "บัญชีเฝ้าระวัง 2 (Tier 2 Watch list)" มีเหยื่อค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น และไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลพยายามแก้ไข / "บัญชี 3 (Tier 3)" คือ ระดับต่ำสุด หมายถึงประเทศที่ไม่ผ่านขั้นต่ำตามสหรัฐและไม่มีความพยายามแก้ไข
สำหรับประเทศไทยอยู่ใน "TIER 2 หรือ ระดับเฝ้าระวังบัญชี 2" มา 4 ปีแล้ว ถ้าปีนี้ถูกลดระดับไปอยู่ TIER 3 จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารประมงไทยไปทั่วโลกทันที จึงเป็นไปได้มากว่า รายงานดังกล่าวกำลังทำหน้าที่ชี้นำให้สหรัฐจัดอันดับประเทศไทยไปสู่ TIER 3 ก่อนดำเนินการกีดกันการค้าต่อกุ้งไทย ตลอดจนสินค้าประมงของไทยได้อย่างแนบเนียนและไม่ค้านสายตาชาวโลก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดระบุชัดว่าไทยมีความก้าวหน้าในการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างมาก โดยเฉพาะด้านการจับกุมและนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยตลอดปี 2556 ไทยมีการสืบสวนคดีค้ามนุษย์รวม 647 คดี มีจำเลยถูกดำเนินคดี 225 คน เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2555 ที่ถูกดำเนินคดีเพียง 49 คน นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินคดีอาญาบริษัทจัดหางานที่ละเมิดแรงงาน 9 บริษัท และดำเนินคดีกับนายหน้าเถื่อน 155 คดี ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการลงตรวจพื้นที่เสี่ยงค้ามนุษย์ไม่ต่ำกว่า 2.8 หมื่นครั้งในปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นหลักฐานว่าไทยมีความพยายามและอาจช่วยให้สหรัฐยังคงพิจารณาไทยให้อยู่ใน Tier 2 เช่นเดิม
การหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเป็นกำแพงการค้า โดยพุ่งเป้าไปที่ "กุ้งไทย" นั้นเป็นเพราะประเทศไทยเป็นผู้ผลิตกุ้งอันดับ 1 ของโลก สามารถผลิตกุ้งคุณภาพในระดับต้นทุนที่ต่ำกว่าต่างประเทศ และมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐอยู่ในแถวหน้า ทำให้ผู้ค้าและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในสหรัฐต้องพยายามหาวิธีจัดการกุ้งไทยมาโดยตลอด เช่น การฟ้องร้องเรื่องทุ่มตลาดกุ้ง หรือเอดี เป็นต้น
จากนั้นก็มีความพยายามกล่าวหาว่าภาคธุรกิจเลี้ยงกุ้งของไทยเป็นผู้ทำลายทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม มีการเรียกร้องให้ภาคธุรกิจงดซื้อปลาที่เป็นผลพลอยได้จากการประมงเพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรสัตว์น้ำ
ต่อมาล่าสุด ก็ว่าด้วยเรื่องแรงงานทาสต่างด้าวบนเรือประมง ที่จุดปัญหามักอยู่ในเรือประมงนอกน่านน้ำไทย และแม้จะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเรือสัญชาติไทยจริงหรือไม่ แต่สื่อต่างชาติก็จะพยายามฟันธง ชี้นำ หรือแม้แต่สร้างภาพให้เข้าใจได้ว่าเป็นเรือไทย
ทั้งนี้ บทบาทของภาคเอกชนนั้น มีการรวมตัวในการปัญหาแรงงานตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้า รวมถึงการพัฒนาแผนการทำประมงอย่างยั่งยืนแล้ว โดยร่วมมือกับ 8 สมาคม ภายใต้สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและองค์กรสากล เช่น IFFO และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization) เป็นต้น
ยิ่งได้รู้ว่า คนในแวดวงเรือประมง ต่างรู้ดีว่ามีเรือประมงไม่กี่ลำที่ทำผิด แต่ไม่กี่ลำที่ว่านี้ ก็สามารถทำลายการส่งออกสินค้าประมงของประเทศไทยทั้งประเทศ งานนี้ภาครัฐคงต้องเข้มงวดกับเครือข่ายมาเฟีย ที่ได้ผลประโยชน์จากการค้าแรงงานต่างด้าว ทั้งคนไทย คนพม่า ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐเองอย่างเข้มงวดมากขึ้น
เชื่อว่า หากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาล "เอาจริง" เช่น ออกกฎหมายแรงงานต่างด้าวที่เคร่งครัด และบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนมาตรการปราบปรามที่เข้มงวด ก็คงไม่ยากเกินกว่าที่ประเทศไทยจะหลุดพ้นข้อกล่าวหาที่สื่อต่างชาติพยายามยัดเยียดให้ไทยเป็นดินแดนแห่งการค้ามนุษย์ไปได้ เมื่อนั้นต่างชาติคงต้องยุติการนำข้ออ้างนี้มากีดกันการค้ากับสินค้าประมงของไทยเสียที
ที่มา อนุชา ภควัฒน์ - มติชน
'ซีพีเอฟ'โต้สื่อผู้ดีโจมตีเอี่ยวใช้แรงงานทาส ทันข่าวCP |
เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารสาขาในอังกฤษ ออกรายงานชี้แจงกรณีเดอะการ์เดียนโจมตีบริษัทใช้แรงงานทาส โต้อย่ารายงานเพียงด้านเดียว ชี้บริษัทเดินหน้าแก้ปัญหาต่อเนื่อง ยินดีเร่งตรวจสอบทั้งระบบ
บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) สาขาในอังกฤษ ออกรายงานตอบโต้กรณีหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษ เปิดเผยรายงานเชิงสืบสวนตีแผ่ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงในไทย ซึ่งเนื้อหาของรายงานได้มีการกล่าวอ้างถึงกรณีของบริษัทซีพีเอฟว่ามีการซื้อชิ้นส่วนเนื้อปลา ซึ่งเป็นส่วนผสมของอาหารของกุ้งเลี้ยงในฟาร์มของบริษัทจากซัพพลายเออร์ที่เป็นเจ้าของหรือดำเนินการหรือซื้อจากเรือประมงที่กระทำต่อแรงงานเยี่ยงทาส
ในประเด็นดังกล่าว ทางซีพีเอฟ สาขาในอังกฤษ ระบุว่า รับรู้ถึงปัญหาการใช้แรงงานทาสในกระบวนการจัดหาชิ้นส่วนเนื้อปลาเป็นอย่างดี เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวอาจเป็นผลพวงของการประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้อยู่ในระบบควบคุมและไม่ได้มีใบอนุญาต ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในที่สุด พร้อมระบุว่า ความเคลื่อนไหวของสื่ออังกฤษครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากความพยายามในการล๊อบบี้รัฐบาลไทยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวล้มเหลวลง จึงส่งผลให้ทางเดอะการ์เดียน เปลี่ยนเป้าหมายมาที่บริษัทรายใหญ่เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแก้ปัญหาดังกล่าวในทันที
"เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนและรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทางบริษัทจะเร่งดำเนินการตามกระบวนการตรวจสอบภายในทั้งระบบเพื่อสามารถกล่าวประณามการใช้แรงงานทาสที่อาจเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของซัพพลายเชนของบริษัทในทันที ตลอดจนจะร่วมกันวางระบบตรวจสอบตามจุดต่างๆเพื่อให้แน่ใจว่าซัพพลายเชนของบริษัทไม่มีและจะไม่มีการใช้แรงงานทาสในระบบ"
ขณะที่แผนระยะยาว หมายรวมถึงการยกระดับมาตรการคุมเข้มกระบวนการจัดหาชิ้นส่วนเนื้อปลาเพื่อลดปัญหาการประมงโดยผิดกฏหมาย ตลอดจนเร่งผลักดันการพัฒนารูปแบบการประมงเพื่อปกป้องทะเลไทยอย่างยั่งยืน
ทางซีพีเอฟ อธิบายเสริมว่า มีการใช้ชิ้นส่วนเนื้อปลา เป็นส่วนผสมเพียง 10% ของอาหารกุ้งเลี้ยงเท่านั้น และทางบริษัทมีโรงงานผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ทางทะเลในไทย 5 แห่งซึ่งล้วนมีใบรับรองจากโกลบอล อควาคัลเชอร์ อลิอันซ์ ซึ่งเป็นสมาคมการค้าที่ไม่แสวงผลกำไรที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐ
ในรายงานดังกล่าว ยังระบุว่า ทางซีพีเอฟ เดินหน้าจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแก้ปัญหาในประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งหมายรวมถึงการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อพัฒนาและทบทวนกฎหมายการประมงนับตั้งแต่ปี 2013 อีกด้วย
พร้อมกันนี้ ทางซีพีเอฟเปิดเผยว่า ได้ให้ความร่วมมือกับทางหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนในการให้ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตามทางเดอะการ์เดียน ให้ความสำคัญในการตีแผ่ประเด็นการใช้แรงงานทาสแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
"ดูเหมือนว่า ทางเดอะการ์เดียน ตัดสินใจที่จะตีแผ่ประเด็นการใช้แรงงานอย่างเดียว โดยไม่มองภาพรวมในความจริงที่ว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาการประมงอยู่แล้ว"
"ทางซีพีมีทางเลือกที่จะเลิกพึ่งพาชิ้นส่วนเนื้อปลาเหล่านั้นทั้งหมด เพราะทางบริษัทสามารถผลิตโปรตีนทดแทนเพื่อใช้ในอาหารกุ้งเลี้ยงแล้ว และอาจมีการใช้โปรตีนทดแทนดังกล่าวทดแทนภายในปี 2021 หากจำเป็น กระนั้นก็ตาม ทางซีพี เลือกที่จะทำตามสิ่งที่ถูกต้องและดำเนินการอย่างรับผิดชอบ ด้วยการใช้ศักยภาพทางการพาณิชย์ที่มีการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในประเด็นดังกล่าวให้ดีขึ้น" รายงานกล่าวเสริม
|
|
|
|