WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

AG เลอศกดก.เกษตรฯ เตือนรับมือนิว นอร์มอลย้ำภาคเกษตรต้องปรับตัวเผชิญการเปลี่ยนแปลง

    สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย บทวิเคราะห์การปรับตัวของภาคเกษตรไทยต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่เปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทใหม่ (New Normal) ย้ำ ต้องสร้างสร้างความเข้าใจให้เห็นคุณค่าของการใช้น้ำอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีทรัพยากรใช้อย่างเพียงพอและคุ้มค่ามากที่สุด

   นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ปรากฏการณ์ El nino (เอล นิโญ) ซึ่งมีความหมายอันเป็นที่รับรู้และเข้าใจกันโดยทั่วไปในปัจจุบัน คือ การอุ่นขึ้นอย่างผิดปกติของน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ซึ่งเกิดจากการอ่อนกำลังลงของ ลมค้า (trade wind) โดยผลกระทบที่เกิดจากปรากฏการณ์ เอลนีโญที่ชัดเจน คือ เกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรอย่างกว้างขวาง  ซึ่งในขณะนี้บางพื้นที่ของประเทศไทยได้เริ่มเกิดขึ้นแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือตอนล่าง และนับเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและต้องปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ธรรมชาติภายใต้บริบทใหม่ หรือที่เรียกกันว่า New Normal ให้ได้  ดังนั้น จึงยิ่งจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเพื่อให้เห็นคุณค่าของการใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นร่วมกัน

   หากวิเคราะห์ ถึงข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อน ณ ปัจจุบัน (22 กันยายน 2558) ทั้งประเทศอยู่ที่ 37,253 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 53 ของระดับน้ำกักเก็บ และใช้การได้จริง 13,750 ล้าน ลบ.ม.  หรือร้อยละ 20 ของปริมาณน้ำกักเก็บ

ข้อมูลน้ำในเขื่อน ณ วันที่ 22 กันยายน 2558                     

ข้อมูลน้ำในเขื่อน ณ วันที่ 22 กันยายน 2558              (หน่วย:ล้าน ลบ.ม.)                      

                               

เขื่อน       ปริมาตรน้ำในอ่างฯ (%รนก.)                ใช้การได้จริง (%)

รวมทั้งประเทศ       37,253 (53%)       13,750 (20%)

เขื่อนภูมิพล             4,583 (34%)         783 (6%)

เขื่อนสิริกิติ์              4,250 (45%)         1,400 (15%)

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน        278 (30%)             235 (25%)

เขื่อนป่าสักฯ            174 (18%)             171 (18%)

                               

ที่มา : สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (22 กันยายน 2558)                  

  อย่างไรก็ตาม พบว่าแนวโน้มปริมาณการใช้น้ำนั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลการใช้น้ำทั้งประเทศตั้งแต่ปี 56/57 ถึง 57/58 พบว่า ได้มีการใช้น้ำเกินจำนวนแผนที่วางไว้ทั้ง 2 ปี โดยในปี 2556/57 ใช้น้ำไป 21,704 ล้าน ลบ.ม.  คิดเป็น ร้อยละ 106 ของแผนที่วางไว้ และในปี 2557/58 ใช้น้ำไปแล้ว 14,218 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 103 ของแผนที่วางไว้

                ดังนั้น กรมชลประทาน จึงได้จัดทำแผนการจัดสรรน้ำทั้งประเทศ ปี 2557/2558 จากแผนการใช้น้ำทั้งหมด 13,784 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแบ่งเป็นการใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 280 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 2) การเกษตร 5,992 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 43) การอุปโภคบริโภค 1,981 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 40) และรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 5,531 (ร้อยละ 14)         

                ทั้งนี้ สำหรับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานได้คาดการณ์สภาพน้ำในอ่างลุ่มน้ำเจ้าพระยาและการเพาะปลูกข้าวนาปรัง  ปี 2558/59 ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2558 ถึง 30 มิ.ย. 2559 แบ่งเป็นการใช้น้ำสำหรับการเกษตร 177 ล้าน ลบ.ม. อุปโภคบริโภค 1,500 ล้าน ลบ.ม. และรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ  2,000  ล้าน ลบ.ม. โดยหากมีการใช้น้ำเพื่อการเกษตร เช่น กรณีการปลูกข้าวนาปรังในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จะต้องใช้น้ำถึง 5,123.76 ล้านลูกบาศก์เมตรตลอดฤดูกาลเพาะปลูก      

ตารางแสดงปริมาณการใช้น้ำในการปลูกข้าวนาปรัง                      

                               

พื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง /1        การใช้น้ำต่อไร่ /2  ปริมาณการใช้น้ำ

(ล้านไร่)  (ลบ.ม.)   (ล้าน ลบ.ม.)

4.44        1,154      5,123.76                               

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คำนวณโดย ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร, 2558                 

    /1 พื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง พยากรณ์ ณ วันที่ 7 กันยายน 2558  /2 การใช้น้ำของข้าว กข. จังหวัดสุพรรณบุรี = 1,154 ลบ.ม. ต่อไร่

  จะเห็นได้ว่า หากมีการปลูกข้าวนาปรังบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูกาลเพาะปลูกปี 58/59 จะมีความต้องการใช้น้ำเกินกว่าปริมาตรน้ำคาดการณ์สำหรับการเกษตร ที่มีอยู่เพียง 177 ล้าน ลบ.ม. และหากมีการสูบน้ำเพื่อทำการเกษตร ในระหว่างทางอาจส่งผลกระทบต่อปริมาตรน้ำในส่วนของการรักษาระบบนิเวศ ซึ่งสำรองไว้สำหรับผลักดันน้ำเค็มกรณีน้ำทะเลหนุน เพื่อรักษาระดับค่าความเค็มในการทำน้ำประปาให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร และจากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าปริมาณน้ำที่มีในเขื่อน ไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งและข้าวนาปรัง จึงควรมีการรณรงค์ให้เห็นคุณค่าของการใช้น้ำ และให้ประชาชนใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพอย่างรอบด้าน คือ

   1. ด้านอุปโภคและบริโภค  ควรให้ประชาชนโดยทั่วไปหมั่นตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำ เพื่อลดการสูญเสียน้ำอย่างเปล่าประโยชน์ ตรวจสอบท่อน้ำรั่วภายในอาคาร ใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ ติดตั้งระบบน้ำให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเก็บและจ่ายน้ำตามแรงโน้มถ่วงของโลก เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานไปสูบและจ่ายน้ำภายในอาคาร เป็นต้น

   2. ด้านการเกษตร มีความจำเป็นต้องรณรงค์ให้เกษตรกรใช้น้ำในการปลูกพืชอย่างประหยัดหรือลดพื้นที่การปลูกข้าว นาปรังหากเป็นไปได้ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ หากไม่ทำการปลูกข้าวนาปรัง เช่น ลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มแม่กลอง มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังประมาณ 4.4 ล้านไร่ จะสามารถประหยัดการใช้น้ำได้ถึง 5,123.76 ล้าน ลบ.ม.

  3. มาตรการการผลักดันการรุกล้ำของน้ำเค็ม โดยดำเนินการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนั้น ยังมีการเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เป็นบางช่วงเวลาให้สัมพันธ์กับช่วงเวลาน้ำทะเลหนุนสูง

  4. การนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะมาใช้ นวัตกรรม (innovation) และการลงทุนในการบริหารจัดการน้ำทางการเกษตร (investment in agriculture water management) ในขณะเดียวกันก็ต้องมุ่งพัฒนาการผลิตอาหารของภาคเกษตรให้เพิ่มขึ้น โดยอนุรักษ์และบริหารจัดการน้ำและแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำทางการเกษตร คือ

   4.1 การใช้น้ำรูปแบบใหม่หรือน้ำสำรอง เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำของภาคเกษตร ที่เพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะในพื้นที่แห้งแล้งจัดหรือกึ่งแห้งแล้ง น้ำรูปแบบใหม่หรือน้ำสำรอง (unconventional water / alternative water) หมายถึง น้ำที่มีสารอินทรีย์และจุลินทรีย์เจือปนอยู่มาก (เช่น น้ำเสียชุมชน) หรือน้ำที่มีความเค็มสูง (เช่น น้ำทะเล น้ำกร่อย น้ำเสียจากอุตสาหกรรมหรืออุตสาหกรรมการเกษตรบางประเภท) โดยสามารถใช้นวัตกรรม ปรับปรุงน้ำเสียหรือน้ำเค็มให้นำมาใช้ประโยชน์ได้

   4.2 การพัฒนาประสิทธิภาพการให้น้ำพืช โดยใช้องค์ความรู้ เรื่องการจัดการน้ำ การปรับปรุงพันธุ์พืช และการชลประทาน เพื่อพัฒนาการใช้น้ำในการเพาะปลูกข้าวโพดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น บริษัท Monsanto ทดลองปลูกข้าวโพดหลายแปลงด้วยระบบการให้น้ำแบบต่างๆ เพื่อค้นหา วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยประหยัดน้ำในการปลูกข้าวโพดโดยไม่ทำให้ผลผลิตลดลง ได้แก่ ระบบปราศจากน้ำชลประทาน (no irrigation) ระบบชลประทานแบบน้ำหยด (drip irrigation) และระบบชลประทานแบบฝนเทียม (sprinkle irrigation)

   4.3 ระบบการให้น้ำพืชแบบความแม่นยำสูง (precision irrigation) นั่นคือ ต้องรู้ว่าพืชชนิดใดต้องการน้ำ เวลาไหนและปริมาณเท่าใด รวมทั้งต้องวิเคราะห์สภาพดิน ชนิดพืชที่ปลูก และสภาพแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้การ ใช้น้ำของพืชในแต่ละบริเวณแตกต่างกันไปแม้จะอยู่บนที่ดินผืนเดียวกันก็ตาม ระบบการให้น้ำพืชแบบความแม่นยำสูงเป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันแต่ยังไม่แพร่หลาย จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงสนับสนุนทางการเมืองการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อกระตุ้นให้มีการนำระบบดังกล่าวไปใช้ในทางการเกษตรให้มากยิ่งขึ้น

   ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องสร้างความเข้าใจและรณรงค์ให้เกษตรกรทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ถั่ว และพืชผัก เป็นต้น รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะมาใช้ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกพืชแนวตั้ง รณรงค์ประหยัดน้ำ ใช้กระบวนการผลิตผ่านระบบเซนเซอร์ที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำในการหว่านเมล็ด รดน้ำ ให้ปุ๋ย เก็บเกี่ยว คัดเลือกผลผลิต เพื่อให้มีทรัพยากรใช้อย่างเพียงพอและคุ้มค่าที่สุดนั่นเอง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!