WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์จับมือม.หอการค้าไทย จัดระดมสมอง พัฒนามาตรฐาน 'อาหารสัตว์'สู่ความยั่งยืน
 ทันข่าวCP

     นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยการสนับสนุนงบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนามาตรฐานระบบการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน ในปี 2557 โดยศึกษาถึงสถานการณ์และปัญหาของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปี 2575 รองรับการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

      โดยจัดให้มีการเสวนาวิชาการระดมสมองจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ได้ความคิดเห็นในเนื้อหาและข้อเสนอของผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานระบบผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน  โดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สำหรับตัวแทนระดับประเทศจากทุกภาคส่วน อันประกอบด้วย เกษตรกรผู้ผลิต ผู้รับซื้อ ผู้แปรรูป ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ใช้ผลผลิต ผู้ส่งออก นักวิชาการอิสระ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 50 คน

       คาดว่า มาตรฐานระบบผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน จะเป็นแนวทางการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถมีส่วนร่วมดำเนินการเพื่อให้เกิดระบบการผลิตที่สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพความปลอดภัยด้านอาหาร โดยลดการทำลายสิ่งแวดล้อม รักษา อนุรักษ์ธรรมชาติ มีการดูแลสวัสดิภาพและสิทธิมนุษย์ชนของผู้ปฏิบัติงาน พร้อมกับการสร้างความมีส่วนร่วมในการพัฒนาความอยู่ดีมีสุขของชุมชนและสังคม

       นอกจากนั้น ยังมองว่าการสร้างมาตรฐานใหม่นี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยผ่านทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ในอันที่จะทำให้การนำมาตรฐานฉบับนี้ไปพิจารณาใช้ในพื้นที่ที่มีการผลิตและการซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่อไป

       นายพรศิลป์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันอาหารสัตว์ของไทยมีคุณภาพระดับสากล ปริมาณการผลิต 12.9 ล้านตัน/ปี ปริมาณอาหารสัตว์เปรียบเทียบต่อประชากร (Feed per Capita) ของไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน มีความสามารถในการปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานตามหลักสากลในด้านความปลอดภัย ความมั่นคงและความยั่งยืนในห่วงโซ่อาหาร

        ที่น่าสนใจอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์บก สัตว์น้ำ และ ผลผลิตจากสัตว์ ภายในประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แต่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทยยังมีจุดอ่อน คือต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์สูง เนื่องจากวัตถุดิบหลักในการผลิตมีปริมาณไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

       สำหรับแนวโน้มความต้องการอาหารสัตว์จะเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณสัตว์เลี้ยง ซึ่งโดยรวมแล้ว คาดว่าในปี 2571-2575 จะมีความต้องการอาหารสัตว์ ประมาณ 22.87 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2555-2560 ที่คาดว่าความต้องการอาหารสัตว์มีประมาณ  13.39 ล้านตัน แยกเป็น ไก่เนื้อ  7.80 ล้านตัน  ไก่เนื้อพ่อแม่พันธุ์ 1.20 ล้านตัน  ไก่ไข่รุ่นเล็ก 1.09 ล้านตัน ไก่ไข่ให้ไข่ 1.77 ล้านตัน  ไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์  2 หมื่นตัน  สุกรขุน  6.09 ล้านตัน  สุกรพันธุ์ 1.46 ล้านตัน เป็นต้น

     และเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น สมาคมฯกำหนดยุทธศาสตร์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ปี 2575 เป็น 3 ยุทธศาสตร์  การผลิตอาหารสัตว์ที่มี ความปลอดภัย (Feed Safety) การผลิตอาหารสัตว์เพื่อตอบสนองความมั่นคงของห่วงโซ่อาหาร (Feed Security) และ การผลิตอาหารสัตว์อย่างยั่งยืน (Feed Sustainability) ขณะเดียวกันต้องมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)เทคโนโลยีการผลิต  การลงทุนและการเงิน กฎหมาย และระเบียบปฏิบัติ  องค์ความรู้ (Knowledge)  Logistics   และเครือข่ายการผลิต (Cluster) ทั้งหมดนี้จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้เป็นผลทางปฏิบัติต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!