- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 22 November 2015 10:30
- Hits: 3057
วิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรเปิดบ้านโชว์สิ่งประดิษฐ์-นวัตกรรม สุดล้ำ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เปิดบ้านโชว์ผลงานสิ่งประดิษฐ์-นวัตกรรม ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม 18-21 พฤศจิกายน 2558
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(บางเขน) จัดงาน “บนเส้นทางวิศวกรรม ครั้งที่ 10” ขนทัพสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมด้านวิศวกรรมของอาจารย์ นิสิต และบุคลากร มหาลัยเกษตรศาสตร์ มาจัดแสดงให้ประชาทั่วไปได้เข้าชมอย่างใกล้ชิด
รศ.ดร.รังสรรค์ ปิติปัญญา รักษาการแทนรองการอธิบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า งาน "บนเส้นทางวิศวกรรม" ครั้งนี้ จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “วิศวกรรมรุ่นใหม่ เพื่อโลกของการเปลี่ยนแปลงจากชลประทาน เกษตร โยธา ไฟฟ้า เครื่องกล สู่โลกหุ่นยนต์ ชีวิตดิจิทัล” ที่หยิบเอาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมกว่า 60 ผลงาน จาก 10 ภาควิชา มาจัดแสดง โดยมีหุ่นยนต์สายพันธุ์ Robot Republic หุ่นยนต์รับใช้งานบ้าน หรือ คุณลำไย เป็นตัวชูโรง
Robot Republic ที่ชื่อ "คุณลำไย" เป็นผลงานของนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ หุ่นยนต์ของไทยเพียงตัวเดียวที่ติดอันดับ 1 ใน 10 จากการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ประจำปี 2558-RoboCup 2015 ประเภทหุ่นยนต์รับใช้งานภายในบ้าน โดยต่อยอดมาจาก "สะคูบา - Skuba" หุ่นยนต์เตะฟุตบอลของนิสิต ที่เคยคว้าแชมป์โลก 4 สมัยซ้อน(2552-2555) จากเวทีของ RoboCup มาแล้ว
ดร.กาญจนพันธุ์ สุขวิชชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์ที่ปรึกษาโปรเจ็กต์สะคูบา เผยว่า วัตถุประสงค์ของการสร้าง คุณลำไย นี้ เพื่อต้องการนำความรู้จากสะคูบามา มาสร้างหุ่นยนต์แม่บ้านที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคม การทำงานของ คุณลำไย มีความสามารถที่ค่อนข้างเหมือนมนุษย์ สามารถหยิบสิ่งของ ทำงานภายในบ้านอย่างง่ายๆ จำอัตลักษณ์ของหน้าบุคคล และตอบโต้กับคนได้ทั้งเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เหมาะเป็นหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ ด้วยกล้องถ่ายภาพ 3 มิติ คอยตรวจจับการล้มของมนุษย์ แล้วจะแจ้งเตือนผ่านเครื่องมือสื่อสารหรือโซเชียลมีเดีย
ส่วนนวตกรรมทางการเกษตรก็ไม่น้อยหน้า ด้วยผลงาน รถหย่อนกล้านาโยน ที่ช่วยชาวนาประหยัดต้นทุนถึง 40 เปอร์เซ็น ผลงานการคิดค้นของอาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา และคณะภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นการนำวิธีการทำนาแบบโยนกล้ามาประยุกต์ใช้งาน โดยใช้เครื่องจักรในการทำนาโยน สามารถปลูกข้าวได้ 12-15 ไร่ ต่อวัน ใช้คนงาน 3-4 คน ทดแทนการใช้แรงงานแบบเก้า 13-17 คน ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากใช้ระบบหัวคีบ 10 แถวในขณะที่รถดำนาแบบเดิมมีสูงสุด 8 แถว ที่สำคัญเครื่องจักรง่ายต่อการซ่อมเมื่อเกิดการชำรุดเสียหายที่ผู้ใช้สามารถลงมือซ่อมเองได้ ปัจจุบันมีเกษตรกรนำไปใช้จริงแล้วใน 15 จังหวัด
ผู้ที่สนใจในนวตกรรมใหม่ สามารถเข้าชมงานได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) ระหว่างวันที่ 18 – 21 พฤศจิกายน 58 เวลา 9.30 - 17.30 น.