WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

A KampanatKOFC เปิดผลวิเคราะห์มุมมองเกษตรกรต่อ 8 มาตรการช่วยเหลือวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59

      ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) ได้วิเคราะห์ถึงข้อคิดเห็นเกษตรกรต่อ 8 มาตรการภัยแล้ง ปี 2558/59 ซึ่งจากสถานการณ์น้ำและแนวโน้มวิกฤติปัญหาภัยแล้งปี 2558-2559 ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เกิดตามลุ่มน้ำเท่านั้น แต่ยังส่งผลเกิดขึ้นในพื้นที่ทั้งประเทศปัญหาดังกล่าวทำให้ทุกภาคส่วนหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยรัฐบาลได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงภัยแล้งออกมาทั้งสิ้น 8 มาตรการ 26 กิจกรรม คือ

     1) การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 2) การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 3) การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรทั้งการจ้างแรงงานชลประทานหรือการจ้างงานเร่งด่วนและการพัฒนาทักษะฝีมือ 4) การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 5) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยให้ทุกส่วนราชการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด 6) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนทั้งการขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติการปฏิบัติการฝนหลวง การพัฒนา แหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 7) การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 8) การสนับสนุนอื่นๆ

    สำหรับ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงภัยแล้งทั้ง 8 มาตรการ ดังกล่าว เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ต่อเกษตรกร ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรได้ แต่อาจยังไม่ตรงตามความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง เนื่องจากเกษตรกรแต่ละท้องที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะพื้นที่ อาชีพ รายได้ รายจ่าย ภาระหนี้สิน และปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งลักษณะที่แตกต่างกันเหล่านี้อาจส่งผลถึงความต้องการความช่วยเหลือแตกต่างกันไปด้วย

      ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตรจึงได้มีความสนใจในเรื่องดังกล่าว และได้ทำการสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่มีต่อมาตรการต่างๆของภาครัฐ โดยทำการศึกษาในพื้นที่ทั้งสิ้น 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระบุรี ในเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น179 ครัวเรือน

     ผลการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ในภาพรวมเกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 53.5 ปี มีพื้นที่ทำนาเฉลี่ยครัวเรือนละ 36.6 ไร่ เป็นเจ้าของเฉลี่ยครัวเรือนละ 17.2 ไร่ เป็นพื้นที่เช่าเฉลี่ยครัวเรือนละ 28.4 ไร่ และเมื่อสอบถามถึงการทำนาปรังในปีที่ผ่านมานั้น เกษตรกรยังคงทำนาปรังเฉลี่ย 23.4 ไร่ มีประสบการณ์ทำนามาแล้วเฉลี่ย 28.6 ปี โดยในครัวเรือนของเกษตรกรมีผู้ที่สามารถทำการเกษตรโดยเฉลี่ย 1.9 คน จำแนกเป็นพื้นที่การเกษตรขนาดเล็ก( 15 ไร่) 64 ครัวเรือน ขนาดกลาง(15-35 ไร่) 63 ครัวเรือน และขนาดใหญ่ (> 35 ไร่) 52 ครัวเรือน

      เมื่อพิจารณากลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบว่า รายได้รวมของครัวเรือนเฉลี่ยมีค่าเท่ากับ 333,320 บาท/ปี โดยมาจากการทำการเกษตรเฉลี่ย 244,088 บาท/ปี สำหรับรายจ่ายรวมของครัวเรือนเฉลี่ยมีค่าเท่ากับ243,559บาท/ปี โดยมีรายจ่ายในทำการเกษตรเฉลี่ย 163,071 บาท/ปี เกษตรกรมีเงินออมเฉลี่ยครัวเรือนละ 15,656บาท/ปี มีหนี้สินการเกษตรเฉลี่ยครัวเรือนละ 191,994 บาท และหากแบ่งกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดออกเป็นกลุ่มตัวอย่างที่หยุดทำนาปรังและกลุ่มตัวอย่างที่ทำนาปรัง พบว่า กลุ่มที่ทำนาปรังจะมีรายได้การเกษตรสูงกว่ากลุ่มที่หยุดทำนาปรังเท่ากับ 76,429 บาท/ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

      เมื่อพิจารณาข้อมูลต่างๆ เปรียบเทียบตามขนาดฟาร์ม (เล็ก กลาง และใหญ่) และการทำนาปรัง (หยุดนาปรังและทำนำปรัง) พบว่า ในฟาร์มขนาดกลางและฟาร์มขนาดใหญ่ รายได้ รายจ่าย รายได้สุทธิ หนี้สินการเกษตร และค่าเช่า ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่หยุดทำนาปรังและกลุ่มที่ทำนาปรัง อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้พบว่าในฟาร์มขนาดเล็ก รายได้การเกษตร รายจ่ายการเกษตร และรายได้การเกษตรสุทธิ มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่หยุดทำนาปรังและกลุ่มที่ทำนาปรัง โดยกลุ่มที่หยุดทำนาปรังมีรายได้การเกษตร รายจ่ายการเกษตร และรายได้การเกษตรสุทธิ ต่ำกว่ากลุ่มที่ทำนาปรังเท่ากับ 55,413บาท/ปี 37,872 บาท/ปีและ 17,541 บาท/ปี/ครัวเรือน ตามลำดับ

     กรณี ความช่วยเหลือจากรัฐบาลในกรณีที่มีการประกาศงดการทำนาปรังในปีที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 83.5 ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ มีเพียงร้อยละ 16.5 ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ สำหรับด้านความช่วยเหลือของภาครัฐที่เกษตรกรได้รับมากที่สุด คือ ด้านพืช คิดเป็นร้อยละ 12.8สำหรับการแก้ไขสถานการณ์ของเกษตรกรในขณะที่หยุดทำนาปรังพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยอมรับสภาพ หยุดการทำนาปรัง คิดเป็นร้อยละ 76.3 รองลงมาคือ ปลูกพืชทดแทนและทำอาชีพนอกภาคการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 17.5 และ6.2 ตามลำดับ และเมื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรต่อการประกาศให้หยุดการทำนาปรัง พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยที่ทางภาครัฐประกาศให้หยุดการทำนาปรังร้อยละ 50.3

       ในส่วนความคิดเห็นของเกษตรกรต่อมาตรการช่วยเหลือทั้ง 8 ของภาครัฐ พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจโดยรวมกับทั้ง 8 มาตรการในระดับปานกลางโดยภาพรวมมาตรการที่ได้รับความพึงพอใจ 4 อันดับแรก  ได้แก่ อันดับ 1 เรื่องการชะลอและขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงินรองลงมา คือส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน (อันดับ 2) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน (อันดับ3) และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ (อันดับ4)

       อย่างไรก็ตาม หากแยกความคิดเห็นของเกษตรกรต่อมาตรการการช่วยเหลือทั้ง  8 ของภาครัฐ พบว่ากลุ่มที่หยุดทำนาปรังและกลุ่มที่ทำนาปรังมีความคิดเห็นค่อนข้างคล้ายคลึงกันในความพึงพอใจ 4 อันดับแรก ต่างกันเพียงกลุ่มที่หยุดทำนาปรังเห็นว่าภาครัฐควรส่งเสริมการจัดทำแผนชุมชน และเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ซึ่งหลังจากมีการสอบถามความคิดเห็นของเกษตรกรเรื่องมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลแล้ว จึงได้มีการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการย่อยที่ภาครัฐได้จัดทำขึ้นทั้งสิ้น 25 โครงการ/กิจกรรมซึ่ง พบว่า

     มาตรการที่ 1 โครงการย่อยที่เกษตรกรต้องการมากที่สุดของเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มคือโครงการสร้างรายได้จากพืชทดแทนนาปรัง โดยกลุ่มหยุดนาปรัง มีความสนใจโครงการนี้ ร้อยละ 54.6 และกลุ่มทำนาปรัง ร้อยละ 27.8

        มาตรการที่ 2  เกษตรกรกลุ่มหยุดนาปรัง มีความสนใจกับโครงการขยายเวลาชำระหนี้มากที่สุด ร้อยละ 41.2 เนื่องจากให้เหตุผลว่าไม่มีรายได้เมื่อหยุดการทำนาปรัง จึงกังวลว่าหากไม่มีการขยายเวลาชำระหนี้ก็ไม่สามารถหาเงินมาปลดหนี้ได้ และในส่วนกลุ่มทำนาปรังมีความสนใจโครงการลดหรือยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ดินมากที่สุด ร้อยละ 25.3 โดยเกษตรกรในกลุ่มนี้ให้เหตุผลว่ายังไงก็คงทำนาปรังต่อไปเนื่องจากไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไร ดังนั้นหากรัฐต้องการช่วยเหลือก็อยากให้ดูแลเรื่องค่าเช่าให้ถูกกว่าเดิม เพื่อเกษตรกรจะได้ลดต้นทุนการผลิต ในส่วนของ

    มาตรการที่ 3 เกษตรกรกลุ่มหยุดนาปรัง มีความสนใจกับโครงการจ้างงานเร่งด่วนและการพัฒนาทักษะฝีมือมากที่สุด ร้อยละ 42.3 และในส่วนกลุ่มทำนาปรังมีความสนใจโครงการจ้างงานในโครงการของกรมชลประทานมากที่สุด ร้อยละ 43.0

       มาตรการที่ 5 พบว่าเกษตรกรกลุ่มหยุดนาปรังมีความสนใจกับโครงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนกับลูกค้า ธ.ก.ส. มากที่สุด ร้อยละ 38.1 และในส่วนกลุ่มทำนาปรังมีความสนใจโครงการส่งเสริมการปลูกข้าววิธีสลับแห้งเพื่อการประหยัดน้ำมากที่สุด ร้อยละ  30.4

   มาตรการที่6  เกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มสร้างมีความสนใจกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลมากที่สุด โดยกลุ่มหยุดนาปรัง มีความสนใจโครงการนี้ ร้อยละ 44.3 และกลุ่มทำนาปรัง ร้อยละ 38.0 ตามลำดับ

    มาตรการที่7 เกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มสร้างมีความสนใจกับโครงการการช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับผู้ประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด โดยกลุ่มหยุดนาปรัง มีความสนใจโครงการนี้ ร้อยละ 55.7 และกลุ่มทำนาปรังร้อยละ46.8เนื่องจากเกษตรกรเหล่านี้เกิดอาการเครียดที่ต้องหยุดการทำนาปรัง รวมถึงบางส่วนยังคงทำและเกิดภาวะขาดทุน

    มาตรการที่8  เกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มสร้างมีความสนใจกับโครงการระบบสารสนเทศเพื่อติดตามและประเมินผลโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งมากที่สุด โดยกลุ่มหยุดนาปรังมีความสนใจโครงการนี้ร้อยละ 55.7 และกลุ่มทำนาปรังร้อยละ 48.1 เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรหลายรายไม่ได้รับความช่วยเหลือ และอีกสาเหตุหนึ่ง คือ การช่วยเหลือจะมีข้อจำกัดอยู่กับบุคคลที่มีความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทำให้การช่วยเหลือดังกล่าวไม่ได้ลงสู่เกษตรกรอย่างแท้จริง

      ทั้งนี้ ผลจากการศึกษา ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร มีข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าว ดังนี้

    1. ในการส่งเสริมการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรนั้น ควรศึกษาถึงความเหมาะสมของโครงการจ้างงานเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 53.5 ปีดังนั้นโครงการย่อยบางโครงการที่ใช้แรงงานจึงไม่เหมาะสมกับเกษตรกรในกลุ่มนี้

     2. ระยะเวลาของโครงการย่อยที่จะช่วยเหลือเกษตรกร ควรมีความชัดเจนและสอดคล้องกับฤดูกาล เช่น การขุดแหล่งน้ำบาดาลควรทำก่อนที่จะถึงช่วงฤดูแล้ง เพื่อได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจต้องทำก่อนเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้น

   3. โครงการที่ภาครัฐควรดำเนินการ คือ เสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรในการบริหารจัดการการผลิตเพื่อรองรับผลกระทบจากภัยแล้งการผลิตภายใต้ความเสี่ยงและความไม่แน่นอน และการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (การลดต้นทุนเพิ่มรายได้)

   4. การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรถึงความเสี่ยงในการลงทุนการผลิตในช่วงวิกฤตว่ามีโอกาสที่จะขาดทุน

     5. ภาครัฐควรมีการจัดลำดับความสำคัญในการคัดเลือกเกษตรกรเป้าหมายในแต่ละโครงการให้เหมาะสมโดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรรายเล็ก

         สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!