- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 29 September 2015 07:43
- Hits: 3920
กรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนสหกรณ์พัฒนาผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพ บูรณาการทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อน สร้างมูลค่าเพิ่มข้าวไทยสู่ตลาดแบบยั่งยืน
บ้านเมือง : ข้าวหอมมะลิไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพ รสชาติอร่อยและ มีกลิ่นหอมที่สุดในโลก พื้นที่เพาะปลูกอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน ประมาณ 19 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวเปลือก 6.8 ล้านตัน ทำรายได้ให้แก่ชาวนาปีละ 105,400 ล้านบาท และสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศได้ ปีละ 2-3 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นมูลค่าถึง 80,000 ล้านบาทต่อปี
ในปี 2547 ภาครัฐ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคามและยโสธร โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นสินค้าลักษณะพิเศษ ได้รับรองมาตรฐานการผลิตตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงการส่งออก
ปัจจุบันการแข่งขันกับตลาดส่งออกซึ่งมีประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชาและเวียดนาม เข้ามามีส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมมะลิไทยในตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ทำให้ราคาขายข้าวหอมมะลิไทยในตลาดต่างประเทศมีราคาลดลง ถึง 20% ขณะที่การผลิตข้าวหอมมะลิของไทยยังเน้นเรื่องการเพิ่มปริมาณการผลิต และความหอมของข้าวลดลง เนื่องจากละเลยเรื่องการรักษาจุดเด่นของข้าวหอมมะลิ เช่น เรื่องยกระดับคุณภาพความหอม การเพาะปลูกข้าวให้ได้ความหอม การเก็บรักษาคุณภาพความหอมในข้าว การแปรรูปข้าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการตลาดข้าวคุณภาพถึงผู้บริโภคข้าวหอมมะลิพันธุ์แท้ทั่วโลก
ฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการผลิตและการตลาดข้าวหอมมะลิไทย จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานโครงการพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสู่ตลาดแบบยั่งยืน เพื่อให้ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่สูงขึ้น และรักษาตลาดการบริโภคข้าวหอมมะลิทั้งภายในประเทศและส่งออกไว้ได้อย่างเข้มแข็ง โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพความหอมของข้าวหอมมะลิตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ เมล็ดพันธุ์ข้าว การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว จนถึงการสี การปรับปรุงคุณภาพ การเก็บรักษาและการขนส่งตั้งแต่ข้าวเปลือก ข้าวสาร และข้าวสุก พร้อมพัฒนาระบบโลจิสติกส์โซ่ความเย็นข้าวให้มีคุณภาพความหอมเพิ่มขึ้น ของข้าวเปลือกในแปลงเกษตรกรที่ค่าเฉลี่ย 4 ppm และรักษาความหอมของข้าวเปลือกที่โรงสีและผู้ส่งออกให้คงอยู่ ไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3-5 ppm
นายสรพล เถระพัฒน์ อดีตรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองหัวหน้าคณะทำงาน เปิดเผยว่า ปีการผลิต 2558/59 ได้ดำเนินโครงการนำร่องพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มตั้งแต่ ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในพื้นที่การปลูกข้าวหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์ และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายเพิ่มความหอมของข้าวหอมมะลิ ซึ่งจำเป็นต้องใช้กระบวนการปลูกที่เหมาะสมและใช้วิทยาการดูแลในแต่ละขั้นตอน เพื่อรักษาความหอมให้คงอยู่ตั้งแต่เป็นข้าวเปลือก จนกระทั่งแปรรูปเป็นข้าวสารและหุงเป็นข้าวสุก
กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากการคัดเลือกสหกรณ์ในพื้นที่เป้าหมายเข้าร่วมโครงการ 20 แห่ง และสหกรณ์ก็คัดเลือกกลุ่มสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 5,000 ราย จำนวนพื้นที่เพาะปลูก 50,000 ไร่ จากนั้น กรมพัฒนาที่ดินจะเข้ามาวิเคราะห์ดินในพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อวัดค่าแร่ธาตุในดิน พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มอินทรียวัตถุ การใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพ การรับรองคุณภาพของดิน ส่วนกรมการข้าวได้เข้ามาสนับสนุนเรื่องการจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพและได้มาตรฐานให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูก รวมถึงถ่ายทอดกระบวนการผลิต การจัดการแปลงปลูก การผลิตตามหลักการปฏิบัติที่ดีและเหมาะสม การเก็บเกี่ยว การเพิ่มมูลค่า มาตรฐานการผลิต มาตรฐานสินค้า และการรับรองมาตรฐานต่างๆ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม เข้ามาร่วมสนับสนุนด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงปุ๋ยอินทรีย์ โรงสีข้าว โรงปรับปรุงคุณภาพข้าว และการลดการสูญเสียความหอมในกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงระบบโลจิสติกส์โซ่ความเย็นเกษตรอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านต่างๆ เพื่อใช้ในโครงการ ส่วนสภาวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และหน่วยงานวิจัย เข้าร่วมสนับสนุนถ่ายทอดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการผลิต วิทยาการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว กระบวนการแปรรูป และการเก็บรักษาคุณภาพ นำไปสู่การปฏิบัติจริงของเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา นายอาณัติ วิเศษรจนา ผู้อำนวยการ กองควบคุมมาตรฐาน สำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้จัดอบรมการใช้ระบบตามสอบสินค้าเกษตรให้กับสมาชิกสหกรณ์ ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 60 ราย โดยมี พล.อ.อ.วิโรจน์ นิสยันต์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ซึ่ง มกอช.เล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับ จึงได้พัฒนาระบบตามสอบสินค้าเกษตร และนำมาใช้กับสินค้าในกลุ่มพืชผัก ผลไม้ จนในที่สุดได้นำมาใช้กับสินค้าประเภทข้าวด้วย ซึ่งเกษตรกรที่จะใช้ระบบดังกล่าวจะต้องมีการบันทึกข้อมูลของเกษตรกร ข้อมูลการปลูก การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การตรวจสอบคุณภาพ ปริมาณการผลิต เพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน ปลอดจากสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตราย ต่อสิ่งแวดล้อม และมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นมาตรฐานตามข้อกำหนดทางการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ระบบยังมีส่วนในการสร้าง QR code สำหรับให้ผู้บริโภค สามารถเข้าถึงข้อมูลการผลิตขั้นต้น โดยใช้ Smart Phone อ่านจาก QR code ก็จะสามารถรับทราบข้อมูลของข้าวที่จะซื้อไปบริโภคได้ทันที ซึ่งปัจจุบันระบบดังกล่าวได้รับความสนใจจากเกษตรกรหันมาใช้ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งการอบรมขั้นตอนการใช้งานระบบการตามสอบสินค้าเกษตรให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ
เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญต่อการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อการบริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งการใช้ระบบตามสอบสินค้าเกษตรมาใช้กับผลิตภัณฑ์ข้าว จะสามารถยกระดับสินค้าเข้าสู่ตลาด Premium ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นต่อตัวสินค้า เนื่องจากสามารถตรวจสอบถึงแหล่งผลิตและกระบวนการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐาน ซึ่งการสร้างความเข้าใจและผลักดันให้สหกรณ์ใช้ระบบการตามสอบข้าวหอมมะลิ จะทำให้ผู้ประกอบการในภาคการเกษตรและอาหารของไทยสามารถแข่งขันทางการค้า และช่วยพัฒนาระบบการผลิตและการตลาดข้าวหอมมะลิของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศเกิดความยั่งยืนในที่สุด