สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย จัดงานวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก (World Against Child Labour Day) ย้ำเจตจำนงไม่ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมประมงไทยทุกรูปแบบ พร้อมคาดจะสามารถขจัดและหยุดการใช้แรงงานเด็กรวมถึงแรงงานบังคับให้หมดสิ้นภายในปี 2558
สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย ร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงานวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก หรือ World Against Child Labour Day ขึ้นที่โรงเรียนวัดศรีสุทธาราม จ.สมุทรสาคร ได้รับเกียรติจาก ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในงาน ทั้งนี้ได้มีภาคีเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมร่วมงานอย่างอบอุ่น อาทิ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนราชการจังหวัดสมุทรสาคร องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ศูนย์พัฒนาเด็กชุมชนแรงงานสำหรับเด็กข้ามชาติ (วัดเทพนรรัตน์) ศูนย์คาทอลิคนักบุญอันนาเพื่อผู้อพยพย้ายถิ่น โรงเรียนหลวงแพทย์โกศลอุปถัมภ์ โรงเรียนวัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) และบริษัท โรงงานต่าง ๆ ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้นเพื่อตอกย้ำความตั้งใจจริงของประเทศไทย
ในวันที่ 12 มิถุนายนของทุกปี ได้รับการประกาศให้เป็นวันต่อต้านแรงงานเด็กโลก โดยประเทศต่างๆ ทั่วโลกจัดให้มีกิจกรรมพิเศษขึ้น เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ สำหรับไทยมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้รับการจัดระดับที่มีการพยายามแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กอย่างจริงจัง หรือ “Significant Advancement” จากกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 9 ประเทศจาก 143 ประเทศทั่วโลกที่จัดอยู่ในระดับนี้ ถือได้ว่าเป็นผลดีของไทยอย่างมากในทุกแง่มุม
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ในฐานะกรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และในนามสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทุกสมาคมและบริษัทภายใต้สมาพันธ์ฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามข้อกฎหมายและศีลธรรม ด้วยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์กรต่าง ๆ มาโดยตลอด
นอกจากนี้สมาพันธ์ฯ ยังได้ดำเนินงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยได้ผนึกกำลังกับหลายภาคส่วนเดินทางไปให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความพยายามและความก้าวหน้า ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานทั้งปัจจุบันและอนาคตเกี่ยวกับปัญหาแรงงานของอุตสาหกรรมประมงไทย ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแถบยุโรปซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
ส่วนความคืบหน้าการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีด้านแรงงาน หรือ Good Labour Practices : GLP ขณะนี้ในส่วนของโรงงานและล้ง ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยและอยู่ระหว่างการอบรมทุกสถานประกอบการของทั้ง 2 ประเภท ส่วนฟาร์มกุ้ง และเรือประมง กำลังดำเนินการอยู่ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไม่ช้า การทำงานในเชิงรุกในทุกเรื่องที่กล่าวมานั้นหากแล้วเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะทำให้ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมงไทยได้รับความเชื่อมั่นและยอมรับเพิ่มมากขึ้นจากนานาประเทศ ซึ่งเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าภายในปี 2558 อุตฯประมงไทยจะต้องหยุดและปราศจากการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับหรือแรงงานทาส และการค้ามนุษย์อย่างสิ้นเชิง จะมีแต่การใช้แรงงานที่เสมอภาคถูกต้องและเป็นธรรม”
“สำหรับงานในวันนี้สมาพันธ์ฯ ตั้งใจจะจัดขึ้นทุกปี เพื่อที่จะบอกประชาคมโลกว่าไทยเราโดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมงจะต่อต้านการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมายอย่างเต็มกำลัง และนับว่าวันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน และบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ได้มารวมตัวกันร่วมกันปฏิญาณว่าจะไม่สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้แรงงานเด็กในสถานประกอบการและพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังในการรณรงค์ต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ” นายพจน์ กล่าว
ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯ ได้จัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ทั้งเด็กไทยและเด็กที่เป็นลูกหลานแรงงานต่างด้าวในสถาบันที่สมาพันธ์ฯ ให้การสนับสนุนครูผู้สอนอยู่ ได้ร่วมแสดงออกในการต่อต้านฯ ทั้งในรูปแบบของพาเหรด และการแสดงบนเวที ซึ่งสมาพันธ์ฯ ยังได้มอบทุนสนับสนุนการศึกษาให้กับสถาบันเหล่านี้เพิ่มเติมอีกด้วย เพราะเราเชื่อว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญและถือเป็นรากฐานที่ดีของเด็ก ๆ ในอนาคต ดร.พจน์
สมาพันธ์ฯ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสภาพการทำงานที่เป็นธรรม และมีความปลอดภัย สร้างแรงจูงใจในการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงไทย รวมทั้งส่งเสริมกฎหมายด้านแรงงานของประเทศไทย และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้อุตสาหกรรมประมงไทยมีความก้าวหน้า มั่นคง อย่างยั่งยืนในอนาคตอันใกล้ และหลุดจากข้อกล่าวหาเรื่องการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานโดยเร็ว
|