WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

อีกหนึ่งมุมมองต่อ...เกษตรพันธสัญญา
ทันข่าวCP

     ประชากรมีอาหารบริโภคเพียงพอและมีคุณภาพ และจากการที่ผลิตสินค้าเกษตรได้ในปริมาณมากกว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศ ทำให้ไทยสามารถส่งสินค้าเกษตรออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศและสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมากในแต่ละปี โดยสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญในเชิงพาณิชย์ อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ไก่ หมู และอาหารทะเล เป็นต้น ข้อได้เปรียบประการสำคัญมาจากการที่ประเทศตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะสม มีฝนตกชุกรวมทั้งมีพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์จึงเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม

      อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแม้ว่าสัดส่วนภาคเกษตรกรรมของประเทศจะมีแนวโน้มเล็กลงเมื่อเทียบกับในอดีต เพราะภาคเกษตรมีการขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและช้ากว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการนั่นเอง แต่ภาคเกษตรกรรมเองก็ยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในมุมมองของความมั่นคงทางอาหารและการสร้างรายได้ให้กับประชากร ในระยะที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรทั้งหลายยังคงประสบกับความยากจน มีรายได้น้อย และมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสภาพดินฟ้าอากาศ ราคาสินค้า และตลาดที่ไม่แน่นอน อาชีพเกษตรกรรมจึงได้รับความนิยมจากคนรุ่นหลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นผู้มีรายได้น้อยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

     จากประสบการณ์ความสำเร็จของระบบเกษตรพันธสัญญาในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกาหรือหลายประเทศในแอฟริกา ดังนั้น ในประเทศไทยระบบเกษตรพันธสัญญาจึงถูกหยิบยกขึ้นมา เพื่อหวังจะช่วยพัฒนาภาคเกษตรกรรมและบรรเทาปัญหาในเรื่องความผันผวนของราคา รายได้ และตลาดให้กับเกษตรกร โดยในระยะแรกได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและถูกขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนในระยะต่อมา หรือที่รู้จักกันในนามของเกษตรแบบครบวงจร

      จะเห็นว่าบริษัทเอกชนจำนวนมากได้เข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และรวมถึงบริษัทท้องถิ่นที่มีขนาดเล็ก โดยในกลุ่มหลังนี้มุ่งผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การเลือกใช้ระบบเกษตรพันธสัญญาของบริษัทก็มีเป้าหมาย เพื่อหาผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานแทนการลงทุนทำเองทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงในการผลิตขนาดใหญ่เพื่อตอบสนองต่อตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ

     โดยในทางทฤษฎีแล้วการนำระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรนั้น จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้ผลิตได้สินค้าในปริมาณและคุณภาพที่ต้องการ ใช้เงินลงทุนต่ำ ขณะที่เกษตรกรมีความแน่นอนทางรายได้ในกรณีที่ประกันรายได้ หรือมีความแน่นอนในราคาจำหน่ายกรณีที่ประกันราคา หรือมีความแน่นอนเรื่องตลาดในกรณีที่ประกันตลาด เป็นต้น นอกจากนี้เกษตรกรยังได้รับวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน ความช่วยเหลือแนะนำในการผลิต และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี นำไปสู่การผลิตที่มีปริมาณมากและมีคุณภาพ เกิดความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาในภาคเกษตรกรรมของประเทศในที่สุด รวมทั้งมีการสร้างงานและรายได้ให้กับประชากรภาคเกษตรและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกด้วย

     อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้นผลที่ปรากฏในระยะที่ผ่านมาค่อนข้างมีความหลากหลาย โดยเกษตรบางกลุ่มที่เข้าร่วมทำเกษตรพันธสัญญาก็ประสบความสำเร็จด้วยดีจากการมีรายได้ที่แน่นอน มีตลาดรองรับสินค้า และได้รับเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน ทั้งนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เกษตรกรจะต้องมีวินัยและดูแลการผลิตอย่างเข้มข้น ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีมีอัตราการแลกเนื้อสูง เป็นต้น เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถสร้างฐานะเป็นปึกแผ่นมีความมั่นคงทางรายได้ ในขณะที่เกษตรกรบางกลุ่มกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หรือในกรณีที่แย่ก็ คือ มีผลขาดทุนและมีภาระหนี้สิน

     อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปสัมผัสกับประสบการณ์จริงของเกษตรกรรายหนึ่ง ที่ตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางของเกษตรพันธสัญญากับบริษัทธุรกิจเกษตรครบวงจรรายใหญ่ของไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเขาเริ่มจากฟาร์มขนาดเล็กและขยายจนใหญ่ เริ่มจากการเลี้ยงไก่ด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูกอยู่พักใหญ่ หลังจากนั้นก็ตัดสินใจเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาจากการชักชวนของบริษัทและคำแนะนำจากเพื่อน

     ระบบเกษตรพันธสัญญาทำให้เขาต้องปรับกระบวนท่าในการผลิตใหม่ เพราะทุกอย่างในกระบวนการผลิตต้องได้มาตรฐานและปลอดเชื้อ อาทิ การเลี้ยงแบบระบบปิด ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติทั้งการให้อาหาร น้ำ การชั่งน้ำหนัก การปรับอุณหภูมิ เป็นต้น เขาเปิดเผยถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จว่าการมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทก็ไปได้สวย เพราะต้องดูแลอย่างเข้มข้นและมีวินัย

   แม้เกษตรพันธสัญญาต้องอาศัยเงินลงทุนมากและทุ่มเทดังกล่าวแต่สิ่งที่ได้ก็คุ้มค่าในแง่ของการมีตลาดรับซื้อและในราคาที่แน่นอน (เกษตรกรรายนี้ทำเกษตรพันธสัญญาแบบประกันราคา) ทำให้สามารถสร้างฐานะขึ้นมาได้ โดยในตอนนี้มีเงินลงทุนในฟาร์มนับ 100 ล้านบาท เขากล่าวถึงด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จ

     อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากฝากแง่คิดว่าคนที่ประสบความสำเร็จนั้นอย่างน้อยต้องมีปัจจัยอยู่ 4-5 ประการ คือ 1) มีความรักชอบในอาชีพนี้ 2) คุณภาพผลผลิตต้องดูแลให้ดีกล่าวคือ มีความมุ่งมั่นและทุ่มเทในงานที่ทำตามที่เกษตรกรรายนี้กล่าว และสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี 3) มีบทเรียนหรือประสบการณ์ในเรื่องที่ทำ 4) ต้องเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และประการสุดท้ายก็คงต้องบอกว่ามีเงินทุน ซึ่งประการหลังนี้ทำให้เกษตรกรจำนวนมากไปไม่ถึงฝัน หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องใช้ความพยายามเก็บเล็กผสมน้อยไปก่อน

      ดังนั้น เกษตรพันธสัญญาจึงมิน่าจะใช่สูตรสำเร็จที่นำมาใช้ในการพัฒนาภาคเกษตรกรรม หรือนำไปใช้ได้กับเกษตรกรทุกราย ทำอย่างไรจึงจะสามารถเพิ่มจำนวนผู้ที่ประสบความสำเร็จเหมือนกับเกษตรกรรายนี้ให้มากขึ้นและขยายวงกว้างออกไป เนื่องจากในทางปฏิบัติการทำเกษตรพันธสัญญามีรายละเอียดและเงื่อนไขที่ซับซ้อน ผู้เกี่ยวข้องต้องช่วยกันสะท้อนปัญหาและหาแนวทางในการแก้ไขเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์จากเกษตรพันธสัญญาอย่างแท้จริง

โดย : ดร.อภิญญา วนเศรษฐ

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/reader-opinion/20140314/568611/อีกหนึ่งมุมมองต่อ...เกษตรพันธสัญญา.html

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!