- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 30 June 2014 22:17
- Hits: 3214
มหาสารคาม เปิดมาตรการเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติการเกษตร ทั้ง 3 ระยะ ในฤดูฝน
สศข.4 ร่วมติดตามและประชุมวางแผนรับสถานการณ์ภัยพิบัติ ด้านการเกษตรในฤดูฝน เพื่อลดผลกระทบหรือความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม พร้อมรับสถานการณ์ทั้ง 3 ระยะ ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย แนะเกษตรกรติดตามสถานการณ์เพื่อลดผลกระทบหากเกิดภัยพิบัติทางการเกษตรขึ้น
นางราตรี พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร จังหวัดมหาสารคาม เพื่อหาแนวทางและมาตรการความพร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ในช่วงฤดูฝน อย่างเหมาะสม และเป็นการลดผลกระทบหรือความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ปีงบประมาณ 2557 เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา
สำหรับ แนวทางและมาตรการความพร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร โดยมีแผนปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในปี 2557 จะดำเนินใน 3 ขั้นตอน คือ ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย โดย ก่อนเกิดภัย มีวิธีการป้องกัน(Prevention) ประกอบด้วยกิจกรรมการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย/ภัยแล้ง โดยเป็นแหล่งน้ำในไร่นานอกและในเขตชลประทาน จำนวน 2,000 บ่อ กิจกรรมขุดลอกอ่าง จำนวน 0.32 ล้าน ลบม. กำจัดวัชพืชจำนวน 120 ไร่ เพื่อประสิทธิภาพในการรับน้ำและระบายน้ำ วิธีการเตรียมความพร้อม (Preparation) โดยมีการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ประชุมเจ้าหน้าที่ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยและการจัดทำศูนย์ข้อมูลครัวเรือนเกษตรในพื้นที่เสี่ยงภัย การประชาสัมพันธ์ข่าวสารและแจ้งการเตือนภัย การจัดทำแผนปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร วางแผนการจัดสรรน้ำและเพาะปลูก จัดทำแผนปฎิบัติการฝนหลวง การสำรองเสบียงสัตว์และเวชภัณฑ์ วางแผนการอพยพสัตว์ การประชาสัมพันธ์การเตรียมความพร้อมยานพาหนะ เครื่องจักรกล เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เช่น รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ
ขณะเกิดภัย วิธีการเผชิญหน้า(Response) มีการแจ้งเตือนภัยและประชาสัมพันธ์ การปฎิบัติการฝนหลวง การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย/ภัยแล้ง โดยการปรับแผนการกระจายอ่างฯ เพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมด้านท้ายอ่างฯ การเสริมประสิทธิภาพของอาคารชลประทานในบริเวณต่างๆที่พบว่ายังไม่มีศักยภาพเพียงพอกับขนาดของสถานการณ์น้ำหลากที่คาดว่าจะเกิดขึ้น การซ่อมแซมอาคารที่ชำรุดให้ใช้งานได้ ปรับแผนการจัดสรรน้ำ กิจกรรมการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกร โดยการจัดเจ้าหน้าที่ออกเยี่ยมให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งประเมินผลกระทบเบื้องต้น จัดหน่วยเฉพาะกิจดำเนินการอพยพสัตว์ไว้ที่ปลอดภัย รักษาสัตว์ป่วย บาดเจ็บจากการเคลื่อนย้าย จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวัง ป้องกันโรคระบาดสัตว์น้ำ ให้คำแนะนำ/สนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อขนย้ายหรือจับสัตว์น้ำออกจากแหล่งเพาะเลี้ยงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัย สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถบรรทุก เครื่องจักรกล สนับสนุนเสบียงสัตว์
หลังเกิดภัย วิธีการฟื้นฟู (Recovery) สำรวจและประเมินความเสียหายของเกษตรกรผู้ประสบภัย การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นเงิน การซ่อมแซมสิ่งก่อสร้าง แหล่งน้ำและระบบชลประทาน ทั้งนี้ สศข.4 จะได้ร่วมติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ความเสียหายด้านเศรษฐกิจการเกษตรจากการเกิดภัยพิบัติอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ข้อมูลต่อเกษตรกรอย่างทันท่วงที ซึ่งเกษตรกรควรติดตามสถานการณ์ และข่าวสารจากหน่วยงานต่างๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมการและลดผลกระทบหากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติทางการเกษตรขึ้น นางราตรี กล่าว
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร