- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 24 June 2014 17:46
- Hits: 3723
อุตสาหกรรมปลาป่นไทยเป็นเหยื่อ EU บิดเบือนความจริง CPF แจงทำตามมาตรฐานสากล
บ้านเมือง : เวลานี้เห็นใจ ทั้งแรงงานต่างด้าวและผู้ประกอบการ ที่อาจต้องวุ่นวายกับมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวของ คสช. ที่มีความตั้งใจดีเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎเกณฑ์การใช้ระบบแรงงานของไทยให้ได้มาตรฐานสากล ในอนาคตระยะยาวจะส่งผลดีกับระบบเศรษฐกิจ นำไปสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืน
แต่ด้วยวัตถุประสงค์ที่ดีรวมถึง วิธีจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวของ คสช. กลับถูก เดอะการ์เดียน (The Guardian) สื่อเมืองผู้ดี นำไปโยงใยและใช้เป็นเครื่องมือโจมตีผู้ประกอบการไทย สร้างความเสียหายและสร้างความวิตกกังวลให้นักลงทุนซึ่งไม่สมควรกระทำอย่างยิ่ง เดอะการ์เดียน กล่าวหา CPF ใช้แรงงานทาสในห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ CPF รวมถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปลาป่นของไทยต้องตกเป็นเหยื่อทางการค้า
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และอาหารครบวงจรรายใหญ่ของประเทศ ยืนยันว่า ที่ผ่านมา CPF ให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย รณรงค์และต่อต้าน พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเร่งผลักดันแผนการปรับปรุงการทำประมงแถบอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยมุ่งที่จะแก้ปัญหาแรงงานมาโดยตลอด
นอกจากนี้ CPF เข้าร่วมเป็นสมาชิก The International Fishmeal and Fish Oil Organization (IFFO) สนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลายตระหนักต่อการจัดหาแหล่งผลิตวัตถุดิบปลาป่นที่ถูกต้อง รวมถึงการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม โดย CPF สร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการโรงงานปลาป่น ด้วยการเพิ่มราคารับซื้อให้แก่โรงงานปลาป่นที่ใช้วัตถุดิบปลาจากแหล่งที่มาที่ถูกต้อง
ที่สำคัญ CPF ได้ร่วมกับสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย ต่อต้านและหยุดการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานเด็ก แรงงานทาส และการค้ามนุษย์ฯ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมดูแลสภาพการทำงานให้เกิดความเป็นธรรม ป้องกันไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานทั้งของประเทศไทย และกฎหมายระหว่างประเทศ
ข้อมูลจากสมาคมปลาป่น ระบุว่า ประเทศไทยมีการผลิตปลาป่นประมาณ 500,000 ตัน/ปี ในจำนวนนี้ 60% เป็นผลผลิตที่ได้จากผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมปลากระป๋อง และซุริมิ (เนื้อปลาแปรรูป) ส่วนที่เหลืออีก 40% ได้มาจากการทำประมงในทะเล โดยในปี 2555 CPF ซื้อปลาป่นจำนวน 168,000 ตัน โดยการซื้อปลาป่นเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้มีการหลีกเลี่ยงการรับซื้อมาจากเรือที่ผิดกฎหมาย
หาก EU ใช้ปัญหาแรงงานทาส กล่าวโจมตี CPF เพื่อหวังกีดกันทางการค้า อาจเป็นแรงกดดันให้ CPF อาจต้องเปลี่ยนฐานการซื้อสินค้าเป็นประเทศเพื่อนบ้าน พม่า และเวียดนาม ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมปลาป่นของไทยได้รับความเสียหายอย่างหนัก
และเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย EU ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศยุโรปที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ต้องตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ สินค้าประเภทอื่นๆ ของประเทศคู่ค้ามีการใช้แรงงานถูกต้องกฎหมายหรือไม่ เพราะในอดีตที่ผ่านมา EU จะใช้มาตรการภาษีกีดกันการค้ากับประเทศคู่ค้า แต่ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจของผู้ประกอบการไทย ได้สร้างมาตรฐานให้สินค้าไทยจนเป็นที่ยอมรับ
ในทางกลับกันประเทศไทยมีการนำเข้าเนื้อสัตว์จากต่างประเทศ แต่ไทยให้เกียรติและเคารพเรื่องมาตรฐานการตรวจสอบของต่างประเทศ จึงไม่ต้องตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ว่าเนื้อสัตว์ที่นำเข้ามีการใช้แรงงานทาสหรือไม่
แต่ EU ได้ใช้ปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมประมง กล่าวหาไทยเรื่องการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นการประเมินเพียงฝ่ายเดียวโดยยึดมาตรฐานตัวเองเป็นหลัก หากจะพิจารณาอย่างเป็นธรรมจะเห็นว่าที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาลไทย ดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์มาโดยตลอด และ คสช.ได้มีนโยบายในการปราบปรามการค้ามนุษย์และเร่งจัดทำแผนปราบปรามในระดับชาติ เพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งผิดกับบางประเทศ ที่ไม่สนใจจะดำเนินการหากจะดำเนินการตามกฎหมายต้องเอาผิดกับผู้ขาย ไม่ใช่ผู้ซื้อ
ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรม EU ต้องมีมาตรฐานในการตรวจสอบ มิเช่นนั้นจะเป็นการสาดโคลนโจมตี และสร้างสถานการณ์ให้ผู้ประกอบการไทยตกเป็นแพะรับบาป ซึ่งไม่ยุติธรรมกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายและได้มาตรฐานสากล อีกทั้งสร้างความเสื่อมเสียและส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของไทยในภาพรวม