WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

AG-เลอศกดก.เกษตรฯ เร่งผลักดันยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เดินหน้าเต็มตัวฉบับที่ 2 ปี 2559-2564

     กระทรวงเกษตรฯ พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 เปิด 4 ยุทธศาสตร์หลัก หวังเพิ่มพื้นที่ ปริมาณ และมูลค่าของผลิตผล ผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ ชู วิสัยทัศน์ สู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต การบริโภค การค้า และการบริการเกษตรอินทรีย์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

   นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงจากปี 2548 รัฐบาลได้กำหนดให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีส่วนร่วมในการดำเนินการ จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2551 – 2554) อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ คณะกรรมการฯ ได้ขยายเวลาของแผนปฏิบัติการไปถึงปี 2555 โดยผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551 – 2554 ที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการสร้างและสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ จัดสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ในระดับภูมิภาคร่วมกับมหาวิทยาลัย  มีการกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ครอบคลุมสินค้าพืช ปศุสัตว์ ประมง คัดเลือกเกษตรกรที่มีความพร้อมและสมัครใจขอรับรองมาตรฐานอินทรีย์ ส่งเสริมการจัดหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ (Organic Village)ดำเนินการผลักดันโครงการนำร่องขับเคลื่อนการบูรณาการในระดับพื้นที่ ในโครงการบูรณาการพัฒนาการผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์ พ.ศ.2553-2555 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างรายได้และแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร เป็นต้น

   สำหรับการดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559 – 2564)  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ได้จัดระดมความคิดเห็นทั้งจากภาครัฐ เอกชน และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ เพื่อปรับปรุง (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเกษตร และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน รวมทั้งสอดรับกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เกิดขึ้น โดยกำหนดสาระสำคัญ ดังนี้ (ทั้งนี้ ในปี 2556-2557 อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนทางการเมืองการนำเสนอยุทธศาสตร์ฯ ต่อ ครม. จึงล่าช้าไป)

    วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การบริโภค การค้า และ การบริการ เกษตรอินทรีย์ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าของผลิตผล ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์  เพิ่มการค้าและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศ รวมทั้งให้มาตรฐานและระบบการรับรอง สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของสินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ในระดับสากล อีกทั้ง เป็นการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

   พันธกิจ ประกอบด้วย 1) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ให้เป็นระบบ 2) เสริมสร้างสภาพแวดล้อม สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยการผลิต และการบริโภค สินค้าเกษตรอินทรีย์ ในประเทศให้มากขึ้น 3) ส่งเสริมการใช้ระบบสารสนเทศ การประชาสัมพันธ์และพัฒนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั้งการผลิตการแปรรูป การตลาด และการบริการให้เข้มแข็งพึ่งพากันอย่างยั่งยืน 4) ส่งเสริมการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย และระบบโลจิสติกส์  และ 5) พัฒนามาตรฐาน และระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ 

   เป้าหมาย เพิ่มพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี (หรือเพิ่มขึ้นจาก 213,000 ไร่ ในปี 2556 เป็นไม่น้อยกว่า 255,600 ไร่ ในปี 2559) โดยปริมาณสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี (หรือเพิ่มขึ้นจาก 71,800 ตัน ในปี 2556 เป็นไม่น้อยกว่า 86,160 ตัน ในปี 2559) และมูลค่าของสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี (หรือเพิ่มขึ้นจาก 1,900 ล้านบาท ในปี 2556 เป็นไม่น้อยกว่า 2,280 ล้านบาท ในปี 2559) นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการยกระดับ การพัฒนา ให้มีระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานในระดับภูมิภาคหรือระดับสากล อย่างน้อย 1 มาตรฐาน ให้มีกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านหรือกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานรวม 760 กลุ่ม (จากเดิมที่เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิตแต่ยังไม่มีการเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐาน)

   สำหรับยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย พัฒนาการสร้าง และเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์  ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์ คือ  กลยุทธ์ที่ 1 ส่งเสริมสนับสนุน การวิจัย และ พัฒนากระบวนการผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์ กลยุทธ์ที่ 2 สร้างฐานข้อมูลการวิจัยการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ 

   ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์  ประกอบด้วย 3  กลยุทธ์ คือ กลยุทธ์ที่ 1 ถ่ายทอดความรู้ภาคการผลิตเกษตรอินทรีย์ไปสู่เกษตรกร  บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาศักยภาพการผลิตเกษตรอินทรีย์  กลยุทธ์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการผลิตเกษตรอินทรีย์

    ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนา และส่งเสริม การตลาด สินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์  ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ คือ กลยุทธ์ที่ 1 ผลักดันมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์  กลยุทธ์ที่ 2 สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์  กลยุทธ์ที่ 3 ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกษตรอินทรีย์ 

   ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการ และการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ คือ กลยุทธ์ที่ 1 จัดตั้งสถาบันพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ  กลยุทธ์ที่ 2 จัดตั้งกองทุนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ กลยุทธ์ที่ 3 แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานขับเคลื่อน เกษตรอินทรีย์กระบวนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติและสร้างกลไกพัฒนาเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการ

   ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดย สศก. ได้ทำหนังสือนำเสนอต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายรองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ หลังจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ จะได้จัดประชุมพิจารณา (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ โดยเร็วต่อไป ซึ่งในส่วนของแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ปี 2559 อยู่ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดส่งแผนและงบประมาณให้ สศก. ซึ่งเมื่อยุทธศาสตร์ผ่านความเห็นชอบแล้ว จะสามารถเข้าสู่กระบวนการขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2560-2564 เพื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานต่อไป

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!