WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

FishLogoกรมประมงสร้างความร่วมมือต่างประเทศแก้ปัญหา IUU

    ไทยโพสต์ : กรมประมงผนึกต่างชาติร่วมมือแก้ไขปัญหา IUU นำร่อง 5 ประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำสูง พร้อมขยายผลคลุม 10-15 ประเทศไทยในปี 59 สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูล-ออกใบรับรองจับสัตว์น้ำรวดเร็ว เพิ่มความคล่องตัวทางการค้าสู่ตลาดโลก

    นางสาววราภรณ์ พรหมพจน์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เนื่องจากแต่ละปีไทยได้มีการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จาก 70 ประเทศทั่วโลกปริมาณมากถึง 700,000-900,000 ตัน โดยมีสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ทูน่า ปลาซาดีน และปลาหมึก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปี 2558 นี้ กรมประมงได้มีแผนเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฏหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) นำร่องกับ 5 ประเทศที่ไทยมีการนำเข้าสัตว์น้ำสูง ได้แก่ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จัน และเกาหลีใต้ เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือในการป้องกันการทำประมง IUU พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การทำประมงกับประเทศต้นทาง รวมถึงข้อมูลด้านการเพาะเลี้ยงน้ำ การตรวจสอบสุขอนามัยสัตว์น้ำข้อมูลการส่งออกและนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ แหล่งที่มาของสัตว์น้ำ เรือที่จับสัตว์น้ำอย่างถูกต้อง การขนถ่ายสัตว์น้ำและการเร่งรัดออกใบรับรองการจับสัตว์ให้รวดเร็วขึ้นซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความคล่องตัวทางการสินค้าสัตว์น้ำสู่ตลาดโลกด้วย

   ในปี 2559 กรมการประมงได้มีเป้าหมายขยายเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศในการป้องกันการทำประมง IUU เพิ่มเติมอีก 10-15 ประเทศ อาทิ สเปน ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น นอกจากจะพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Tracebility) สินค้าสัตว์น้ำนำเข้าให้มีความเข้มแข็งและช่วยป้องกันปัญหาการประมง IUU แล้ว ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า และเสริมความแข็งแกร่งให้กับสินค้าประมงไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกอนาคต

   "ความร่วมมือระหว่างประทศในการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ที่กรมประมงดำเนินการมี 2 มิติ คือ 1.ความร่วมมือสำหรับเรือประมงไทยที่ไปทำประมงนอกน่านน้ำ ซึ่งรัฐบาลไทยจำเป็นต้องขอความร่วมมือประเทศชายฝั่งที่เรือประมงไทยทำประมง อาทิ ปาปัวนิวกินี อินโดนิเซีย และพม่า เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเรื่องทำประมงนอกน่านน้ำและ 2.ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ที่ไทยมีการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ ซึ่งขณะนี้กรมประมงได้ปรับปรุงร่างเมโอยู (MOU) ความร่วมมือการทำประมงเสร็จเรียบร้อยแล้ว 3 ประเทศ คือ ปาปัวนิวกินี อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยมีบริบทเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือในการป้องกันการประมง IUU" นางสาววราภรณ์กล่าว

    รองอธิบดีกรมการประมงกล่าวอีกว่า เบื้องต้นคาดว่าไทยและฟิลิปปินส์จะมีการลงนามความร่วมมือการทำประมงภายในเดือนกันยายน 2558 นี้ ขณะเดียวกันกรมประมงยังจะส่งคณะผู้แทนไปร่วมหารือกับจีน ไต้หวัน และ เกาหลีใต้ เพื่อผลักดันการสร้างความร่วมมือในการป้องกันปัญหาการทำประมง IUU ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

  "ระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันการทำประมง IUU ทั้งนอกและในน่านน้ำ ซึ่งทำให้ไทยสามารถที่จะตรวจเช็คย้อนกลับไปยังประเทศต้นทางได้ ตั้งแต่แหล่งที่มาของสัตว์น้ำการขนถ่านสินค้าสัตว์น้ำกบางทะเล น้ำหนักสัตว์น้ำที่ด่านน้ำเข้า การขนส่งสินค้าไปยังโรงแรมแปรรูปจนถึงส่งออก ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่มีปัญหาการฟอกปลาหรือมีสัตว์น้ำจากการทำประมง IUU สวนรอยเข้ามาในระบบ" รองอธิบดีกรมประมงกล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!