- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 02 December 2015 08:50
- Hits: 4252
ก.เกษตรฯ ร่วมทบทวนนโยบายการค้า ณ นครเจนีวา สานสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเทศ
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมประชุมทบทวนนโยบายการค้าของไทย ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทบทวนนโยบายการค้าตามกลไกนโยบายการค้าทุกระยะ 4 ปี หวังสร้างความเข้าใจแก่ประเทศสมาชิกคู่ค้าในเรื่องมาตรการและนโยบายอีกทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศร่วมกัน
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการร่วมประชุมทบทวนนโยบายการค้าของไทย ภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ที่จัดขึ้นวันที่ 24 และ 26 พฤศจิกายน 2558 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งไทยในฐานะประเทศสมาชิกต้องเข้ารับการทบทวนนโยบายการค้าตามกลไกการทบทวนนโยบายการค้า (Trade Policy Review Mechanism) ภายใต้ WTO ซึ่งเป็นการทบทวนนโยบายการค้าของไทยในระยะ 4 ปี
สำหรับ การกำหนดระยะเวลาในการทบทวนนโยบาย กำหนดขึ้นจากปริมาณการค้าระหว่างประเทศ โดยประเทศที่มีส่วนแบ่งการค้าสูงที่สุดในตลาดโลก 4 อันดับแรก ประกอบด้วยประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น จะต้องเข้ารับการทบทวนนโยบายการค้าทุกระยะ 2 ปี ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีส่วนแบ่งทางการค้าอยู่ระหว่างอันดับที่ 5–20 ดังนั้น จะต้องทบทวนนโยบายการค้าทุกระยะ 4 ปี ส่วนประเทศที่มีส่วนแบ่งการค้าในระดับไม่สูงนัก (มากกว่าอันดับที่ 20) จะต้องเข้ารับการทบทวนนโยบายทุกระยะ 6 ปี
การประชุมเพื่อทบทวนนโยบายการค้าครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอื่นในองค์การการค้าโลก ได้ทราบและเข้าใจนโยบายการค้าของประเทศสมาชิกที่เข้ารับการทบทวนนโยบายการค้า ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาความขัดแย้งทางการค้า และแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสของการดำเนินการด้านนโยบายและมาตรการต่างๆ โดยประเทศสมาชิกอื่นจะได้สอบถามและตรวจสอบนโยบายการค้าเพื่อให้เป็นไปในแนวทางการค้าเสรีตามหลักการของ WTO (ปัจจุบัน WTO มีสมาชิกทั้งสิ้น รวม 161 ประเทศ)
ทั้งนี้ การรายงานการทบทวนนโยบายการค้า จะแบ่งเป็น 2 ฉบับ คือ รายงานฉบับสำนักเลขานุการ WTO ซึ่งจัดทำขึ้นจากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากประเทศสมาชิก ในเรื่องเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ นโยบายการค้า และรายงานฉบับรัฐบาล ซึ่งเป็นเอกสารนโยบายการค้าที่จัดทำโดยประเทศสมาชิก เพื่อเวียนให้ประเทศสมาชิกอื่นพิจารณา โดยประเทศสมาชิกอื่นจะตรวจสอบข้อมูลในเอกสารทั้ง 2 ฉบับ พร้อมยื่นคำถามหรือข้อสงสัยให้ฝ่ายเลขานุการ WTO รวบรวม เพื่อสอบถามไปยังประเทศสมาชิกที่เข้ารับการทบทวนนโยบายการค้าในที่ประชุมองค์การการค้าโลกต่อไป
เลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า การเข้าร่วมการทบทวนนโยบายการค้าของไทยในครั้งนี้ จะประโยชน์ต่อไทยในการใช้โอกาสชี้แจงและสร้างความเข้าใจแก่ประเทศสมาชิกคู่ค้าในเรื่องมาตรการและนโยบายมากยิ่งขึ้น และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี