- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 31 August 2015 22:31
- Hits: 1953
ก.เกษตรฯ ลุยตลาดเกษตรกรราชบุรี เจาะเกษตรกร-ผู้บริโภค วัดผลประเมินได้รับมาตรฐานกว่า 52%
ก.เกษตรฯ เจาะพื้นที่ตลาด ประเมินผลตลาดเกษตรกรเมืองราชบุรี ระบุ ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าในตลาดเกษตรกรเพราะต้องการสินค้ามีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ด้านราคาขาย ไม่แตกต่างจากตลาดทั่วไปและเป็นสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานกว่าร้อยละ 52
นายธวัชชัย ประยูรสิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ประเมินผลตลาดเกษตรกร (Famers Market) จังหวัดราชบุรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองราชบุรี พบว่า สินค้า (Product) ที่นำมาจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทแปรรูป คิดเป็นร้อยละ 43 ซึ่งหลักๆ ได้แก่ กล้วยฉาบ เผือกฉาบ ข้าวตังหน้าธัญพืช หมูหยอง กุนเชียงหมู น้ำพริกต่างๆ ฯ รองลงมาเป็นสินค้าประเภทพืชผัก/ผลไม้ คิดเป็นร้อยละ 32 ได้แก่ ผักสวนครัวต่างๆ และผลไม้ตามฤดูกาล รวมถึงเป็นสินค้าประเภทข้าว ประเภทปศุสัตว์ และประเภทอื่นๆ (สลัดผัก กระหรี่ปั้บ อาหารเสริมสุขภาพจากสมุนไพร ปุ๋ย) คิดเป็น ร้อยละ 8 ทั้งนี้ เป็นสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 52 โดย บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ของสินค้าที่จำหน่ายจะมีการแสดงรายละเอียดดังนี้ ตราสินค้า/ตรารับรอง ชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต น้ำหนักของสินค้า วันที่ผลิตหรือวันหมดอายุ ส่วนประกอบของสินค้า และแสดง story เรื่องราวของสินค้า
ด้านราคาสินค้า (Price) ที่เกษตรกรจำหน่ายสินค้าในตลาดเกษตรกรเปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่จำหน่ายในตลาดทั่วไป พบว่าสินค้าส่วนใหญ่จำหน่ายได้ในราคาที่เท่ากับราคาตลาดทั่วไป ส่วนสถานที่ (Place) ในการจัดตลาดเกษตรกร ผู้ขายส่วนใหญ่เห็นว่ามีความเหมาะสมและอยู่ใกล้แหล่งชุมชน คิดเป็นร้อยละ 90
ประเด็นความพึงพอใจของเกษตรกรผู้ขายต่อการจัดตลาดเกษตรกร พบว่า มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุดในประเด็นต่างๆ ได้แก่ ด้านสถานที่ตั้งตลาด ขนาดพื้นที่ตลาด และราคาสินค้าที่จำหน่ายได้
สำหรับ ผู้ซื้อ/ผู้บริโภค (Consumer) ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มีอาชีพรับราชการ/รัฐวิสาหกิจ และร้อยละ 10.00 มีอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป วัตถุประสงค์ในการมาซื้อสินค้าในตลาดเกษตรกรเพราะต้องการสินค้าที่สะอาด ปลอดภัย มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และจากการสอบถามความพึงพอใจของผู้ซื้อต่อการจัดตลาดเกษตรกร ผู้ซื้อมีความพึงพอใจระดับมากที่สุดในประเด็นต่างๆ ได้แก่ ที่ตั้งตลาด (มีที่จอดรถ มีรถผ่านใกล้ชุมชน) ความสะอาด ถูกสุขลักษณะ เป็นระเบียบ การแบ่งโซนสินค้า และด้านขนาดของพื้นที่ ไม่คับแคบ เดินเลือกซื้อสะดวก
ทั้งนี้ เกณฑ์ในการประเมินตลาดเกษตรกร ประกอบด้วย 1. สินค้าปลอดภัย ได้มาตรฐานมากกว่า ร้อยละ 50 ของสินค้า 2. มีการบรรจุภัณฑ์มากกว่า ร้อยละ 50 ของสินค้า 3. สถานที่ สะอาดถูกสุขลักษณะ และสะดวก 4. ผู้ขาย จำนวนมากกว่า 20 ร้าน ซึ่งตลาดเกษตรกรของจังหวัดราชบุรีนั้น เป็นหนึ่งใน 25 จังหวัด ที่ผ่านเกณฑ์กำหนดดังกล่าว และพร้อมที่จะพัฒนาทั้งสถานที่ สินค้า บรรจุภัณฑ์ และร้านค้า เพื่อให้ได้มาตรฐานต่อไป
ที่มา ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย