- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 05 December 2015 17:00
- Hits: 6695
เตือนโรค-แมลงระบาดสวนมังคุดกรมวิชาการแนะวิธีกำจัด-ป้องกันก่อนเสียหาย
แนวหน้า : กรมวิชาการเกษตร ประกาศแจ้งเตือนชาวสวนมังคุดภาคตะวันออกเฝ้าระวังการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตก ความชื้นในอากาศสูง ให้ระวังการระบาดของเพลี้ยไฟทำลายดอกและใบอ่อนในระยะเริ่มออกดอก เนื่องจากมีฝนหลงฤดูทำให้มังคุดมีการแตกใบอ่อนปะปนการออกดอก หรือแตกใบอ่อนอย่างเดียว หรือออกดอกอย่างเดียวในแต่ละต้น และดอกมักมีแผลสีน้ำตาลจากการทำลายของเพลี้ยไฟ ส่วนใบจะแสดงอาการหงิกงอและมี สีน้ำตาล หากพบเพลี้ยไฟจำนวน 1 ตัวต่อยอด ให้พ่นสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโปรนิล 5% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และ ไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้เพลี้ยไฟต้านทานสารฆ่าแมลงได้
สำหรับ แมลงศัตรูพืชที่พบเข้าทำลายมังคุดในช่วงนี้ คือ หนอนกินใบอ่อน มักพบระบาดในระยะออกดอก โดยหนอนจะกัดกินใบของมังคุดทำให้ได้รับความเสียหาย หากพบหนอนกัดกินใบอ่อนเข้าทำลายประมาณ 20% ของยอด ให้พ่นสารคาร์บาริล 85% ดับบลิวพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน และหนอนชอนใบ มักพบในระยะออกดอกเช่นกัน โดยใบมังคุดจะมีอาการหงิก เมื่อสังเกตใต้ใบจะพบรอยทางยาวเป็นเส้นสีขาว หากพบหนอนกัดกินใบอ่อนเข้าทำลายประมาณ 30% ของยอด ให้พ่นสารคาร์บาริล 85% ดับบลิวพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน
นอกจากนี้ จะพบการระบาดมากของโรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อรา มักพบได้ในระยะเริ่มสร้างดอกและหลังการตัดแต่งกิ่งมังคุด โดยจะเกิดแผลจุดสีน้ำตาลบนใบ ขอบแผลสีน้ำตาลเข้มล้อมรอบด้วยวงสีเหลือง ขนาดและรูปร่างไม่แน่นอน บริเวณตรงกลางแผลเก่าจะพบจุดแข็งสีดำขนาดเล็กขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป หากเป็นรุนแรงจะทำให้สูญเสียพื้นที่ใบในการสร้างอาหาร ใบจะแห้งและร่วงหมด ทำให้ผลมังคุดมีผิวไม่เป็นมันเงา เนื่องจากได้รับแสงมากเกินไป จึงควรทำความสะอาดแปลงโดยการตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง โดยเฉพาะใบที่อยู่ด้านล่างๆ ให้มีการถ่ายเทของอากาศ ไม่ให้มีความชื้นสะสม หากพบว่าเริ่มมีการระบาดมากช่วงแตกใบอ่อน ให้ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชคาร์เบนดาซิม 50% ดับบลิวพี อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคอปเปอร์อ๊อกซี่คลอไรด์ 85% ดับบลิวพี อัตรา 30-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับบลิวพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7-10 วัน จำนวน 1-2 ครั้ง